Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำ อายุ 46 ปี ซึ่งนำไปสู่การประท้วง จนเกิดการจลาจล การใช้ความรุนแรง และการประกาศภาวะฉุกเฉินทั้ง 55 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา[1] และมีผู้ประท้วงถูกจับกว่า 10,000 คน[2] จอร์จ ฟลอยด์ มิใช่ชายผิวดำคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงของตำรวจ จากข้อมูลในปี ค.ศ 2018 ที่เก็บโดย Washington Post พบว่า คนผิวดำในสหรัฐฯ มีทั้งหมด 13% แต่เหยื่อคนผิวดำที่เสียชีวิตจากปืนของตำรวจกลับมีสูงถึง 23% และจำนวนคนผิวดำที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในขณะที่ไม่มีอาวุธมีสูงถึง 36%[3] นอกจากนี้ ข้อมูลของเว็บไซต์ mappingpoliceviolence.org ที่เก็บข้อมูลความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากตำรวจ พบว่า ชายผิวดำมีโอกาสเสียชีวิตจากมือตำรวจมากกว่าชายผิวขาวถึง 3 เท่า[4]

เราจะเห็นว่าการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อผู้ชายผิวดำหาใช่เรื่องบังเอิญและไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มันเป็นเพียงหนึ่ง ‘อาการ’ (symptom) ของสภาวะ ‘การเหยียดผิว’ ที่มีมายาวนาน ฝังรากอย่างแนบแน่นอยู่กับโครงสร้างสถาบันทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมายของสหรัฐฯ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘systemic racism’ ดังนั้น ก่อนจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของตำรวจที่มีต่อผู้ชายผิวดำ ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจึงอยากฉายภาพประวัติศาสตร์การเหยียดผิวในสังคมอเมริกันแบบย่อให้เห็นเสียก่อน เนื่องด้วยความยาวของเนื้อหาบทความ ผู้เขียนจึงจะขอแบ่งบทความออกเป็น 2 ตอน โดยในส่วนแรกจะเขียนถึงการกดขี่คนผิวดำด้วยระบบทาสและส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมือง ส่วนที่สองจะอธิบายถึงการกดขี่หลังการเลิกระบบทาสโดยใช้ความรุนแรงและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม


ระบบทาส (Slavery)

ทาสผิวดำเป็นประเด็นที่สำคัญมาตั้งแต่ช่วงการสถาปนาประเทศ ในการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทาสกลับกลายเป็นเป็นประเด็นสำคัญที่มลรัฐต้องเอามาถกเถียงกันอย่างหนัก สิ่งที่ถกเถียงกันมิใช่ว่าควรหรือไม่ควรมีทาสอยู่ แต่สิ่งที่เถียงกันคือ สำหรับรัฐที่มีทาส ทาสควรจะถูกนับอย่างไรในการคำนวณจำนวน ส.ส. โดยรัฐธรรมนูญระบุว่าสมาชิกในสภาคองเกรส (Congress) จะมีอยู่ 2 รูปแบบซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีที่มาจากการเลือกของรัฐ แต่ละรัฐจะมีจำนวน ส.ว. เท่ากันทุกรัฐ คือ 2 คน แต่สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งสภาจะมีอยู่ 435 คน โดยใช้จำนวนประชากรมาคำนวณจำนวน ส.ส. ดังนั้น รัฐใหญ่ก็จะมีจำนวน ส.ส. มาก ขณะที่รัฐเล็กก็จะมีจำนวน ส.ส. น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐที่มีทาสมากเรียกร้องให้ตนเองมีจำนวน ส.ส. มาก จึงเกิดการเจรจาต่อรองกับรัฐที่มีทาสน้อยจนกลายมาเป็น ‘การประนีประนอมสามในห้า’ (Three-Fifths Compromise) ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 อนุมาตรา 2 วรรคที่ 3 ที่กำหนดให้จำนวน ส.ส. ของแต่ละรัฐต้องคำนวณจากจำนวนของประชากรทั้งหมดบวกกับสามในห้าของจำนวนทาสในรัฐนั้น ซึ่งนั่นแปลว่าจริงๆ แล้วในกฎหมายทาสไม่ได้มีค่าพอที่จะสามารถมีสิทธิในการเลือกตั้งได้ แต่ในทางการเมืองทาสกลับมีค่าพอที่จะใช้ต่อรองเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส. ให้กับรัฐทางใต้ ในการสำรวจสำมโนประชากรในปี ค.ศ. 1860 พบว่าในสหรัฐฯ มีจำนวนทาสมากถึง 3.9 ล้านคน หรือประมาณ 12.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด[5] ทาสส่วนใหญ่อยู่ในทางตอนใต้ของประเทศ ในแง่นี้ทาสจึงมีความสำคัญต่อรัฐทางใต้มาก


