Skip to main content
sharethis

สำรวจ “สภาเด็กและเยาวชน” ที่เกิดขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณ อย่างไรก็ตามเมื่อทุกขั้นตอนของสภาเด็กฯ ยังอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ใหญ่และโครงสร้างภาครัฐ มากกว่าจะให้เด็กทำกิจกรรมได้เอง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับจึงยังไม่ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนเจ้าของประเด็น #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปรากฏว่ามีเด็กและเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีความตื่นตัวทางการเมืองกันสูงมาก รวมกลุ่มกันในชื่อต่างๆ เช่น กลุ่มนักเรียนเลว เยาวชนปลดแอก และธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกมาประท้วงตามท้องถนน เรียกร้อง สิทธิในการกำหนดตัวเอง เช่น การแต่งกายและทรงผมรวมตลอดถึงปัญหาต่างๆ ในโรงเรียนไปจนกระทั่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะได้กำหนดและชี้ชะตาอนาคตของประเทศไทย

สิ่งที่เด็กและเยาวชนเรียกต้องการในระยะหลังนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ “ขัดใจ” ผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก จนกระทั่งแกนนำของเด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกจับกุมคุมขังกลายเป็นอาชญากรทางการเมือง เป็นนักโทษทางความคิดกันมากมาย ดังที่เป็นข่าวเกรียวกราวในปัจจุบัน

ในขณะที่เด็กและเยาวชนมีความก้าวหน้าและตื่นตัวสูงขนาดนั้น จะมีสักกี่คนในประเทศไทยที่จะรู้ว่าในท้องถิ่นของพวกเขาแต่ละที่นั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีสภาสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อใช้เป็นที่ซึ่งพวกเขาจะแสดงออกและผลักดันกิจกรรมต่างๆได้

เด็ก (แรกเกิด-18 ปี) และ เยาวชน (18-25 ปี) ถูกกำหนดโดยกฎหมาย ให้เป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นที่มีชื่อในทะเบียนโดยอัตโนมัติ ในแต่ละปีสภาเหล่านี้จะได้รับงบประมาณนับล้านบาทเพื่อเอาไว้ให้พวกเขาทำกิจกรรมต่างๆเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง แต่ด้วยความที่ว่างบประมาณเหล่านั้นมีที่มาจากภาครัฐ ทำให้การจะออกมาเรียกร้องสิทธิหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆของสภาเด็กที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐย่อมเป็นไปได้ยาก

สารคดีชิ้นนี้จะส่องเข้าไปในกลไกของท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี เป็นตัวอย่าง เพื่อให้รู้ว่า สภาเด็กนั้นทำเพื่อเด็ก ให้เด็กทำ หรือ ผู้ใหญ่ใช้เด็กทำกิจกรรม หรือมีเอาไว้เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่

เนติธร กอผจญ (ขวา) ประธานสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต และ รองประธานสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดปทุมธานี และ พรรณิภา กลิ่นสายหยุด (ซ้าย) นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ดูแลส่วนงานสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต (ที่มา: อาทิตยา เพิ่มผล)

เนติธร กอผจญ ประธานสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต และ รองประธานสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดปทุมธานี เล่าประสบการณ์ที่ตัวเองได้เริ่มมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกิจกรรมเด็กและเยาวชนของท้องถิ่นของเขาเมื่อ 5 ปีก่อน แต่มันก็เริ่มต้นแบบไม่ประสีประสาเพราะมีเพื่อนชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 4 จากนั้นเขาจึงได้เรียนรู้และมีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรม ได้เป็นผู้ช่วยประธานสภาเด็กฯ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาเด็กของเทศบาลนครรังสิตและต่อมาขึ้นเป็นรองประธานสภาของเยาวชนระดับจังหวัดเมื่อช่วงต้นปี 2565

สภาเด็กและเยาวชนแตกต่างจาก “สภา” ในความหมายทั่วไป ที่มักหมายถึงหน่วยการเมือง ที่มีเอาไว้เพื่อใช้เป็นที่ซึ่งผู้แทนของประชาชน หรือ กลุ่มชนต่างๆ จะมาประชุม พูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ใดๆกัน แต่สภาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นมา เพราะมีกฎหมายบังคับให้ต้องมี กล่าวคือพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรกที่ออกมาในปี 2550) กำหนดให้ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ

