Skip to main content
sharethis

กสม. หนุนออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง เตรียมชงข้อเสนอแนะให้ กมธ.วิสามัญ พิจารณา - สนับสนุนรัฐบาลไทยจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาและผู้หนีภัยชายแดนไทย - เมียนมา

 

15 ก.พ.2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (15 ก.พ.67) เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 6/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

กสม. หนุนออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง เตรียมชงข้อเสนอแนะให้ กมธ.วิสามัญ พิจารณา

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือขอทราบความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... (ฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งได้ติดตามการเสนอร่างกฎหมายและการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบแล้วพบว่า ปัจจุบันมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายของพรรคพลังธรรมใหม่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคก้าวไกล และร่างกฎหมายของภาคประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ โดยกำหนดกรอบเวลาทำงาน 60 วัน มี ชูศักดิ์  ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการ

จากการศึกษาร่างกฎหมาย ประกอบหลักสิทธิมนุษยชน กสม. เห็นว่า รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม การนิรโทษกรรมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยุติความขัดแย้งในอดีตที่สมควรถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่อาจระงับความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมต้องอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติ กสม. จึงมีความเห็น ดังนี้

(1) ความมุ่งหมายของการนิรโทษกรรม ที่ผ่านมาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติมีเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมสองรูปแบบ คือ กรณีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ในกระบวนการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อยุติความแตกแยกทางความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารในปี 2549 ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเกิดจากการชุมนุม การประท้วง การเรียกร้อง การแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็น ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผู้กระทำความผิดมีมูลเหตุจูงใจแตกต่างจากเจตนาในการกระทำผิดทางอาญาในกรณีทั่วไป

(2) การกำหนดช่วงเวลาที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ควรกำหนดให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ หรือห้วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือผลที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมด และในปัจจุบันความขัดแย้งดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ดังนั้น ควรกำหนดระยะเวลาการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับ

(3) กรณีจำเป็นต้องมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการให้นิรโทษกรรมในกฎหมาย คณะกรรมการต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่มีส่วนได้เสียในการพิจารณานิรโทษกรรม เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่ว่าผู้กระทำความผิดย่อมไม่อาจเป็นผู้ตัดสินความผิดที่ตนได้กระทำลง และเป็นหน้าที่ของรัฐในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด

(4) ประเภทความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายหรือบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ไม่ควรให้คณะกรรมการไปกำหนดประเภทหรือฐานความผิดในภายหลัง เพราะการนิรโทษกรรมถือเป็นข้อยกเว้นการกระทำความผิด ต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ขยายความไปใช้กับความผิดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการใช้ดุลพินิจและการมีส่วนได้เสียในการให้นิรโทษกรรม และต้องกระทำผ่านองค์กรนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนตามหลักการประชาธิปไตย

(5) ความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องไม่เป็นความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การทรมาน การบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ การสังหารนอกระบบ การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี การวิสามัญฆาตกรรม การสังหารโดยรวบรัดและตามอำเภอใจ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม การเอาคนลงเป็นทาส การค้ามนุษย์ และการกระทำรุนแรงที่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เป็นต้น เนื่องจากเป็นกรณีต้องห้ามตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะละเมิดสิทธิในการได้รับความยุติธรรมและการชดใช้ความเสียหาย ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด ไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐที่ต้องสืบสวนการกระทำความผิด และสิทธิของเหยื่อที่จะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งละเมิดสิทธิในการรับรู้ความจริงของผู้เสียหาย

ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษต่ออาชญากรรมที่เป็นการทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Genocide Convention) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ด้วย

“หลังจากนี้ กสม. โดย ประธาน กสม. จะมีหนังสือแจ้งความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางในการจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อไป” วสันต์ กล่าว

กสม. สนับสนุนรัฐบาลไทยจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาและผู้หนีภัยตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา

ศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ยังคงปรากฏสถานการณ์การปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารเมียนมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านกองทัพเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเกิดขึ้นเป็นระยะตั้งแต่ปี 2564 เรื่อยมา ส่งผลให้ประชาชนเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และคนที่ได้รับบาดเจ็บ หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในเขตประเทศไทยโดยพักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวจังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ก็มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากหลายครั้งมีกระสุนปืนไม่ทราบฝ่ายตกมายังฝั่งไทย ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลและหลายคนต้องหนีไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

กสม. ได้ติดตามสถานการณ์การสู้รบดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อติดตามและหารือเพื่อให้ภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐสามารถส่งความช่วยเหลือการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวเมียนมาที่หนีภัยการสู้รบเข้ามาในเขตประเทศไทย รวมทั้งประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนที่ได้รับผลกระทบ โดยขอชื่นชมภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงพื้นที่บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อริเริ่มจัดตั้ง “ระเบียงมนุษยธรรม” (Humanitarian Corridor) บริเวณแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบศูนย์ส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา อันสอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งตามฉันทามติของผู้นำอาเซียนในการประชุม ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ซึ่งไทยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ 4 ประการ หรือ D4D ได้แก่ (1) De-escalating Violence การยุติความรุนแรง (2) Delivering Humanitarian Assistance การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (3) Discharge of Detainees การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และ (4) Dialogue การหารือเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ซึ่งในช่วงแรกเริ่มจะเป็นการเปิดศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) โดยส่งมอบความช่วยเหลือ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค ผ่านสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา

“กสม. ขอสนับสนุนการเดินหน้าจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) เพื่อยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาและผู้หนีภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยกำหนดให้มีพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการประหัตประหาร ผู้ที่หนีภัยการสู้รบ และผู้ที่พลัดถิ่นในประเทศเมียนมาที่ติดกับชายแดนไทย ทั้งนี้ ควรดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม โดยเร่งดำเนินการในพื้นที่ที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่สุดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพลัดถิ่นเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก บริเวณแนวชายแดนไทยของจังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้นไปทั้งหมด และ กสม. ขอเน้นย้ำในหลักการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากการสู้รบ ไม่ผลักดันกลับสู่อันตราย (non - refoulement) อันสอดคล้องและเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม” ศยามล กล่าว        

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net