ภาพที่ 1:
แผนที่แสดงปริมาณความหนาแน่นของทาสในแต่ละเมืองในรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ
ภาพนี้จัดทำในการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 1860
ที่มา: https://www.census.gov/history/pdf/1860_slave_distribution.pdf

ทาสผิวดำมีบทบาทสำคัญในการผลิตสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตฝ้าย ในยุคอาณานิคมสหรัฐฯ มีสินค้าส่งออกทางการเกษตรหลายชนิด แต่ฝ้ายถือเป็นสินค้าส่งออกหลัก ในช่วงสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1961 - 1965) รัฐฝ่ายใต้ผลิตฝ้ายมากถึง 75% ของฝ้ายที่มีขายในตลาดโลก[6] ฝ้ายปลูกมากในรัฐทางตอนใต้ของประเทศ แรงงานทาสถูกมองว่ามีความเหมาะสมกับการทำงานในไร่ฝ้าย เพราะเชื่อกันว่าทาสมีร่างกายที่แข็งแรง สามารถบังคับให้ทำงานหนักได้ และไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือทักษะเฉพาะด้านเหมือนคนงานในโรงงานทางเหนือ แรงงานทาสผิวดำจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อธุรกิจทางการเกษตรของรัฐทางใต้ นอกจากการเป็นแรงงานบังคับแล้ว ทาสผิวดำก็ยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากสำหรับกลุ่มพ่อค้าทาส ทาสที่มีร่างกายแข็งแรงจะถูกขายในราคาประมาณ 1,200 –1,500 เหรียญ หรือประมาณมากกว่า 20,000 เหรียญในปัจจุบัน[7] ด้วยความสำคัญของทาสต่อระบบเศรษฐกิจของหลายรัฐ ระบบทาสจึงถูกสร้างขึ้นและถูกปกป้องเป็นอย่างดีจากคนผิวขาวโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำเจ้าของธุรกิจการเกษตร


ภาพที่ 2: ภาพวาดการประมูลทาสประมาณปี ค.ศ. 1830
ที่มา: https://time.com/5750833/new-years-day-slavery-history/
 

ทาสผิวดำมีชีวิตที่ลำบากและอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชีวิตทาสแต่ละคนมีความยากลำบากแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุและเพศของทาส ฐานะของนายทาสและการดูแลทาส และรูปแบบงานที่ทาสต้องทำ ในการดูแลและลงโทษทาสจะมีการกำหนดใน ‘กฎหมายทาส’ (slave codes) แม้ในแต่ละรัฐกฎหมายทาสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักจะมีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง เช่น ทาสไม่มีสิทธิ์ในการทำนิติกรรมใดๆ ข้อตกลงทุกอย่างกับทาสต้องได้รับการยินยอมจากนายทาสก่อน ในทางกฎหมายทาสล้วนถูกมองว่าเป็นทรัพย์สิน การเป็นทรัพย์สินแปลว่าทาสสามารถถูกซื้อ-ขาย ให้เป็นของรางวัล ใช้ในการพนัน ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ หรือให้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษได้ ทาสไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองปืน ทาสไม่สามารถเป็นพยานในคดีที่เกี่ยวข้องกับคนผิวขาวได้ ทาสไม่สามารถนัดชุมนุมกันโดยไม่มีคนผิวขาวอยู่ด้วยได้ การแต่งงานของทาสไม่มีผลผูกพันด้านกฎหมาย ดังนั้น แม้ทาสจะแต่งงานกันแล้ว นายทาสก็สามารถแยกสามีหรือภรรยาขายให้กับผู้อื่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทาสจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และในบางรัฐถึงกับมีการลงโทษคนผิวขาวที่สอนหนังสือให้ทาสผิวดำอีกด้วย ทาสอาจถูกนายทาสฆ่าได้ถ้ามีความผิดที่ร้ายแรง เช่น การวางเพลิง การวางแผนต่อต้านนายทาส และการข่มขืนผู้หญิงผิวขาว ในทางกลับกัน ถ้าผู้ชายผิวขาวข่มขืนทาสหญิงผิวดำบ้างก็จะมีความผิดในข้อหา ‘บุกรุก’ (trespass) ทรัพย์สินของนายทาสเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การข่มขืนทาสหญิงจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่จะมีน้อยครั้งที่มีการแจ้งความ ตัวอย่างการกดขี่ทาสที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นถึงการกดขี่ทาสอย่างเป็นระบบทั้งทางโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และทางกฎหมาย


