Skip to main content
sharethis

iLaw ย้ำทำไมการสมัครรับเลือกตั้ง ‘สว.’ ที่จะเริ่มในกลางปีนี้ ถึงสำคัญกับการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมอธิบายหลักการโดยคร่าวของ ระบบเลือกตั้ง ‘กลุ่มอาชีพ เลือกกันเอง’ ระบบเลือกตั้งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน 

 

19 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (18 ก.พ.) ที่สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เวลาประมาณ 17.37 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และสมาชิกโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ 'ไอลอว์' มาร่วมพูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ 'พีมูฟ' ถึงกระบวนการสมัครรับเลือกตั้ง และการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. หนึ่งในหมุดหมายที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมาร่วมอธิบายระบบเลือกตั้ง ซึ่งคราวนี้มีการใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า "กลุ่มอาชีพ เลือกกันเอง"

(ซ้าย) ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

5 คูหา: 2 เลือกตั้ง 3 ประชามติ มุ่งหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน

'เดียร์' กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องผ่าน 5 คูหา โดยแบ่งเป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง และมีการเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง แบ่งได้ดังนี้

คูหาที่ 1: ประชามติครั้งที่ 0 ซึ่งมีคำถามประชามติ เพื่อถามว่า พวกเราอยากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันไหม ก่อนหน้านี้กลุ่ม ConForAll เคยเสนอคำถามประชามติ 2 คำถามหลัก คือ แก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา และแก้ไขโดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. อย่างไรก็ตาม การทำประชามติครั้งนี้ยังไม่มีการเริ่มทำ 

คูหาที่ 2: เลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ซึ่งจะเริ่มขึ้นช่วงกลางปี 2567 เนื่องจาก สว.ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวน 250 คน จะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค. 2567 นี้ และจะมีการเปิดรับสมัคร สว.ชุดใหม่ ช่วงระหว่างวันที่ 27 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2567 โดยระบบการเลือกตั้งจะใช้เป็นระบบใหม่ ที่เรียกว่า “ระบบกลุ่มอาชีพ เลือกกันเอง” จากนั้น เราก็จะได้ สว. ชุดใหม่จำนวน 200 คน

ทำไมต้องเลือกตั้ง สว.

ยิ่งชีพ ระบุว่า ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง สว. เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ 2560 สว.มีอำนาจอย่างมาก ในการออกกฎหมาย และเราต้องการเสียงโหวต 1 ใน 3 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญชุดใหม่ เพราะว่าตอนนี้ สว.ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีไม่ถึง 1 ใน 3 หรือมี สว. เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. แค่ 3 คน ถ้าเราปล่อยไป แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

คูหาที่ 3: คือการทำประชามติ แก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ให้เราแก้ไขได้ โดยเราต้องไปแก้ไขวิธีการ เพื่อเปิดช่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้จริงๆ และต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 

คูหาที่ 4: คือการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง และมาเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เราอ่าน ปัจจุบัน เรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงระหว่าง ฝั่งที่เอา สสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% กับอีกฝั่งขอให้ สสร.มีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งผสมกัน 

ยิ่งชีพ ระบุว่า แนวโน้มจะมี สสร. แต่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ เขาไม่อยากให้เราเลือกตั้ง สสร. 100% เพราะถ้าให้เราเลือกตั้ง 100% เขาจะแพ้ คนของเราจะเยอะ และคนของเขาจะน้อย เขาคุมเกมไม่ได้ เขาน่าจะมีการออกแบบ สสร.ที่ทำให้เขาเอาคนของตัวเองเข้ามาได้มากกว่าเรา ดังนั้น พอเขาคิดไม่ออก มันเลยไม่คืบหน้าเรื่อง สสร.

คูหาที่ 5: สภาร่างรัฐธรรมนูญ เขาจะร่างรัฐธรรมนูญให้เราอ่าน ก็จะมีการทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเราต้องคิดต่อว่าจะให้เขาร่างเอง หรือเราจะมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว

เลือกตั้ง สว.มาแน่

ยิ่งชีพ ระบุว่า การเลือกตั้งตั้งแต่คูหาที่ 1 ถึง 5 นี้ คูหาที่ 1 ยังไม่ได้เริ่มทำ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือการเลือกตั้งเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้แล้ว และจะเกิดขึ้นกลางปีนี้ (2567)

สว. ชุดใหม่จะมีจำนวน 200 คน โดยแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ อาชีพละ 10 คน โดยระบบการเลือกตั้งมาจากระบบแบบใหม่ที่ไม่เคยมีที่ไหนบนโลกเคยใช้ คิดค้นโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ หนึ่งในทีมร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 

