Skip to main content
sharethis

“ยิ่งชีพ iLaw” และ “ทนายอานนท์” เดินหน้าฟ้องศาลปกครองต่อกรณีหน่วยงานความมั่นคงของรัฐใช้สปายแวร์ “เพกาซัส” ของบริษัทอิสราเอล มาขโมยข้อมูลส่วนตัวเป็นการละเมิดสิทธิและยังละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญเอง เรียกค่าเสียหายคนละ 2.5 ล้านบาท

20 มิ.ย.2566 เวลา 10.00 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ ilaw และอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกสปายแวร์ 'เพกาซัส' เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์เดินทางไปที่ศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อหน่วยงานรัฐ 9 หน่วยงานที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว

สำหรับคดีนี้นอกจากยิ่งชีพที่มายื่นฟ้องวันนี้ ยังมีอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมกันเป็นผู้ฟ้อง สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-9 ตามลำดับ

สำหรับข้อเท็จจริงตามฟ้องระบุว่ารัฐบาลทหารที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจัดซื้อใบอนุญาตการใช้งานสปายแวร์ “เพกาซัส” จากบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป เทคโนโลยี (NSO Group) จำกัดซึ่งบริษัทเทคโนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สัญชาติอิสราเอล โดยไทยได้รับการอนุมัติของกระทรวงกลาโหมอิสราเอล และการจัดซื้อนี้กระทำผ่านบริษัทเอกชนของไทยคือ “บริษัท ไทย เอ็นจิเนียริ่ง รีวอร์ด จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้อนำเข้าเทคโนโลยีทางการทหารและความมั่นคง

หลักฐานชี้รัฐเอี่ยวใช้ ‘เพกาซัส’ สอดแนมนักกิจกรรม-นักวิชาการ หาทางฟ้องทั้งรัฐไทย-อิสราเอล

สำหรับตัวสปายแวร์ “เพกาซัส” ที่รัฐไทยนำมาใช้ในการสอดแนมนี้ถูกระบวุ่ามีการดำเนินการในลักษณะที่รัฐบาลเป็นลูกค้าที่ซื้อใบอนุญาตการใช้งานจากบริษัท NSO Group โดยลูกค้าจะต้องระบุหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่เป็นเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการข้อมูลแก่บริษัท เพื่อให้บริษัทใช้เพกาซัสเจาะผ่านช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนของบุคคลเป้าหมายและนำข้อมูลที่ได้มามอบให้แก่รัฐบาลที่เป็นลูกค้า

สปายแวร์ดังกล่าวมีความสามารถในการเจาะระบบผ่านช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่มีขอบเขตทั้งข้อมูลการสนทนา ข้อมูลการเงิน และรหัสผ่านต่างๆ ที่บันทึกในโทรศัพท์ และยังสามารถเข้าควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของโทรศัพท์ที่ตกเป็นเป้าหมายเช่นกล้อง ไมโครโฟน หรือการจับภาพหน้าจอ(แค๊ปภาพจอ) ได้อีกด้วยโดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาการเข้าถึงของผู้เจาะระบบเอาไว้ด้วย

ทั้งนี้สำหรับยิ่งชีพและอานนท์ซึ่งเป็นผู้ฟ้องในคดีนี้ได้รับการแจ้งเตือนจากบริษัทแอปเปิลซึ่งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์ iPhoneว่าพวกตนถูกโจมตีด้วยเพกาซัสและจากการตรวจสอบด้วยวิธีนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensic) ยังพบอีกว่าพวกตนถูกเจาะระบบแล้วหลายครั้งเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวการทำกิจกรรมทางการเมืองตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 ที่คุ้มครองบุคคลจากการถูกแทรงแซงความเป็นส่วนตัวเอาไว้ด้วย

ข้อมูลที่ระบุในคำฟ้องระบุว่า ยิ่งชีพถูกเจาะ 10 ครั้งโดยแต่ละครั้งเกิดขึ้นใกล้กับช่วงเวลาที่จะมีการชุมนุมทางการเมืองและครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการปราศรัยของแกนนำราษฎรเป็นการล้มล้างการปกครอง