ภาพที่ 3: ภาพหน้าปกหนังสือกฎหมายทาสสำหรับทาสใน Washington D.C ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1862 แค่ 1 เดือนก่อนที่ประธานาธิบดีลินคอล์นจะประกาศยกเลิกทาสในเมืองนี้
ที่มา: https://www.ushistory.org/us/27b.asp

นอกจากนี้ มีการจัดตั้งกองกำลังคุมทาส (slave patrol) ขึ้นในรัฐทางใต้เพื่อปกป้องระบบทาส สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนผิวขาวในอดีตคือ การลุกฮือต่อต้านของทาสผิวดำ การมีกองกำลังคุมทาสจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการรักษาระบบทาส สมาชิกของกองกำลังนี้มีทั้งที่เป็นอาสาสมัครและที่ได้เงินตอบแทน ในรัฐทางใต้จะมีการออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจกับกองกำลังคุมทาสอย่างเป็นทางการ ดังนั้น กองกำลังนี้จึงสามารถใช้กำลังกับทาส หรือคนที่ช่วยเหลือทาสได้อย่างถูกกฎหมาย บ่อยครั้งที่กองกำลังนี้ใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่งเพื่อให้ทาสเกิดความกลัวและไม่กล้าหนีหรือต่อต้านนายทาส[8] เมื่อเวลาผ่านไปกองกำลังนี้ได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน จนกลายมาเป็นกองกำลังตำรวจในที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมในยุคแรกๆ ตำรวจจึงมีแต่คนผิวขาว และไม่น่าแปลกใจเลยที่วัฒนธรรมการเหยียดผิวในอดีตก็ยังคงมีอิทธิพลในการทำงานของตำรวจในปัจจุบันอยู่[9]


สงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War)

หากจะว่ากันจริงๆ แล้วสาเหตุของสงครามกลางเมือง (American Civil War: 1861-1865) นั้นมีหลายประการ แต่ไม่มีเรื่องไหนจะสำคัญไปกว่าประเด็นเรื่องทาส (slavery issue) ความไม่พอใจระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้มีมานานแล้ว แต่ประเด็นที่ทำให้เกิดจุดแตกหัก คือ ชัยชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1860 ของอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) จากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ในตอนนั้น นโยบายหลักของพรรครีพับลิกันในตอนนั้น คือ การไม่อนุญาตให้มีระบบทาสในพื้นที่อาณาเขตใหม่ (new territories) นโยบายนี้ทำให้รัฐทางใต้ที่มีทาสไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะเกรงว่ามันเป็นจุดเริ่มของการยกเลิกทาสทั้งประเทศ ความกลัวนี้จริงๆ แล้วมิใช่เพิ่งจะเกิด แต่มีมานานประมาณสองทศวรรษแล้ว สาเหตุหนึ่งเพราะการขยายตัวของรัฐที่ห้ามการมีทาส (free states) โดยในปี ค.ศ. 1846 รัฐที่ห้ามการมีทาสมีจำนวน 14 รัฐ แต่ในปี ค.ศ. 1861 กลับมีเพิ่มมากขึ้นเป็น 19 รัฐ ในขณะที่รัฐที่ยอมให้มีทาสได้ (slave states) มีจำนวนคงเดิมอยู่ที่ 15 รัฐในช่วงเวลาเดียวกัน[10] แนวโน้มการขยายตัวของรัฐที่ห้ามมีทาส บวกกับชัยชนะของลินคอล์นที่มีนโยบายห้ามรัฐใหม่มีทาสนี้ ทำให้ 7 รัฐทางใต้ตัดสินใจประกาศแยกประเทศ แต่รัฐทางเหนือไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งนี้จึงได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด


ภาพที่ 4:
แผนที่รัฐที่ยอมให้มีทาสได้ (slave states) และรัฐที่ห้ามการมีทาส (free states)
ที่มา: https://www.vox.com/2015/4/14/8396477/maps-explain-civil-war

