Skip to main content
sharethis

จากกรณีนักข่าวโดนจับ ชวนย้อนดู 6 กรณีคุกคามสื่อมวลชนบางส่วนที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 โดยมีทั้งถูกยิงด้วยกระสุนยางจากตำรวจควบคุมฝูงชน , ถูกทำร้ายร่างกายจากกลุ่มที่ระบุตัวเองว่าเป็น “กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์” และถูกจับกุม-ตั้งข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าว

2563 นักข่าวประชาไทถูกจับขณะไลฟ์สดเหตุสลายชุมนุมแยกปทุมวัน

  • เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 “กิตติ พันธภาค” ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกควบคุมตัวขณะไลฟ์สดรายงานสถานการณ์สลายชุมนุมแยกปทุมวันฯ  โดยถูกเคเบิลไทร์รัดข้อมือไพล่หลังกว่า 2 ชั่วโมง และถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ก่อนได้รับการปล่อยตัว

2564 นักข่าวประชาไทถูก คฝ.ยิงกระสุนยาง เข้าที่หลัง ขณะไลฟ์สดเหตุสลายชุมนุม

  • เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 “ศรายุธ ตั้งประเสริฐ” ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยางจากตำรวจควบคุมฝูงชนยิงเข้าบริเวณหลังบาดเจ็บ ขณะทำการถ่ายทอดสดสถานการณ์ ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมที่บริเวณปากซอยข้าวสาร ใกล้สี่แยกคอกวัว
  • ทั้งนี้นอกจากการแสดงตัวผ่านการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแล้ว เจ้าตัวยังห้อยบัตรผู้สื่อข่าวรวมทั้ง มีปลอกแขนผู้สื่อข่าวติดชัดเจน
  • จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2566 “พ.ต.อ.ภัสพงษ์ บุตรไทย” รองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ส่งจดหมายตอบกลับผลร้องเรียนกรณีดังกล่าว มีใจความสำคัญระบุว่า ตัวนักข่าวไปอยู่ในพื้นที่ทั้งๆ ที่รู้การปฏิบัติของตำรวจ

2564 2 สื่อพลเมืองถูกจับขณะไลฟ์สดม็อบที่ดินแดง 

  • เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 “ณัฐพงศ์ มาลี” หรือ “โอปอ” นักข่าวพลเมืองจากเพจที่ใช้ชื่อว่า “สำนักข่าวราษฎร - Ratsadon “และ “พนิดา เอนกนวน” นักข่าวพลเมืองอีก 1 คน จากเพจที่ใช้ชื่อว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” รวม 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ขณะไลฟ์สดสถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดง มีการตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายหลังศาลปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
  • ในวันเดียวกัน ก่อนที่จะมีการจับกุมสื่ออิสระนั้น “พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย” รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ทางรายการตอบโจทย์ ทาง Thai PBS โดยอ้างว่าได้รับการร้องเรียนจากสื่อมวลชนว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือมีผู้แอบแฝงมาเป็นสื่อมวลชนปลอม โดยเฉพาะอ้างตัวว่าเป็นยูทูบเบอร์ สื่อมวลชนที่มีต้นสังกัดชัดเจนและไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ใช่กลุ่มผู้ที่มาสร้างความแตกแยก หรือไม่ใช่กลุ่มผู้ที่แฝงตัวมาเมื่อทำการตรวจก็จะได้รับการเชิญออกไป ส่วนผู้ที่แฝงตัวเข้ามาหรือสื่อมวลชนปลอมจำนวน 2-3 คน มาดำเนินคดีตามกฎหมาย

2565 ยา–ณัฐพล ถูกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ทำร้ายหน้าร้านแมคฯ

  • “ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์” สื่ออิสระ ถูกชายไทยในชุดรัดกุม ใส่เสื้อกั๊กจำนวน 4 คน รุมตีด้วยกระบองดิ้ว บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลางดึกวันที่ 22 เม.ย. 2565 หลังจากทำข่าวกิจกรรม ‘ทัวร์มูล่าผัว’ 
  • ซึ่งก่อนหน้านั้น ชายทั้ง 4 ได้เดินเข้ามาขอดูภาพในโทรศัพท์ของณัฐพล แต่ณัฐพลไม่ยินยอม ชายทั้ง 4 จึงรุมเข้าทำร้ายณัฐพล
  • ในเวลาต่อมา “เบญภกรณ์ วิคะบำเพิง” หรือ “เบน” อดีตสมาชิกอาชีวะปกป้องสถาบัน ออกมายอมรับว่าทำร้าย ยา–ณัฐพล จริง โดยอ้างว่าเพราะณัฐพลไม่ยอมแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน พร้อมพูดจาหาเรื่อง และเรียกพวกจะมาทำร้ายก่อน

2567 กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ทำร้าย 2 สื่ออิสระขณะไลฟ์สดที่ BTS สยาม

  • กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ทำร้าย 2 สื่ออิสระ ได้แก่ “ภราดร เกตุเผือก” หรือที่คนรู้จักกันในชื่อ “ลุงดร” และ “เชน ชีวอบัญชา” หรือที่คนรู้จักในชื่อ “ขุนแผน” ที่บีทีเอสสยาม ขณะไลฟ์สดสถานการณ์ที่นักกิจกรรมทางการเมืองชี้แจงกรณีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ
  • ลุงดร ถูกสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบัน 2 คน เข้ามาทำร้าย คนแรกตบสมาร์ทโฟนที่เขาใช้ถ่ายทอดสดออนไลน์จนร่วงลงไปที่พื้น และใช้มือตบเข้าไปที่ใบหน้า โดยเขาจำไม่ได้ว่าคนที่ตบหน้าเขาเป็นใคร แต่หลังจากนั้น “วสัน ทองมณโฑ” เข้ามาชนจนเขาร่วงลงไปที่พื้น และเอาเข่ากดตัวเขาไว้กับรั้วตรงบ็อกซ์จุดขายตั๋วโดยสาร จนเขาต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตำรวจนำตัวเขาออกจากพื้นที่
  • ส่วน “เชน” สื่ออิสระ วัย 56 ปี เล่าถึงจังหวะเกิดเหตุว่า ขณะนั้นเขายืนแยกออกมาอยู่ด้านหลังจุดสแกนตั๋วโดยสารบีทีเอสสยาม แล้วจู่ๆ “อานนท์ กลิ่นแก้ว” ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขว้างขวดน้ำใส่ และปีนข้ามจุดสแกนตั๋วเข้ามา อานนท์เข้ามาจับคอเสื้อ และเงื้อมกำปั้นจะต่อย แต่ยังไม่ทันได้ต่อย มีเจ้าหน้าที่มาห้าม หลังจากนั้น เชนถูกประชาชนอีกคนเข้ามาต่อยจนล้ม และโดนเตะตามลำตัวร่างกาย 
  • ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานด้วยว่า ถูกสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ (ไม่ทราบชื่อ-นามสกุล) ข่มขู่ไม่ให้บันทึกวิดีโอด้วย

2567 นักข่าวประชาไท-ช่างภาพสเปซบาร์ถูกจับเพราะไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง

  • กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา “เป้–ณัฐพล เมฆโสภณ” ผู้สื่อข่าวจากประชาไท และ “ยา–ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์” ช่างภาพสื่อออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่าสเปซบาร์ ถูกจับกุมจากการไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ด้วยข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ
  • โดยคืนวันที่ 12 ก.พ. เป้–ณัฐพล ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกขังรอส่งศาลที่ สน.ฉลองกรุง ย่านมีนบุรี ส่วน ยา–ณัฐพล ช่างภาพอิสระ ถูกนำตัวไปขังระหว่างรอส่งศาลที่ สน.ทุ่งสองห้อง  
  • วันรุ่งขึ้น (13 ก.พ.) ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ เป้-ณัฐพล และ ยา-ณัฐพล ประกันตัวได้ โดยต้องวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 35,000 บาท โดยไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวไว้
  • หลังจากที่ได้รับการประกันตัว เป้-ณัฐพล ระบุว่า ก่อนลงจากรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ทางตำรวจมีการขอใส่เคเบิลไทร์รัดข้อมือระหว่างนำตัวผู้ต้องหา (เป้ - ณัฐพล) เข้าไปในอาคาร สน.พระราชวัง
  • ในกรณีของ ยา–ณัฐพล ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2566 ณัฐพล ยังเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งนำกำลังมาเฝ้าสังเกตการณ์ถึงที่คอนโด และแสดงพฤติกรรมคุกคาม โดยคาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจากฝ่ายสืบสวนตำรวจนครบาล 5 (สส.บก.น.5) มาเฝ้าติดตามระหว่าง 1-13 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการขอข้อมูลจากนิติคอนโดฯ ที่เขาอาศัยอยู่ อาทิ ข้อมูลห้องพัก ข้อมูลยานพาหนะและพัสดุเข้า-ออก ตลอดจนข้อมูลกล้องวงจรปิดเวลาที่ช่างภาพข่าวเข้า-ออกอาคาร

นอกจากนี้ คนทำสื่อในพื้นที่ปาตานีหรือชายแดนใต้นอกจากคดีความที่ถูกฟ้องร้องไปหลายคนโดยถูกมัดรวมไปกับการเคลื่อนไหวเช่น การฟ้องผู้สื่อข่าวภาคสนามและบรรณาธิการข่าวภาคสนาม สำนักสื่อวาร์ตานี (Wartani) ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติอันไม่ชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่” จากการรายงานสถานการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมสมาชิก BRN เมื่อมี.ค. 2566 แล้ว รุสลาน มูซอ บรรรณาธิการบริหารสำนักสื่อ Wartani ยังเคยให้ข้อมูลกับประชาไทด้วยว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ขู่ว่าจะดำเนินคดีแล้วรวมถึงดำเนินคดีแล้ว ยังรวมไปถึงมีการติดตามการเดินทาง มีเจ้าหน้าที่ไปหาสมาชิกในครอบครัว หรือกระทั่งเรียกพบเพื่อให้รายงานข่าวเบาลง นอกจากการคุกคามผู้สื่อข่าวและครอบครัวแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตามไปที่บ้านแหล่งข่าว เพื่อกดดันให้ Wartani ลบข่าว หรือห้ามให้สัมภาษณ์แก่ Wartani อีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net