รู้จักระบบเลือกตั้ง สว. ที่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน คือ "กลุ่มอาชีพ เลือกกันเอง" ขั้นตอนสุดมึนงง

ยิ่งชีพ ระบุว่า แต่เรื่องราวไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะว่าคนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สว. ชุดใหม่ก่อน ยกตัวอย่าง เขาทำอาชีพกฎหมายอยู่ แต่เขาจะเข้าไปใช้สิทธิโหวตนักกฎหมายด้วยกันเองได้ ต้องเริ่มจากไปสมัครเข้าไปว่าอยากเป็น สว. และเราก็ไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าเราทำอาชีพอะไร และเขาจะนำเราไปรวมกลุ่มกับอาชีพอื่นๆ เช่น คุณประกอบอาชีพชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง นักกฎหมาย และอื่นๆ สมมติว่าเราประกอบอาชีพประมง เขาก็จะเอาคุณไปอยู่กับผู้รับสมัครเลือกตั้ง สว. อาชีพประมง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว. อาชีพประมง จะเลือก สว. ในกลุ่มอาชีพของเขากันเองภายในหมู่ผู้สมัคร

ทั้งนี้ การเลือก สว. จะมีการเลือกทั้งหมด 3 ระดับ เริ่มจากระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับ ประเทศ และจะไม่ได้เลือกแค่อาชีพของตัวเอง 

ระดับอำเภอ

ยิ่งชีพ ยกตัวอย่าง ระดับอำเภอ เขาสมัครรับเลือกตั้ง สว. กลุ่มอาชีพนักกฎหมาย ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว. กลุ่มนักกฎหมายทั้งหมดจะได้เลือกผู้สมัคร สว. อาชีพนักกฎหมาย ด้วยกันเองภายในก่อน โดยคนหนึ่งโหวตได้ไม่เกิน 2 โหวต เพื่อหาผู้สมัคร สว.กลุ่มอาชีพนั้นที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก 

จากนั้น ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกของกลุ่มอาชีพนั้นจะต้องจับฉลากด้วยว่าจะได้ใช้สิทธิโหวตผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว.กลุ่มอาชีพอื่นๆ กลุ่มไหน อาทิ ยิ่งชีพ สมัครรับเลือกตั้ง สว. กลุ่มนักกฎหมาย และได้รับโหวตคะแนนสูงสุดในระดับอำเภอ 5 อันดับแรก ยิ่งชีพต้องมาจับฉลากกลุ่มอาชีพอื่นๆ ซึ่งเขาจับได้กลุ่มแพทย์ ประมง และชาวนา ยิ่งชีพ ก็ต้องเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว. กลุ่มอาชีพ ชาวนา ประมง และแพทย์ โดยโหวตได้กลุ่มละ 1 โหวต

จากนั้น ผู้รับสมัครเลือกตั้ง สว. แต่ละกลุ่มอาชีพตัวเองที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกในระดับอำเภอ และให้คนกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก จะได้เข้าไปเลือกตั้ง สว. ในระดับจังหวัด โดยใช้ระบบเดียวกันลักษณะนี้

ระดับจังหวัด

ผู้ที่ได้ผ่านเข้ารอบจากระดับอำเภอ จะได้เข้ามาโหวตในระดับจังหวัด ผู้สมัคร สว. กลุ่มนักกฎหมายในระดับจังหวัด จะเลือกกันเองได้คนละ 2 โหวต และหาผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก จากนั้น ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก จะเข้าไปจับฉลากเพื่อหาว่าเราจะใช้สิทธิโหวตเลือกอาชีพอื่นๆ อาชีพใด เช่น การศึกษา การท่องเที่ยวการโรงแรม และอื่นๆ จากนั้น ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการเลือกภายในกลุ่มอาชีพของตัวเอง จะได้ใช้สิทธิโหวตกลุ่มอาชีพอื่นๆ กลุ่มละ 1 โหวตตามที่จับฉลากได้ เพื่อหาคนที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก จากการโหวตข้ามอาชีพ

ในระดับประเทศ 

ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในระดับจังหวัด 2 อันดับแรกจากการโหวตข้ามอาชีพ จะได้เข้ามาโหวตในระดับประเทศ จากนั้น ผู้สมัครฯ สว. กลุ่มอาชีพจะใช้สิทธิโหวตไม่เกิน 10 โหวต เลือกภายในกลุ่มอาชีพของตัวเอง และเลือกผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ จากนั้น 40 อันดับแรกนี้จะต้องมาจับฉลากเพื่อหาว่าพวกเขาจะได้โหวตเลือกผู้สมัครฯ สว. กลุ่มอาชีพอื่นๆ อาชีพใดที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพของตัวเอง กลุ่มละ 5 โหวต และหา 10 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด ในสายนั้นๆ เพื่อเข้าไปเป็น สว.ชุดใหม่ ทั้งนี้ อันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพ จะได้เข้าไปเป็นรายชื่อสำรอง 

ไม่ง่าย ต้องช่วยกันสมัครเข้าไปเป็น สว.

"แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น"

ยิ่งชีพ กล่าวว่า อุปสรรคของการสมัครเลือกตั้ง สว. มีหลายประการ เขาระบุว่า ถ้าเราอยู่ดีๆ เดินเข้าไปสมัครโดยไม่มีใครรู้จัก คนในกลุ่มวิชาชีพของเราก็จะไม่มีใครโหวตให้ เพราะว่าเขาไม่รู้จักเรา กลับกัน ถ้าผู้สมัคร สว.เป็นผู้มีอิทธิพลในวงการอาชีพนั้นๆ เช่น เป็นประธานสมาคม หรือมีเพื่อนฝูงจำนวนมาก สามารถระดมสมัครพรรคพวกไปเลือกเขาได้ 

ถ้าคุณเป็นชาวนา และไปสมัคร สว.กลุ่มชาวนา เราจะเจอชาวนาที่มีเส้นสาย หรือเพื่อนฝูงเยอะ เราก็จะแพ้ นี่คือระบบมีชัย ออกแบบเพื่อให้เขาได้ สว.คนของเขาอีก 200 คนเข้าไปข้างในสภา

ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสมัครรับเลือกตั้ง สว. เราไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่า เราสมัครเพื่อไปเป็น สว. แต่เราสามารถเข้าไปสมัครเพื่อใช้สิทธิโหวตคนที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย หรือไม่อยู่กลุ่มก้อนอำนาจการเมืองใด เพราะถ้าเราไม่สนใจอะไรเลย พวกเจ้าพ่อแต่ละเมืองแต่ละจังหวัด พวกคนใหญ่คนโตที่รับงานรับเงินแต่ละจังหวัด เขาก็จะจัดตั้งคนของตัวเองเข้าไปสมัครเยอะๆ เพื่อให้โหวตพวกเขาเป็น สว. และเราก็จะได้คนหน้าเดิมๆ ที่เข้าไปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขวางการเปลี่ยนแปลง 

"สิ่งที่ผมอยากให้เราเข้าใจก็คือว่าจริงๆ แล้ว กระบวนการนี้เรามีส่วนร่วมได้ ถ้าเรานอนอยู่บ้าน เราไม่สนใจอะไร เดี๋ยวเขาไปสมัครเขาเลือกเสร็จเรียบร้อย แต่ถ้าเราสนใจจริงๆ เรามีส่วนร่วมได้ ก็คือเราต้องเดินไปสมัคร ถ้าเรานอนอยู่บ้าน และเราจะไปเข้าคูหา แบบเลือกตั้ง สส. ไม่มีนะ แต่เราต้องไปสมัครก่อน เราต้องเดินไปสมัครก่อนว่าเราอยากเข้าร่วมกระบวนการ สว. ชุดใหม่" ยิ่งชีพ กล่าว

นอกจากนึ้ ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ สำหรับการเข้าไปเลือกตั้งเป็น สว. เช่น ค่าใช้จ่ายในการสมัคร จำนวน 2,500 บาท ค่าเดินทาง ครอบครัวส่งสมาชิกสมัครเลือกตั้ง สว.ได้เพียงคนเดียว ต้องไม่มีหุ้นสื่อ ไม่เป็นข้าราชการหรือทำงานในหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องอายุอย่างต่ำ 40 ปี และอื่นๆ ขณะเดียวกัน คุณสมบัติก็เปิดโอกาสให้ประชาชน และสมาชิกจากพีมูฟ สามารถสมัครเข้าไป เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศได้ 

"ประชาชนใครก็ได้ที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย เป็นใครก็ได้ ไม่ต้องแบบประชาธิปไตยสุดๆ ถ้าเดินไปสมัคร 1 หมื่นคน ผมเชื่อว่าเราจะได้ สว. ที่โอเค ถึงประมาณ 1 ใน 3 ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ถ้ามีคนหัวใจโอเคเดินไปสมัคร 2 หมื่นคน เราได้ สว.เกินครึ่งแน่นอน …และอะไรก็ตามที่นำเสนอสู่สภา ผมเชื่อว่าทำได้" สมาชิกไอลอว์ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net