ช่วงเวลาประมาณ 10 ปีหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดได้ถูกเรียกว่า ‘ยุคฟื้นฟู’ (Reconstruction Era, 1865-1877) เมื่อสงครามจบลงพร้อมกับความพ่ายแพ้ของฝ่ายใต้ รัฐบาลที่นำโดยพรรครีพับบลิกันก็ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (amendment) ทันที 3 ฉบับ นั่นคือ ฉบับที่ 13, 14 และ 15 ทั้ง 3 ฉบับนี้รู้จักกันในนาม ‘Reconstruction Amendments’ (บทแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการฟื้นฟูประเทศ) บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อเลิกทาส ส่วนฉบับที่ 14 มีเนื้อหาระบุว่าพลเมืองอเมริกันทุกคนล้วนได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม และ ฉบับที่ 15 ยืนยันถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนผิวดำ

นอกจากการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว รัฐบาลกลางยังได้ส่งทหารและเจ้าหน้าที่มาประจำอยู่ในรัฐทางใต้เพื่อที่จะคอยตรวจสอบและผลักดันให้อดีตทาสผิวดำได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ในช่วงเวลาฟื้นฟูประเทศนี้คนผิวดำได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และในช่วงเวลานี้มีคนผิวดำได้รับเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับประเทศหลายคน[11]


แบ่งแยกแต่เท่าเทียม (Separate but Equal)

แม้จะมีความพยายามจากรัฐบาลกลางเข้ามาช่วย และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนผิวดำไปในทางที่ดีขึ้น แต่บรรดารัฐทางใต้ก็ยังคงพยายามหาทางที่จะไม่ให้คนผิวดำมีความเท่าเทียมกับคนผิวขาว หนึ่งในวิธีการที่ถูกใช้ คือ เมืองต่างๆ ได้ออกฎหมายที่เรียกว่า ‘กฎหมายคนผิวดำ’ (Black Codes) กฎหมายคนผิวดำฉบับแรกได้ออกตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1865 หลังจากที่มีการออกบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 เพื่อเลิกระบบทาส กฎหมายคนผิวดำนี้มีเป้าหมายในการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้งานอดีตทาสผิวดำและเงินตอบแทนที่จะได้ เช่น การกำหนดให้ทำงานเป็นเวลานาน การกดค่าแรงให้ต่ำ การห้ามเดินทางออกนอกเขต และการลิดรอนสิทธิในการเลือกตั้งได้

นอกจากนั้น อดีตนายทหารของฝ่ายทางใต้ที่มักจะได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาและตำรวจ เมื่อคนผิวดำมีคดีความกับรัฐหรือกับคนผิวขาว คนเหล่านี้ก็จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม เข้าข้างคนผิวขาว ด้วยเหตุนี้ คนผิวดำมักจะแพ้คดีในศาล และมักจะถูกลงโทษหนักกว่าคนผิวขาวอีกด้วย จะเห็นว่าหลังเลิกทาสแม้ชีวิตคนผิวดำจะดีขึ้นโดยภาพรวม แต่ก็ยังคงถูกกดขี่อยู่ในหลายมิติ[12]

จุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การเหยียดสีผิวของสหรัฐฯ คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1876 ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่าง รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (Rutherford B. Hayes) จากพรรครีพับลิกัน และ แซมมวล เจ. ทิลเดน (Samuel J. Tilden) จากพรรคเดโมแครท (Democratic Party) อย่างที่รู้กันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่การเลือกโดยตรง แต่ต้องถูกเลือกจาก ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (electoral college) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อนับคะแนนแล้ว ทิลเดน ได้คะแนนเลือกตั้งโดยตรง (popular vote) มากกว่า เฮส์ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาการนับคะแนนใน 4 รัฐจึงทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครชนะการเลือกตั้ง ในที่สุดทั้ง 2 พรรคหันมาเจรจากันและได้ข้อตกลงว่าจะยอมให้ เฮส์ ชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลกลางจะต้องถอนทหารออกจากรัฐทางใต้ให้หมด ซึ่งนั่นแปลว่ารัฐทางใต้จะกลับมามีอำนาจในบริหารงานในรัฐตนเองอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลกลางเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลาในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา นี่ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของยุคฟื้นฟูในรัฐทางใต้

 


ภาพที่ 5:
ภาพโปสเตอร์หาเสียงของ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ และ ผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี วิลเลี่ยม เอ. วีลเลอร์ (William A. Wheeler) ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1876
ที่มา:
https://www.loc.gov/rr/program/bib/elections/election1876.html

