Skip to main content
sharethis

คุยกับพีมูฟ เรื่องความคืบหน้าข้อเรียกร้อง หลังมาปักหลักหน้าทำเนียบวันที่ 12 รอตั้ง คกก.อำนวยความยุติธรรมฯ แก้การเก็บภาษีโฉนดชุมชน พร้อมผลักดันธนาคารที่ดินและอัตราภาษีที่ดินก้าวหน้า กระจายที่ดินให้ประชาชนเข้าถึงได้ 

 

18 ก.พ. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขปส. (พีมูฟ) มาชุมนุมปักหลักตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 เพื่อติดตามและทวงถามรัฐบาลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ 

ทั้งนี้ เมื่อ 2-17 ต.ค. 2566 ขปส. เคยเดินทางมาปักหลักหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ และอนุกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่าย ขปส. ด้านนโยบาย 10 ข้อ และมีปัญหารายกรณีอื่นๆ 

โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 จึงได้ยุติการชุมนุมหลังการเจรจากับรัฐบาลได้ผลที่น่าพอใจ มีการตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในวันที่ 9 ต.ค. 2566 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 10 ต.ค. 2566 ก็ได้รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 10 ด้านของพีมูฟ 

การชุมนุมของพีมูฟ เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 (ที่มา: ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move)

ทั้งนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 10 ด้าน ได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย, การกระจายอำนาจ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, กระจายการถือครองที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, การจัดการทรัพยากร, การจัดการภัยพิบัติ, ชาติพันธุ์, สิทธิสถานะบุคคล, รัฐสวัสดิการ และที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค

โดยคณะกรรมการชุดใหญ่แก้ไขปัญหาของ ขปส. มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และสัดส่วนของคณะกรรมการฯ เท่ากันระหว่างพีมูฟ และเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ขปส. กลับมาชุมนุมที่หน้าประตูทำเนียบฯ อีกครั้ง เนื่องจาก “รัฐบาลเพิกเฉย ดำเนินการแก้ปัญหาล่าช้า ไม่มีความคืบหน้า” และมี 3 ข้อเรียกร้องหลักคือ 

1. รัฐบาลต้องเดินหน้าโฉนดชุมชน ยุติการคุกคามประชาชนด้วย คทช. (คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) โดยต้องเปิดประชุมคณะกรรมการโฉนดชุมชน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2. แก้ปัญหาเรื่องด่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพีมูฟขอเปิดเจรจากับรัฐมนตรี พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพื่อหารือกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันทั้งระบบรายกรณี และนโยบาย และหากไม่เปิดโอกาสให้ได้เข้าพบ ทางพีมูฟจะไม่ร่วมประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นี้

3. เปิดประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ ซึ่งมี ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธาน เพื่อนำข้อสรุปการแก้ไขปัญหาทั้งหมดเข้าสู่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานต่อไป

ความคืบหน้า: เรื่องข้อเรียกร้อง

ทีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธาน พีมูฟ กล่าวถึงความคืบหน้าด้านข้อเรียกร้องของพีมูฟ หลังได้มาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 12 โดยข้อเรียกร้องของพีมูฟมีหลากหลาย ทั้งประเด็นด้านสิทธิที่ดินทำกิน โฉนดชุมชน ทรัพยากร ไปจนถึงสวัสดิการ และที่ผ่านมา พีมูฟกำลังผลักดันเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจากเดิม 600 บาท เพิ่มเป็น 1,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการประชุม และตอนนี้มติที่ประชุมเคาะแล้ว เหลือแต่ผ่านขั้นตอนคณะกรรมการชุดใหญ่ และส่งเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป 

ทีรเนตร ไชยสุวรรณ (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ต่อมา ประธานพีมูฟ กล่าวถึงข้อเรียกร้องการจัดตั้ง ธนาคารที่ดิน เพื่อให้คนจนเมือง และเกษตรกร เข้าถึงที่ดินได้ ตอนนี้กำลังหาทางผลักดันให้ประกาศเป็นกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับประโยชน์ 

ประธานพีมูฟ ระบุต่อว่า แนวคิดของธนาคารที่ดินจะต่างจากธนาคารรูปแบบพาณิชย์ทั่วไป คือจะไม่มีลักษณะค้ากำไร และต้องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยประชาชนคนรวยที่ครอบครองที่ดินจำนวนมาก สามารถเอาที่ดินมาขายให้ธนาคาร จากนั้น ทางธนาคารฯ จะกระจายให้กับผู้ที่มีความประสงค์ไม่ว่าจะนำที่ดินไปเป็นที่อยู่อาศัย หรือทำการเกษตรกรรม ผู้มีความประสงค์ใช้ที่ดินก็ไปเช่าซื้อ และก้ทำข้อตกลงกัน ทีรเนตร คาดหวังว่า ธนาคารที่ดินจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกระจายที่ดิน และลดความเหลื่อมล้ำ และกล่าวย้ำว่าเรื่องนี้ทางพีมูฟ ยังติดตามอย่างเข้มข้นแน่นอน  