กฎหมายกำหนดให้ สภาเด็กมีลำดับชั้นล้อไปกับองค์การปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น คือ สภาเด็กและเยาวชนตำบล เทศบาล อำเภอ เขต จังหวัด สภาเด็กกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กแห่งประเทศไทย สภาเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและใช้งบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด และ นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน ให้คำแนะนำการขับเคลื่อนงานของสภาเด็กและ เยาวชน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่สภาเด็กและเยาวชน เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา แก้ไขปัญหา และร่วมกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชน

เป็นเรื่องยากที่จะใช้สภาเด็กและเยาวชนเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นต่างๆที่ผู้ใหญ่ไม่ส่งเสริมหรือไม่เห็นด้วย เพราะสภาเด็กและเยาวชนทุกที่จะมี นายอำเภอ หัวหน้าเขตและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา ซึ่งในอีกความหมายถึงคือการควบคุมทิศทางและการดำเนินงานของสภาเด็กฯนั่นเอง

ตัวอย่าง สภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลหรือเทศบาลในกรณีของรังสิต มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560) บัญญัติว่า ให้องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล โดยคำแนะนําของหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวในแต่ละจังหวัด จัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนตำบล สภาเด็กและเยาวชนเทศบาล แล้วแต่กรณี ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลนั้น ให้มีคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบลหรือคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล ประกอบด้วย ประธานสภาหนึ่งคน และผู้บริหารอีกไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบล หรือสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล แล้วแต่กรณี โดยคำนึงถึงผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ให้มีหน้าที่บริหารงานทั่วไปของสภาเด็กและเยาวชนและปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนด

กฎหมายกำหนดให้นายอำเภอ เป็นที่ปรึกษาคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบลหรือคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล และให้แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบล หรือคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดเทศบาล (แล้วแต่กรณี) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้แทนบ้านพักเด็กและครอบครัวในแต่ละจังหวัด ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้แทนสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลนั้น และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีกิจกรรมหรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบลหรือคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลเสนอ

เนติธร กล่าวว่า “จากการทำงานขับเคลื่อนในหลายปีที่ผ่านมา ช่วงต้นปี 2565 ผมก็ได้รับความไว้วางใจจากน้องที่มาร่วมงานคัดเลือกสภาเด็กเเละเยาวชนจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต”

“ตอนเลือกประธานนั้นไม่ได้มีการหาเสียงเหมือนการเลือกตั้งทั่วๆ ไปของผู้ใหญ่ เพียงเเต่พูดถึงผลงานโดยรวมเเละเเสดงผลงานต่างๆที่เคยทำ ว่าที่เข้าร่วมเเละได้รับมานั้น มันมีประโยชน์ต่อตัวเราเเละสังคมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเรายังไง น้องๆส่วนใหญ่ที่เลือกผมให้ดำรงตำเเหน่งประธาน ก็เคยได้ร่วมงานมาด้วยกันหลายปี จนน้องๆ ไว้วางใจในตำเเหน่งตรงนี้เเละได้โหวดให้ผมได้รับตำเเหน่งนี้มาและเมื่อได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กของเทศบาลหรือตำบลเพื่อนๆประธานจากเทศบาลอื่นๆ ในจังหวัดปทุมธานีก็มาเลือกตั้งประธานสภาเด็กระดับอำเภอ และประธานสภาเด็กระดับจังหวัด โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดปทุมธานีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย”

เนติธร มีประสบการณ์ในสภาเด็กและเยาวชนของท้องถิ่นปทุมธานีค่อนข้างนาน จนปัจจุบันเขามีอายุ 22 ปี (เมื่ออายุครบ 25 ปีเขาจะพ้นนิยามการเป็นเยาวชนตามกฎหมาย) เรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษาในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เขาเล่าว่า เมื่อเข้ามารับตำเเหน่งเเล้วปัญหาที่พบเจอในระหว่างที่ดำรงตำเเหน่ง สมาชิกและทีมงานไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรมหรือแสดงออกอะไร แถมบางคนเข้ามาเพื่อเเค่ให้มีชื่อเพื่อจะนำไปขอใบรับรองการเป็นสภาเด็กเพียงเเค่นั้น ในบางครั้งคนในทีมก็ไม่ได้สนใจงานมากนัก