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1870 เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘ยุคจิม โครว์’ (Jim Crow) คำว่าจิม โครว์ นี้ดั้งเดิมคือชื่อตัวละครตลกผิวดำที่แสดงโดยคนผิวขาว ตัวละครนี้จะมีการแต่งหน้าแต่งตัวและมีบทบาทที่สะท้อนภาพเหมารวม (stereotypes) ที่เหยียดหยามคนผิวดำ ต่อมาหนังสือพิมพ์ New York Times ใช้คำว่า จิม โครว์ ในการเรียกกฎหมายของรัฐทางใต้ที่มีเจตนาที่จะกดขี่คนผิวดำโดยรู้จักกันในนามของ ‘กฎหมายจิม โครว์’ (Jim Crow Laws)[13]


ภาพที่ 6: ภาพของ Jim Crow ที่ปรากฏในสสมุดเพลง ‘Jump Jim Crow’
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Jump_Jim_Crow#/media/File:Jimcrow.jpg

กฎหมายจิม โครว์ เป็นกฎหมายทั่วๆ ไป เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายทะเบียนราษฎร์ หรือกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่กฎหมายเหล่านี้จะมีเงื่อนไขที่มีการแบ่งแยกคนผิวขาวและผิวดำ (segregation) และกดให้คนผิวดำอยู่สถานะที่ต่ำกว่าคนผิวขาว ส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการออกกฎหมายลักษณะนี้ออกมาก็เพราะว่า หลังจากที่มีการเลิกทาส คนผิวดำก็ค่อยๆ โยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น มันจึงมีความพยายามจะแบ่งแยกคนผิวดำเพื่อไม่ให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่เท่าเทียมกับคนผิวขาว กฎหมายจิม โครว์ที่หลายคนอาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินมาบ้าง เช่น การแบ่งแยกโรงเรียน การแบ่งแยกสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การแบ่งแยกร้านอาหาร หรือแม้แต่การแบ่งที่นั่งบนรถประจำทาง[14]


ภาพที่ 7:
ภาพที่ดื่มน้ำของคนผิวดำและคนผิวขาวในรัฐ North Carolina
ถ่ายโดย Elliott Erwitt ในปี ค.ศ. 1950
ที่มา:
https://www.christies.com/lotfinder/Lot/elliott-erwitt-b-1928-
segregated-water-5544674-details.aspx

ในช่วงทศวรรษที่ 1880 – 1890 หลายรัฐในทางใต้ได้ออกกฎหมายที่แบ่งแยกพื้นที่ในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น แบ่งแยกทางบนถนน ที่นั่งบนรถประจำทาง หรือแบ่งแยกตู้รถไฟ กฎหมายเหล่านี้อาจมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่โดยทั่วไปจะมีการกีดกันคนผิวดำให้ใช้พื้นที่ของคนผิวขาว หากมีการละเมิดข้อห้ามนี้ก็จะถูกลงโทษด้วยการปรับหรือจับขัง โดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมบังคับใช้กฎหมายจิม โครว์นี้ก็มักจะถูกลงโทษด้วย

เพื่อต่อต้านกฎหมายแบ่งแยกนี้ได้มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งรวมตัวกันในนาม ‘Citizens’ Committee’ ต้องการยื่นฟ้องร้องต่อศาลว่ากฎหมายแบ่งแยกตู้รถไฟ (Separate Car Act) ของรัฐหลุยเซียนา (Louisiana) ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ (unconstitutional) โฮมเมอร์ เพลสซี่ (Homer Plessy) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นชายผิวดำ[15] อายุ 30 ปี ได้ไปนั่งในตู้รถไฟของคนผิวขาวเพื่อให้ถูกจับและดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายแบ่งแยกตู้รถไฟ ในการต่อสู้คดีทนายของเพลสซี่ได้โต้ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เมื่อแพ้คดีฝ่ายเพลสซี่ได้อุทธรณ์ไปจนถึงศาลสูงสหรัฐฯ (US Supreme Court) สุดท้าย ศาลสูงได้ตัดสินคดีนี้ (Plessy v. Ferguson, 1896) ว่าการแบ่งแยกตู้รถไฟนั้นสามารถทำได้ แต่จะต้องมีลักษณะที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น กฎหมายแบ่งแยกนี้จึงไม่ผิดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ[16]