ทั้งนี้ พีมูฟ ระบุด้วยว่า สำหรับกรณีรายประเด็นมีมากกว่า 200 กรณี มีการประชุม และมีการแก้ไขปัญหาคืบหน้าเป็นลำดับ และยืนยันว่าจะใช้ประชาธิปไตยทางตรงในการต่อสู้ต่อไป 

ขณะที่ไมตรี จงไกรจักร ที่ปรึกษาพีมูฟ ระบุเสริมว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน จะเข้าสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 21 ก.พ. 2567 และนายกรัฐมนตรีจะลงนามรับรอง 

ทีรเนตร กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่า จำนวนราว 4 หมื่นคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ของรัฐบาลยุค คสช.นั้น ประธานพีมูฟ เผยว่า ประเด็นนี้มีความคืบหน้า และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้ โดยหลักการพิจารณาคือ ถ้าประชาชนพิสูจน์สิทธิ์ได้ว่าอยู่มานานแล้ว และเข้าเกณฑ์ทุกอย่าง พวกเขาจะได้กลับไปใช้ชีวิตในที่ดินเดิมของพวกเขา และจะมีการล้างมลทินให้ด้วย 

ด้านไมตรี กล่าวเสริมว่า ส่วนกฎหมายปฏิรูปที่ดิน และคดี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีป่าไม้ และที่ดินทั้งหมด คาดว่าภายใน 3 เดือน (พ.ค. 2567) จะเริ่มล่ารายชื่อ และเชื่อว่ากฎหมายเหล่านี้จะเกิดประโยชน์กับคนทั้งประเทศ 

ความคืบหน้า: นโยบายการเก็บภาษีที่ดินโฉนดชุมชนอย่างเป็นธรรม 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ปรึกษาพีมูฟ ตัวแทนชาวบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ทางคลองโยง มาร่วมผลักดันกับพีมูฟ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือการจัดเก็บภาษีที่ดินลักษณะโฉนดชุมชนอย่างเป็นธรรม ตามรายแปลง รวมถึงการผลักดันการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการกระจายที่ดินให้ผู้มีรายได้น้อย หรือไม่มีรายได้ 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ประภาส กล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาที่ชุมชนคลองโยง สืบเนื่องมาจากการเก็บภาษีที่ดินชุมชนคลองโยง ซึ่งเป็นโฉนดชุมชน ถือกรรมสิทธิ์ครองร่วมกันเป็นแปลงใหญ่ แต่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่ดินแปลงใหญ่ ไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างภาระให้กับประชาชนอย่างมาก 

ประภาส ระบุว่า ชุมชน 'คลองโยง' เดิมทีได้รับมอบที่ดินมาจากรัฐบาลที่มาจากการเช่าซื้อ จำนวน 1,800 ไร่ แบ่งรายแปลง 24 แปลง แปลงละ 20 ไร่ ที่เหลือเป็นของสหกรณ์ไว้ใช้ส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม โฉนดที่ดิน 1,800 ไร่ของชุมชนคลองโยง ถูกจัดเก็บภาษีตามอัตราภาษีแปลงใหญ่ ทำให้มีราคาแพงกว่าแปลงย่อย หรือแปลงเล็ก โดยปกติชุมชนคลองโยง เสียภาษี 500-600 บาทต่อไร่ แต่ถ้าเป็นแปลงย่อย หรือที่ดินมูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียงร้อย 0.01 ประมาณนี้ ซึ่งน้อยมาก

ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวด้วยว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดที่คลองโยงที่เดียว แต่มีที่ภาคเหนือทั้งรูปแบบสหกรณ์แบบคลองโยง หรือรูปแบบที่ดินของ สปก. และคนจนเมือง อย่างในกรณีของบ้านมั่นคง มีเนื้อที่ 1 ไร่ โดยซอยย่อยเหลือแปลงละ 8 ตารางวา มีบ้านหลายหลังในนั้น ซึ่งที่ดินก็จะเป็นในรูปแบบสหกรณ์ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของบ้านมั่นคง แต่ประชาชนต้องจ่ายภาษีในอัตรา 1 ไร่ ไม่ใช่ 8 ตารางวา ซึ่งภาระประชาชนก็จะแตกต่างกันมาก 