“เวลามีผู้ใหญ่สงสัยเข้ามาถามว่าทำไม คณะบริหารมี 21 คน แต่กลับมาทำกิจกรรม หรือเปิดโครงการของโครงสภาเด็กเองกับมีมาไม่ถึง10 คนเลย ซึ่งเป็นปัญหาที่เเก้ยากมากๆ ครับ” เนติธร กล่าว

ประธานสภาเด็กเทศบาลนครรังสิตเล่าต่อว่า การทำโครงการ ในระดับเทศบาลตำบล อำเภอ จังหวัด จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของจำนวนกลุ่มเป้าหมายของการจัดโครงการ เช่นในระดับตำบล กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก 50 คน ในระดับอำเภอก็จะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น แต่การทำงานโดยรวมไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยเวลาส่วนมากจะเป็นการทำงานกับระดับตำบล เนื่องจากระดับจังหวัดนานๆทีจะมีโครงการมาให้ไปเข้าร่วม บางครั้งต้องรองบประมาณที่เขียนโครงการไป ทำให้ไม่มีกิจกรรมบ่อยเท่าระดับเทศบาล

การทำกิจกรรมจะได้งบประมาณมาจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน และเทศบาลนครรังสิตส่วนหนึ่ง โดย 1 ปีมีประมาณ 2-3 โครงการ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ซึ่งเป็นโครงการที่ได้จากการโหวตเลือกในที่ประชุมประจำปี แล้วแต่ละคนแบ่งหน้าที่กันในการทำงาน เช่น ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายพิธีการ ฝ่ายประสานงาน เป็นต้น”

อะไรนะ สภาเด็ก

พรรณิภา กลิ่นสายหยุด (กลาง) นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ดูแลส่วนงานสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต (ที่มา: อาทิตยา เพิ่มผล)

อามีนา กาเซะ ผู้จัดการโครงการ Pathum Young Care บริษัท Influencer – all’s think space (ที่มา: อาทิตยา เพิ่มผล)

พรรณิภา กลิ่นสายหยุด นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ดูแลส่วนงานสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า “ก่อนมาทำงานนี้ก็ไม่รู้จักสภาเด็กและเยาวชนมาก่อนเลยเหมือนกัน เคยได้ยินผ่านหูจากอบต.แถวบ้าน แต่ไม่รู้ว่าสภาเด็กทำอะไร คิดว่ามีเด็กที่ไม่รู้จักสภาเด็กอีก ประมาณ 50 % เลย”

อามีนา กาเซะ ผู้จัดการโครงการ Pathum Young Care บริษัท Influencer – all’s think space ซึ่งทำงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชน ยืนยันเช่นนั้นเหมือนกัน “จากการทำงานกับเด็กในจังหวัดปทุมธานีมา มีเด็กบางคนที่ยังไม่รู้จักสภาเด็ก อย่างเด็กที่เป็นเด็กกิจกรรมที่ไปสายสภานักเรียน หลายคนก็ไม่รู้จักกับสภาเด็ก จะมีเด็กกิจกรรมที่ทำงานกับส่วนกลาง หรือเด็กในชุมชนที่มีกิจกรรมจากสภาเด็กไปจัด ถึงจะรู้จักกับสภาเด็ก แล้วพอมีตัวแทนเด็กจากอำเภอ ตำบลต่างๆมาเข้าร่วม ทำให้ดูเป็นกลุ่มเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งคือถ้าเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมที่ประกาศว่าเป็นของสภาเด็ก เขาจะไม่รู้สึกว่าเขาเป็นสมาชิกของสภาเด็กทั้งๆ ที่เด็กทุกคนเป็นสมาชิกของสภาเด็กโดยอัตโนมัติ”