ส่วนอานนท์ถูกเจาะ5 ครั้ง เป็นช่วงเวลาใกล้กับการชุมนุมทางการเมืองเช่นกันและครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นขณะเขาถูกคุมขังในเรือนจำหลังจากมีโพสต์เฟซบุ๊กที่เล่าสถานการณ์เรือนจำแล้วทางกรมราชทัณฑ์ขอให้ตำรวจดำเนินการตรวจสอบการโพสต์ดังกล่าว

ผู้ฟ้องทั้ง 2 คน เห็นว่าการปฏิบัติการเช่นนี้ของรัฐบาลเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ มาตรา 32ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และการจำกัดสิทธิหรือละเมิดสิทธิดังกล่าวหรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะต้องกระทำการดังกล่าวเท่าที่จำเป็นและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่

นอกจากนั้นการเข้าถึงข้อมูลโดยการใช้เพกาซัสนี้ยังเป็นการละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 ที่ห้ามเข้าถึงและดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งตามมาตรา 5, 7 และ 8 อีกทั้งการเข้าถึงนี้ไม่ได้เป็นการเข้าถึงเพื่อหาหลักฐานหรือสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดตามมาตรา 18 และ 19 ของกฎหมายที่จะต้องขอหมายศาลก่อนทุกครั้งด้วย

ผู้ฟ้องทั้งสองคนมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานลำดับที่ 1-7 และ กกม.ต้องยุติการใช้เพกาซัส และให้คืนข้อมูลให้กับยิ่งชีพและอานนท์ รวมถึงต้องลบทำลายข้อมูลที่มีการเก็บไว้ และยังขอให้สั่งหน่วยงานลำดับ 1 ถึง 8 จ่ายค่าเสียหายคนละ 2 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 นับตั้งแต่วันนี้ซึ่งเป็นวันฟ้องจากการที่หน่วยงานเหล่านี้ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และยังขอให้ศาลสั่งทั้ง 9 หน่วยงานจ่ายอีก 5 แสนบาทต่อคนจากผลกระทบด้านจิตใจที่ทำให้ผู้ฟ้องทั้งสองคนต้องหวาดระแวงจากการถูกสอดแนม รวมแล้วทั้งสองคนได้เรียกค่าเสียหายรวมคนละ 2,500,000 บาท

กลไกตรวจสอบป้องกันยังไม่ดีพอ

ยิ่งชีพให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าสำหรับคดีแพ่งที่เขาและอานนท์ กับผู้ฟ้องอีก 6 คนร่วมกันฟ้องบริษัท NSO Group ไปก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งได้ยกฟ้องไปแล้วโดยให้เหตุผลโจทก์ 8 คนเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องคดีเดียวกันไม่ได้จะต้องแต่ละคนจะต้องเป็นโจทก์ฟ้องคดีแยกกันมา 8 คดี ซึ่งหลังจากนี้ทางผู้ฟ้องก็จะมีการดำเนินการฟ้องร้องบริษัทอีกครั้งต่อไป

ปชช. 8 รายยื่นฟ้อง NSO Group เรียกค่าเสียหาย 8.5 ล้าน ปมถูกสปายแวร์เพกาซัสสอดแนม

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเพกาซัสมา กลไกภายในไทยที่ใช้ตรวจสอบป้องกันการโจมตีลักษณะนี้มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง ผู้จัดการ iLaw ตอบว่าเท่าที่ได้ใช้กลไกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และกรรมาธิการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะทำความไม่เข้าใจด้านเทคโนโลยีตรงนี้มากนักยังไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะมีการสืบสวนการโจมตีลักษณะนี้แล้วเราจะป้องกันอย่างไรแม้ว่าโดยกฎหมายแล้วจะมีการคุ้มครองสิทธิตรงนี้อยู่

ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) อยู่ด้วยซึ่งควรจะต้องมาทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนด้วยเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตีหรือสงครามทางไซเบอร์จากอาวุธสงครามที่ผลิตโดยต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพกล่าวว่าเขาเองยังคาดหวังให้การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้แม้ว่าศาลเองอาจจะยังไม่เข้าใจประเด็นทางคอมพิวเตอร์ทั้งหมดแต่ก็น่าจะมีกระบวนการที่จะนำเสนอหลักฐานและทำความเข้าใจร่วมกันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net