Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เปิดแคมเปญ 'KICK OFF' ด้วยรักและยุติธรรม สู่นิรโทษกรรมประชาชน ตั้งแต่ 1-14 ก.พ. 2567 โดยวันนี้มีการยื่นริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ฉบับประชาชน เข้าสู่สภาฯ พร้อมเดินสายรณรงค์กับพรรคการเมืองต่างๆ

 

1 ก.พ. 2567 ทีมสื่อเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน รายงานวันนี้ (1 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ต่อประธานผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย

'เมย์' พูนสุข พูนสุขเจริญ

แคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนมีจุดมุ่งหมายอย่างไร

หลังจากยื่นเอกสารริเริ่มเข้าชื่อแล้ว ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ สมาชิก iLaw ได้กล่าวว่า "เราจัดกิจกรรมเพื่ออยากให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงเรื่องนี้ในเทศกาลแห่งความรักนี้ 1-14 ก.พ. 2567 โดยจะมีกิจกรรมต่อเรื่องทั้ง 14 วัน ทั้งงานเสวนาวิชาการ งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ ใครชอบแบบไหน และเห็นความสำคัญของการนิรโทษกรรมประชาชนด้วยกันก็ขอให้เลือกไปร่วมงานกันเอง นอกจากนี้ เรายังรับอาสาจุดรับลงรายชื่ออาสาจัดกิจกรรมเพิ่มเติม งานนี้จะสำเร็จไม่ใช่เพราะองค์กรที่จัดงานเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมากอย่างที่เคยเป็นมา เพื่อส่งร่างนี้เข้าสภา และไปให้ไกลที่สุด เพื่อคนที่อยู่ในเรือนจำ และอาจจะต้องเข้าเรือนจำในไม่กี่วันข้างหน้า โดยพวกเราเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นการรวมพลังของประชาชนที่มีความหมายอีกครั้งหนึ่ง"

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ด้วยประกายดาว พฤกษาเกษมสุข สมาชิกจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เป็นวันสุดท้ายของแคมเปญนี้ เราจะจัดงานส่งรายชื่อให้ถึงสภาฯ โดยขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ลานประชาชน และจะขอเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมารับข้อเสนอของประชาชนด้วย บ่ายวันนี้จะไปยื่นหนังสือเชิญให้กับพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล และวันต่อๆ ไป ก็จะไปยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ เราอยากเจอทุกคนโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตอนนี้ เป็นพรรคที่ล้มลุกคลุกคลานกับเส้นทางต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยมา 2 ทศวรรษ สส.ของพรรคและประชาชนที่สนับสนุนพรรคต่างถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีทางการเมืองเป็นร้อยเป็นพันคน รวมทั้งยังไม่ได้กลับบ้าน ก็หวังว่าจะได้พบคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่หน้าสภาฯ วันที่ 14 เพื่อมารับร่างนี้จากประชาชน

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข

ประกายดาว ระบุต่อว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างนี้บังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ระยะเวลา รัฐประหารปี 2549 ไปจนถึงร่างนี้ประกาศบังคับใช้ โดยทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองจะเข้าข่ายการได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น

ในร่างมาตรา 5 ยังระบุด้วยว่า ความผิดมาตราใดบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที เช่น 1. คดีความตามประกาศและคำสั่งของ คสช. 2. คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2557 และ 38/2557 3. คดีตามมาตรา 112 4. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5. คดีใน พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และสุดท้าย ฐานความผิดที่มีคดีความข้อที่ 1-5 ร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประชาชน ระบุไว้ว่า จะยกเว้นไม่นิรโทษกรรมฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุม หรือกระทำการเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 หรือความผิดฐานกบฏ ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ 

นอกจากนี้ เพื่อเดินหน้าให้การนิรโทษกรรมเป็นไปตามกลไกลตามระบอบประชาธิปไตย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ยังกำหนดให้ตั้ง "คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน" เพื่อเป็นกลไกในการนิรโทษกรรม โดยมีสมาชิกในคณะกรรมการดังกล่าว 19 คน ประกอบด้วย 

  • ประธานสภาฯ 
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ
  • ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
  • สส. 10 คน ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาฯ
  • ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ รัฐประหาร 2549 การชุมนุมช่วงปี 2552-2553 การทำรัฐประหาร 2557 และการชุมนุมปี 2563-2566 เหตุการณ์ละ 1 คน
  • องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องการค้นหาความจริง และอำนวยความยุติธรรม 2 คน

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาว่า นอกจากคดีความที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามมาตรา 5 หากคณะกรรมการเห็นว่าเป็นคดีที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ก็สามารถวินิจฉัยให้นิรโทษกรรมได้ และยังเปิดโอกาสให้บุคคลผู้กระทำการนั้น หรือสามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กันกับฉันสามีภริยา ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ  และผู้อาศัยในอุปการะของบุคคลผู้กระทำการนั้น ยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว พิจารณาในกรณีที่เห็นว่าคดีของคนอาจตกหล่นไป

หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและได้บังคับใช้ จะส่งผลให้คดีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือคดีที่ผ่านการวินิจฉัยจากคณะกรรมการจะถูกยุติ 

  • คดีใดยังไม่ฟ้อง จะต้องระงับการสอบสวนหรือระงับฟ้อง
  • คดีใดฟ้องแล้ว ให้ถอนฟ้องหรือระงับฟ้อง
  • คดีใดอยู่ในระหว่างการพิจารณาชั้นศาล ให้ศาลยกฟ้อง หรือจำหน่ายคดี
  • คดีอยู่ในระหว่างการรับโทษ ให้โทษนั้นถึงที่สุดและปล่อยตัวผู้นั้นทันที

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการลบประวัติอาชญากรรมของผู้ที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมทั้งหมด หลังจากนั้นคณะกรรมการจะต้องจัดทำรายงาน เพื่อเสนอมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบภายหลังจากการนิรโทษกรรม 

กำหนดการวันนี้ 

เวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย

เวลา 10.45 น. เปิดตัวรถ "Le Truck - รักเธอ" สำหรับการเดินสายรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน

เวลา 13.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปที่หน้าส านักงานพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาร่วมรับรายชื่อและข้อเสนอจากประชาชน ในวันสุดท้ายของกิจกรรม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

เวลา 15.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปที่หน้าสำนักงานพรรคก้าวไกล เพื่อยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคก้าวไกลมาร่วมรับรายชื่อและข้อเสนอจากประชาชน ในวันสุดท้ายของกิจกรรม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

*หมายเหตุ หลังจากวัน KICK OFF แคมเปญด้วยรักและยุติธรรม สู่นิรโทษกรรมประชาชน แล้ว เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สำนักงานของพรรคการเมืองต่างๆ ตามที่ประสานงานได้และจะแจ้งกำหนดการให้ทราบต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net