โครงสร้างสภาเด็กและเยาวชน

สมาชิก: เด็ก (อายุแรกเกิด – 18ปี) และเยาวชน(ตั้งแต่ 18 – 25 ปีบริบูรณ์) ทุกคนที่มีชื่ออยู่ใน ทะเบียนบ้าน (ทร.14) เป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบลหรือเทศบาล

การดำเนินงาน: คณะบริหารประกอบด้วยประธานสภาหนึ่งคน และผู้บริหาร อีกไม่เกิน 20 คน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน

งบประมาณ: ได้รับจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสนับสนุนของภาคเอกชน

แนวคิด: เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน

อำนาจหน้าที่สภาเด็กและเยาวชนระดับเทศบาล

- ประสานงานระหว่างสภาเด็กและเยาวชนตำบล สภาเด็กและเยาวชนเทศบาล สภาเด็ก
และเยาวชนอำเภอ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน

- ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการ การศึกษา สุขภาพ กีฬา
อาชีพ และวัฒนธรรมในท้องถิ่นของเด็กและเยาวชน

- ส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกอย่างสอดคล้องกับความรู้ความสามารถที่พัฒนาไปตามวัยของเด็กหรือเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

- จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความสามารถ รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรม

- รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ หรือประเมินเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่
เพื่อส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้กับสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ

- เสนอความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน
รวมทั้งการแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่

- เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา
เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น

- เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและองค์กร
เอกชนหรือองค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่

- ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและการดําเนินงานตามอำนาจหน้าที่ โดยให้คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบลหรือคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับข้อบังคับของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

สภาเด็กทำงานอย่างไร?

ในฐานะผู้ปฏิบัติโดยตรง เนติธร เล่าว่า พวกเขาจะมีการประชุมร่วมกันทั้งสภาเด็กและเจ้าหน้าที่ ให้เด็กเสนอหัวข้อที่ตนเองสนใจแล้วโหวตในไลน์กลุ่ม โครงการนั้นมีทั้งส่วนที่เด็กเป็นคนเขียนเอง และมีตัวอย่างโครงการที่เคยทำมาก่อน บางครั้งโครงการไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณเนื่องจากตั้งงบไว้สูงเกินไป ตัวอย่างโครงการที่เด็กอยากให้มีเพิ่มคือการให้ความรู้เรื่องการสูบบุหรี่ให้สถานศึกษามีความผิดอะไรบ้าง

ผู้ใหญ่อย่างพรรณิภา บอกว่าวิธีการทำงานนั้นจะมีจัดประชุมประจำปี หรือประชุมโครงการเวลาได้งบประมาณมา เช่นจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ทำโครงการป้องกันและแก้ไขท้องในวัยเรียน บางครั้งทีมงานสภาเด็กระดับตำบลก็ไปเข้าร่วมกับอำเภอซึ่งจัดโครงการเดียวกัน หรือระดับจังหวัดก็จัด

“น้องๆ บางคนก็ขอเปลี่ยนโครงการเป็นเรื่องการยุติความรุนแรง เพราะพื้นที่ของเราใหญ่ และพบปัญหาแบบนี้ ซึ่งเราก็จะให้น้องมีส่วนร่วมตลอด ให้น้องๆ โหวตกัน เราเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษา ให้เป็นไปตามขั้นตอนการทำโครงการ” พรรณิภา เล่า

สุภชา พรหมศร หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดปทุมธานี  (ที่มา: อาทิตยา เพิ่มผล)

สุภชา พรหมศร หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดปทุมธานี บอกกว่า มีโครงการที่เด็กเสนอกันเข้ามาค่อนข้างหลากหลาย เช่น เทคนิคการเป็นวิทยากร และโครงการเสริมสร้างทักษะนักขายออนไลน์วัยใส ซึ่งน้องๆเป็นผู้เขียนโครงการ ดำเนินการกันเอง โดยมีเราเป็นที่ปรึกษา และได้มีการฝึกอบรมร่วมกับคุณแม่วัยใส เพื่อสนับสนุนให้เขามีงานทำอีกด้วย