คำตัดสินนี้สำคัญมาก เพราะได้สถาปนาหลักการที่เรียกว่า ‘แบ่งแยกแต่เท่าเทียม’ (separate but equal) ซี่งนั่นแปลว่าการแบ่งแยกพื้นที่หรือสิ่งอำนายความสะดวกต่างๆ ของคนผิวดำและคนผิวขาวนั้นสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย[17] หลังจากนั้น การแบ่งแยกพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกของคนผิวดำและคนผิวขาวก็ขยายตัวไปยังมิติต่างๆ และทำให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

 

(โปรดติดตามอ่านบทความนี้ในตอนที่ 2 ที่จะวิเคราะห์ถึงการกดขี่คนผิวดำในช่วงหลังปี ค.ศ. 1900 และการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำในมิติต่างๆ)

 

อ้างอิง 

[1] Warren, Katie and Hadden, Joey. "How all 50 states are responding to the George Floyd protests, from imposing curfews to calling in the National Guard." Business Insider. 5 June 2020, Accessed on 9 June 2020, https://www.businessinsider.com/us-states-response-george-floyd-protests-curfews-national-guard-2020-6

[2] Snow, Anita. "AP tally: Arrests at widespread US protests hit 10,000." AP. 4 June 2020, Accessed on 9 June 2020, https://apnews.com/bb2404f9b13c8b53b94c73f818f6a0b7

[3] Sullivan, John, Tate, Julie and Jenkins, Jennifer. "Fatal Police Shootings of Unarmed People Have Significantly Declined, Experts Say." Washington Post. 8 May 2018, 6 June 2020, https://www.washingtonpost.com/investigations/fatal-police-shootings-of-unarmed-people-have-significantly-declined-experts-say/2018/05/03/d5eab374-4349-11e8-8569-26fda6b404c7_story.html.

[4] “Mapping Police Violence.” Accessed on 9 June 2020, https://mappingpoliceviolence.org/.

[5] “1860 Census: Population of the United States.” (1864). US Census Bureau. หน้า ix, https://www2.census.gov/library/publications/decennial/1860/population/1860a-02.pdf.

[6] Timmons, Greg. "How Slavery Became the Economic Engine of the South." 18 December 2019, Accessed on 9 June 2020, https://www.history.com/news/slavery-profitable-southern-economy.

[7] Williamson, Samuel H. and Cain, Louis P. "Measuring Slavery in 2016 Dollars." Accessed on 9 June 2020, https://www.measuringworth.com/slavery.php.

[8] Hansen, Chelsea. “Slave Patrols: An Early Form of American Policing.” 10 July 2519, Accessed on 9 June 2020, https://lawenforcementmuseum.org/2019/07/10/slave-patrols-an-early-form-of-american-policing/.

[9] Hassett-Walker, Connie. “George Floyd’s death reflects the racist roots of American policing.” 2 June 2020, Accessed on 9 June 2020, https://theconversation.com/george-floyds-death-reflects-the-racist-roots-of-american-policing-139805

[10] Lee, Timothy B. and Yglesias, Matthew. "37 maps that explain the American Civil War." https://www.vox.com/2015/4/14/8396477/maps-explain-civil-war.

[11] Ginsberg, B., Lowi, T. J., Weir, M., Tolbert, C. J., and Campbell, A L. (2019). We the People: An Introduction to American Politics. New York: W. W. Norton & Company, p.163.

[13] “Republican Hope Shattered.” New York Times. 21 December 1892, Accessed on 9 June 2020, p. 1, https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1892/12/21/106894902.html?pageNumber=1.

[14] Urofsky, Melvin I. “Jim Crow law.” Encyclopædia Britannica. 13 March 2020, Accessed on 9 June 2020, https://www.britannica.com/event/Jim-Crow-law.

[15] ในความเป็นจริง โฮมเมอร์ เพลสซี่ มีเชื้อสายผิวดำอยู่เพียง 1/8 โดยเขามีทวดเป็นคนผิวดำแค่คนเดียว นอกนั้นผิวขาวหมด และตัวเพลสซี่ก็เป็นคนที่มีผิวขาว อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายรัฐหลุยเซียนา ถ้ามีเชื้อสายผิวดำอยู่ 1/8 ก็ถือว่าเป็นคนผิวดำ

[16] “Jim Crow law.” Encyclopædia Britannica. 13 March 2020, Accessed on 9 June 2020, https://www.britannica.com/event/Jim-Crow-law.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net