Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 เรื่อง ความคืบหน้าจากการเคลื่อนไหวของพีมูฟ และข้อเรียกร้องที่ยังไม่บรรลุผล

10 ก.พ. 2567 เพจขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move รายงานว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ออก แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 7 เรื่อง ความคืบหน้าจากการเคลื่อนไหวของพีมูฟ และข้อเรียกร้องที่ยังไม่บรรลุผล ระบุว่าเข้าสู่วันที่ 6 ของการปักหลักชุมชนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เพื่อยืนยันผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้าการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย 10 ด้าน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ต.ค. และ 16 ต.ค. 2566 ซึ่งยังล่าช้า คืบหน้าน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต จนเราต้องออกมาถวงถามความคืบหน้าอีกครั้งด้วยการชุมนุมเป็นครั้งที่สองในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ปักหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2567 เป็นต้นมา

ณ วันนี้ พีมูฟขอรายงานความคืบหน้าจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของเราต่อสาธารณะ ว่าเรามีความคืบหน้า ไม่คืบหน้า หรือความถดถอยในการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง โดยเริ่มจากสิ่งที่คืบหน้าและพอจะเห็นกรอบเวลาการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งผลการเจรจาเป็นแนวทางให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้นำไปปฏิบัติ โดยให้เร่งแก้ไขปัญหากรณีของพีมูฟที่อยู่ในกระทรวงทั้ง 169 กรณีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้ยึดมติ ครม. ของภาคประชาชนและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง จนหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ได้มีการประชุมคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าวโดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน ซึ่งการประชุมราบรื่นและพอจะเห็นความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาประชาชน

นอกจากนั้นยังมีการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยเห็นความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาด้านคดีความ และการหาแนวทางให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบนได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตาคือความล่าช้าของการดำเนินการซึ่งทำให้ชาวบางกลอยไม่สามารถกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนได้ภายในปีนี้ และท่าทีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่น่าไว้วางใจ ความท้าทายคือคณะกรรมการอิสระฯ จะกำกับ ติดตาม การดำเนินงานในทางปฏิบัติให้เป็นไปตามมติได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนข้อเสนอหลักอย่างเรื่องการเดินหน้าโฉนดชุมชน ซึ่งในการเจรจากับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งท่าทีดูไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ และอาจไม่เดินหน้าต่อเรื่องโฉนดชุมชน อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นได้มีสัญญาณจากฝ่ายรัฐบาลว่าจะเดินหน้าต่อ โดยมอบหมายให้ ธนสาร ธรรมสร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในการประชุมคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งจะมีตัวแทนพีมูฟ 20 คน เข้าร่วมประชุมกับ ธนสาร และหน่วยงานต่างๆ ด้วย ทั้งนี้เพื่อเดินหน้ายกร่างแนวทางหรือระเบียบว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

ส่วนข้อเรียกร้องให้เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินแปลงรวมหรือโฉนดขุมชน  ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และจัดทำแนวทางและขั้นตอนการเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐทุกประเภท เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 56 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่  9 ม.ค. 2567 เพื่อให้สามารถเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตัวแทนรัฐบาลประสานงานมาว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในวันที่ 16 ก.พ. และหากแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 ก.พ. นี้ ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการตามนี้หรือไม่ ยังเป็นเพียงการประสานงานแจ้งความคืบหน้า เราจึงยังต้องปักหลักชุมนุมเพื่อรอให้การดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ เนื่องจากเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตามยังมีกลไกการแก้ไขปัญหาที่นัดวันประชุมแล้ว ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ซึ่งจะประชุมในวันที่ 16 ก.พ. และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและคณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะประชุมในวันที่ 18 ก.พ. 2567

ส่วนเรื่องที่ยังไม่มีความคืบหน้าเลย คือการกำหนดวันประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดประชุม หรืออย่างน้อยต้องมีการวัดวันประชุมภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการเปิดประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของเราตั้งแต่วันแรกที่เริ่มชุมนุม

สุดท้ายนี้ มีข้อเรียกร้องของเราซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของนากยรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน คือการลงนามรับรองร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมีพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ซึ่งเราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องลงนามภายในวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีการประชุม ครม.

เราขอยืนยันว่าเราจะปักหลักชุมนุมจนกว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดของเราจะบรรลุ ซึ่งอันที่จริงการแก้ไขปัญหาทั้งหมดควรจะเสร็จสิ้นตั้งแต่ 3 เดือนแรกหลังการชุมนุมครั้งแรกของเราในรัฐบาลเศรษฐาแล้ว ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ พวกเราจะสั่งสมกำลังพี่น้องจากทางบ้านให้เข้ามาสมทบมากขึ้น เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องในวันทำการตามระบบราชการไทย และพร้อมจะปักหลักอย่างยาวนานยิ่งกว่านี้เพื่อสร้างหลักประกันทางนโยบายว่าเราจะยังสามารถรักษาผืนดินถิ่นอาศัยของเราสู่ลูกหลานต่อไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net