อามีนา เล่าถึงการทำงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่เธอจะไปในฐานะวิทยากร โดยกลุ่มเป้าหมายที่มาเข้าร่วมโครงการด้วย ส่วนหนึ่งก็มาจากสภาเด็กที่อยากขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ รวมตัวกันและส่งโครงการของบประมาณ เพื่อไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่เด็กที่มาเข้าร่วมจะมาจากระบบโรงเรียน มีน้องๆ จากสภาเด็กเหมือนกันที่สนใจทำโครงการกับเราเพื่อนำงบประมาณไปจัดอบรม ซึ่งของเรา จะมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ผู้รับ ไม่ใช่แค่การบรรยายอย่างเดียว

จังหวัดปทุมธานี มีการรับงบประมาณจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน จำนวนทั้งสิ้น 935,000 บาท แบ่งเป็นของจังหวัด 182,800 บาท ประกอบด้วย

- โครงการเทคนิคการเป็นวิทยากร 40,000 บาท
- โครงการ ID-Sign 15,000 บาท
- โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 15,000 บาท
- โครงการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น 15,000 บาท
- โครงการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพสภาเด็กฯ ปทุมธานี 62,800 บาท
- โครงการเสริมสร้างทักษะนักขายออนไลน์วัยใส 20,000 บาท
- โครงการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น 15,000 บาท โดยงบประมาณของสภาเด็กในระดับจังหวัดขับเคลื่อนโดยบ้านพักเด็กเอง

งบประมาณในส่วนของอำเภอ 222,200 บาท ระดับตำบลและเทศบาล 530,000 บาท จะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนท้องถิ่น มาช่วยจัดตั้ง และส่งโครงการขอรับงบสนับสนุน 3 แบบ คือ S = 10,000 บาท M = 15,000 บาท และ L = 20,000 บาท จังหวัดปทุมธานีมีทั้งหมด 64 พื้นที่ ในปี 2566 มี 43 พื้นที่ที่จัดกิจกรรม

แนวทางในการจัดโครงการ/กิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21

โดยให้สภาเด็กและเยาวชนทุกระดับดำเนินการดังนี้

1. จัดทำแผนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายในระยะเวลาที่ บ้านพักเด็กและครอบครัว (บพด.) กำหนด ทั้งนี้ ถ้าหากสภาเด็กและเยาวชน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานอื่น ๆ ให้ดำเนินการบรรจุ โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงในแผนการดำเนินงานฯ ดังกล่าวด้วย

2. เสนอแผนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2566 ให้ บพด. อนุมัติ และสั่งจ่าย เช็คให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

3. รับเช็คจาก บพด. หรือ หน่วยงานที่เบิกจ่ายแทน แล้วนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคาร

4. ดำเนินการจัดโครงการ/กิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงานฯ

5. รายงานผลการดำเนินงาน พร้อมเอกสารการเบิกจ่าย ให้กับ บพด. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ดำเนิน โครงการ/กิจกรรมแล้วเสร็จ

ลักษณะโครงการ/กิจกรรมในแผนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. โครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กฯ กำหนด เช่น

1.1 การประชุมคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
1.2 การประชุมสามัญประจำปีของสภาเด็กและเยาวชน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ยกเว้น สภาเด็กและเยาวชน แห่งประเทศไทย อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
1.3 การประชุมสมัชชาเด็กและเยาวชน
1.4 การประชุมจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีของสภาเด็กและเยาวชน หรือการประชุมถอดบทเรียน/ แลกเปลี่ยนเรียนรู้

2. โครงการ/กิจกรรมในประเด็นปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ ประกอบด้วย

2.1 การพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชน
2.2 การพัฒนาเด็ก เยาวชน ชุมชน และสังคม
2.3 จิตอาสาและการบำเพ็ญประโยชน์
2.4 การส่งเสริมอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.5 การส่งเสริมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม
2.6 การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.7 กิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ
2.8 สื่อสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาเด็ก เยาวชน ชุมชน และสังคม

3. โครงการ/กิจกรรมเชิงประเด็นเร่งด่วนของรัฐบาลหรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกอบด้วย