ที่ปรึกษาพีมูฟ ระบุว่า เขาขอเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักคิดของโฉนดชุมชน หรือที่ดินแปลงรวมที่ชุมชนต้องการบริหารจัดการร่วมกัน แต่ให้เก็บตามสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่เก็บภาษีที่ดินตามกรรมสิทธิ์ร่วมกันแบบสหกรณ์ ที่ปรึกษาพีมูฟ ระบุต่อว่า ข้อเรียกร้องนี้สำคัญคือ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไข จะส่งผลให้โฉนดชุมชนไม่สามารถดำเนินต่อได้ 

ประภาส กล่าวด้วยว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เราต้องการให้รัฐบาลทำได้ 2 ลักษณะ ความคืบหน้าคือในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา คือยอมรับหลักการว่าจะต้องมีการเพิ่มเติมในประกาศกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2543 คือที่ดินในลักษณะนี้ให้เก็บตามสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่เก็บตามกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ในลักษณะสหกรณ์แปลงรวม และจะมีวาระการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในวันที่ 20 ก.พ. 2567 

นอกจากนี้ ประภาส กล่าวด้วยว่า พีมูฟยังมีการเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน ให้คนที่มีที่ดินเยอะๆ ควรจะต้องถูกจัดเก็บภาษีในทางก้าวหน้า เพื่อให้เขามีภาระทางภาษี ให้เขาคลายที่ดินออกมา และนำมากระจายให้ประชาชนคนอื่นๆ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อย ให้เขาได้นำไปใช้ทำมาหากิน และอื่นๆ 

ติดตามตั้ง คกก.อำนวยความยุติธรรมฯ

สมบัติ ชูมา ประธานกรรมการบริหาร พีมูฟ และเครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตก ระบุว่า มาติดตามข้อเรียกร้องตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยรับปากไว้ และสืบเนื่องจนมาถึงรัฐบาลนี้ และมีเรื่องที่รัฐบาลทำงานค้างคากันไว้ ไม่ว่าจะเป็นมติ ครม.ที่เกี่ยวพันกับความเดือดร้อนของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

สมบัติ ชูมา (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

สมบัติ ระบุว่า คณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีการเลื่อนแต่งตั้งมาตลอด พวกเขาเลยคุยกับคณะกรรมการบริหารพีมูฟ แล้วว่าถ้ายังไม่มีการแต่งตั้ง พวกเขาก็ไม่กลับ แต่ถ้าอนุกรรมการมีการเซ็นลงนามแต่งตั้ง เขาเชื่อว่าการทำงานระหว่างพีมูฟ และทางการ จะดีขึ้น

สมบัติ กล่าวต่อว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาตอนนี้ไม่สามารถขยับไปได้ และความเดือดร้อนของประชาชนก็ไม่สามารถรอได้ ดังนั้น การชุมนุมปักหลักยาวหน้าทำเนียบ เราคาดว่าพวกเขาอาจจะเข้าใจมากขึ้น มีการเซ็นอนุมัติ หรือการเปิดประชุม เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และสร้างกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบต่อไป

ปธ.กก.บห.พีมูฟ ระบุว่า สำหรับอนุกรรมการอำนวยความยุติธรรม มีบทบาทจะดูแลเรื่องคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามคำร้องของประชาชนในเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบเรื่องคดีแพ่งและคดีอาญา หรือแม้แต่การแก้ไขความทับซ้อนเชิงกระบวนการกฎหมายต่างๆ จำเป็นมากที่จะต้องได้คนที่มีความรู้กฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหา เรื่องคดีความต่างๆ ต้องให้ รอง ผบ.ตร. เข้ามานั่งในอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรง

ท้ายที่สุด ไมตรี ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวฝากถึงประชาชนที่สนใจติดตามการทำกิจกรรมของพีมูฟ หรือต้องการให้กำลังใจ สนับสนุนทำได้หลายช่องทาง โดยสามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก 'ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-Move' สามารถเข้ามานั่งฟังเรื่องราวในที่ชุมนุมด้วยตัวเองที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หรือสามารถแสดงความเห็นช่องทางต่างๆ 

"เรามีความคาดหวังว่าจะสร้างความเป็นธรรม ให้กับสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ รากของปัญหาไม่ใช่มาแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าแก้ต้นตอของปัญหา มันจะนำไปสู่การพัฒนา และเกิดความยั่งยืนของประชาชนทั้งประเทศได้" ไมตรี กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net