3.1 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
3.2 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
3.3 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

เงื่อนไขในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน

1. โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา สามารถดำเนินการได้ แต่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทุกกรณี ยกเว้นเป็นการฝึกอบรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะด้านกีฬาให้กับเด็กและเยาวชนจึงสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้

2. โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาดูงาน ต้องศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดตนเองเท่านั้น

3. โครงการ/กิจกรรมการบูรณาการโครงการเข้าด้วยกัน (งบประมาณหลายแหล่งมารวมจัดเป็นโครงการเดียว) สามารถกระทำได้ แต่ต้องแบ่งค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนกันได้ ต้องสามารถตอบวัตถุประสงค์ ของแต่ละแหล่งที่มางบประมาณได้

ที่มา: ข้อมูลจาก สุภชา พรหมศร หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว

ชุมชนมีส่วนร่วม

โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (ที่มา: อาทิตยา เพิ่มผล)

โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม เล่าว่า ทางมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่และองค์กรส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ ขับเคลื่อนโครงการ “พัฒนาตำบลต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน” ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต) และสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล รวม 31 แห่งทั่วประเทศ สร้างระบบสนับสนุนเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เพื่อพัฒนายกระดับเป็นตำบลแห่งการเรียนรู้ หรือ “ตำบลต้นแบบ”

มีท้องถิ่นที่พร้อมทำที่สนใจงานเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ ทำงานกับคนสามกลุ่มไปพร้อมๆกัน กลุ่มแรกคือนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มที่สองคือข้าราชการท้องถิ่น สามคือกลุ่มเด็กและเยาวชน  คนสามกลุ่มนี้มีช่องว่าง เราจะทำอย่างไรให้เขามานำร่วมกันให้ได้ คือให้คนรุ่นใหญ่กับคนรุ่นใหม่มานำร่วมกัน ฝั่งการเมืองกับข้าราชการก็ต้องทำงานร่วมกันให้ได้

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือพื้นที่พิเศษอย่างหนึ่ง มีผู้นำมาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าเขายึดโยงกับเยาวชน คนที่มีสิทธิเลือกตั้งก็เป็นพ่อแม่เด็ก เด็กก็เป็นคนที่มีสิทธิในอนาคต ซึ่งหลายคนเอาด้วยนะ เขามีอำนาจ เขาอยากทำนะ แต่หลายครั้งโครงการก็ต้องพับลงไปเพราะข้าราชการไม่อยากทำ เพราะเงินเดือนเขาก็ได้เท่าเดิม แต่งานเพิ่ม” โชติเวชญ์ กล่าว

ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า หัวใจของการดำเนินการ จะต้องพยายามสร้างกระบวนการให้เด็กและเยาวชนใช้ความคิด และการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน และสามารถนำเสนอความคิดจากการร่วมกันพูดคุยของสภาเด็กและเยาวชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ดำเนินการและให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากประสบการณ์การทำงานของสภาเด็กและเยาวชน การได้รับการสนับสุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ช่วยประสานงานกับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนั้นง่ายต่อการทำกิจกรรมและได้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน

“หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน  คือการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการส่งเสียง สะท้อนปัญหา มีส่วนร่วมออกแบบนโยบายแก้ไขปัญหาในชุมชน เพื่อสร้างท้องถิ่นแห่งอนาคต”

อามีนา ผู้จัดการโครงการ Pathum Young Care กล่าวว่าบริษัทมีการสนับสนุนงบประมาณให้เด็กและเยาวชนใน จ.ปทุมธานี เพื่อทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ใน 9 ประเด็นหลัก จำนวน 30 โครงการ จำนวนเงินประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ต่อโครงการ มีกระบวนการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ความรู้ เสริมทักษะ พัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เยาวชนไปทำงานโครงการของตัวเองในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังมีทีมหนุนเสริม มีทีมพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนอย่างเป็นมิตรและใกล้ชิด

“เราเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในปทุมธานี ได้มาทำกิจกรรมเรียนรู้พัฒนาตัวเอง เพื่อไปพัฒนาสังคมรอบข้างต่อ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) จากที่ได้ทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเห็นว่าปทุมธานีเป็นจังหวัดที่น่าสนใจมาก อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่กลับมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากที่ยังขาดโอกาส ภายในจังหวัดมีพื้นที่ ผู้คน ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งเราแบ่งออกได้เป็น 3 โซน คือ โซนเมือง เป็นเด็กปริมณฑลที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ โซนพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นกลุ่มเด็กที่ครอบครัวย้ายถิ่นฐานจากที่อื่นมาทำงานในโรงงาน และโซนเกษตรกรรม ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นเดิม เราจึงอยากทำงานร่วมกับความหลากหลายนี้ ให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเด็กในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด” อามีนา กล่าว

เธอกล่าวว่า ถ้ามีโครงการที่ให้น้องได้เรียนรู้ผ่านการใช้โครงการเป็นฐาน ก็น่าจะดี เช่นโครงการที่ทำกับเด็กนักเรียน ป.5 ให้น้องๆเรียนรู้การจัดการการเงิน ทำแบบประเมินง่ายๆ ตอนแรกก็กังวลว่าจะทำได้ไหม แต่จากผลตอบรับของเด็กๆแล้ว สิ่งที่เขาสนุกที่สุดคือการทำเอกสารการเงิน และนอกจากการทำโครงการของเขาแล้ว ยังได้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆจากโรงเรียนต่างๆที่ทำโครงการในจังหวัดปทุมธานีอีกด้วย

ถ้าหากจะให้สรุปรวบยอดว่า ทำไมสภาเด็กและเยาวชนจึงไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ บรรดาคนทำงานอย่าง เนติธร ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครรังสิต ที่อยู่กับสภาเด็กมานาน พรรณิภา นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติ ซึ่งเป็นข้าราชการ พูดตรงกันว่ายังประชาสัมพันธ์ไม่ดีพอ อาจจะต้องเพิ่มการเข้าหาและเข้าถึงเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้มากขึ้น

โครงการฝึกอบรมสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครรังสิต (ที่มา: แฟ้มภาพ)

สภาเด็ก เด็กจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร?

แต่หากจะมองให้ลึกไปกว่านี้จะเห็นได้ว่า สภาเด็กมีส่วนของความต้องการของผู้ใหญ่ที่ต้องการกำหนดแนวทางในการพัฒนาเด็ก ไม่ได้เกิดจากความริเริ่มหรือเรียกร้องต้องการของเด็กทั้งหมด  แนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งมีอยู่ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2560) นั้นบังคับเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การดำเนินการพัฒนาเด็กและเยาวชน หรือ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นไกด์ไลน์ให้กับสภาเด็กและเยาวชนนั้นจะต้องเป็นไปในทิศทางที่รัฐเป็นผู้กำหนดเท่านั้น

เช่น ในขณะที่กำหนดให้เด็กและเยาวชนวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย (มาตรา 4 วงเล็บ 1) แต่ในทางปฏิบัตินั้นภาครัฐมีการขัดขวางไม่ให้เด็กและเยาวชนรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องตามแนวทางประชาธิปไตย และยังพบการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนกันอย่างกว้างขวาง กฎหมายกำหนดอย่างชัดเจนให้เด็กและเยาวชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยแต่เน้นให้รู้จักเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้ง กฎหมาย กฎเกณฑ์ และกติกาในสังคม เป็นข้อสังเกตว่ากำหนดโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเสียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ การดำเนินงานของสภาเด็กในทุกลำดับชั้น ทุกขั้นตอน จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ใหญ่ ซึ่งคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค หรือ ส่วนท้องถิ่น ก็ล้วนแล้วแต่ต้องทำตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมตามแนวทางในการจัดโครงการ/กิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนมากกว่าจะมีโครงการให้ให้เด็กรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างเสรี ทำกิจกรรมด้วยตัวเอง 100 %

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและผู้ดำเนินงานกับเด็กและเยาวชนต้องย้อนกลับมามองว่า ทำไมสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติจึงยังไม่ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net