Skip to main content
sharethis

ชมรม K3P ชวนติดตามเจรจาสันติภาพไทย-BRN 6-7 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมจับตาข้อตกลงตามกรอบ JCPP การลดการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย แนวทางแก้ไขทางการเมือง และ การปรึกษาหารือกับประชาชน แนะภาคประชาสังคมเป็นผู้ควบคุมกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชน คู่โดยกรณีทั้งสองฝ่ายควรเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการปรึกษาหารือกับประชาชนจริง ๆ ด้าน กอ.รมน.ภาค 4 เสนอแผนรอมฏอนสันติสุข-สงกรานต์ ต้องหารือกลไกการปรึกษาหารือสาธารณะร่วมกัน โต๊ะพูดคุยวันแรกหัวหน้าคณะพูดคุย BRN นำทีมสวมชุดมลายูหารือกับฝ่ายไทย

ชมรมผู้สนับสนุนสันติภาพปาตานี (Kelap Penyokong Perdamaian Patani, K3P) ชวนจับตาการเจรจาสันติภาพระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็น กับคณะพูดคุยของฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ. 2567 นี้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยมีฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ที่ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อไม่นานมานี้

ชมรมผู้สนับสนุนสันติภาพปาตานี ซึ่งเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ได้ระบุในแถลงการณ์ซึ่งเผยแพร่ทางเพจของชมรมระบุว่า ยังไม่สามารถประเมินความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญได้จนกว่ากระประชุมอย่างเป็นทางการครั้งนี้มีความคืบหน้าในประเด็นหลักซึ่งเป็นบรรทัดฐาน

สำหรับ“ผลลัพธ์ (output)” ของการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 6 เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีที่แล้ว (กุมภาพันธ์ 2566) โดยฝ่ายคณะพูดคุยของไทยกับผู้อำนวยความสะดวกประกาศว่า คู่กรณีหลักทั้งสองฝ่าย (รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น) ได้ตกลงเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ “JCPP” (Joint Comprehensive Plan towards Peace) ซึ่งเข้าใจกันว่า ในแผนปฏิบัติการดังกล่าวในขณะนั้นแค่ระบุรายการหัวข้อกับหัวข้อย่อยเท่านั้น

โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่

1) การลดการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย

2) แนวทางแก้ไขทางการเมือง และ

3) การปรึกษาหารือกับประชาชน

พร้อมสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ

ชมรมฯ ระบุว่า ประเด็นสารัตถะ 3 ข้อนี้ต้องได้รับการพิจารณาโดยเชื่อมโยงกันทุกข้อในกรอบเดียวกัน ทุกฝ่ายทราบกันว่ามีการพูดคุยระหว่างคู่กรณีหลักอย่างไม่เป็นทางการตามความคาดหวังที่อยากให้กระบวนการสันติภาพมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญและมีศักดิ์ศรี และประชาชนปาตานีก็คงจะต้อนรับการพัฒนาเชิงบวกเช่นนี้

ตั้งแต่หลายเดือนก่อน องค์กรภาคประชาสังคมปาตานีเริ่มแสดงความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพอย่างมีความหมาย มีการจัดเวทีเสวนาต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการเจรจา และได้ยื่นข้อเสนอให้แก่ตัวแสดงหลักในโต๊ะเจรจา (ได้แก่ รัฐบาลไทย บีอาร์เอ็นและผู้อำนวยความสะดวก) ซึ่งทั้งสามฝ่ายไม่ควรมองข้ามข้อเสนอฉบับนี้ เพราะเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders)” ประชาคมปาตานีเป็นที่มาของแหล่งบันดาลใจสำหรับกระบวนการเจรจาเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี

แนะให้ภาคประชาสังคมควบคุมการปรึกษาหารือกับประชาชน

ชมรมแถลงด้วยว่า ประชาชนปาตานีคาดหวังว่าการเจรจาครั้งนี้จะมีความต่อเนื่อง และอยากให้มีข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากคู่กรณีหลัก จากนั้นเปิดโอกาสให้มีการพิจารณารายละเอียดและหลักการพื้นฐานของ JCPP ในการเจรจาครั้งต่อไป โดยประชาชนปาตานี/ภาคประชาสังคมพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

“ภาคประชาสังคมต้องเป็นผู้ควบคุมกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชน คู่กรณีทั้งสองฝ่ายควรเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการปรึกษาหารือกับประชาชนจริง ๆ”

คลิกอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ Kelab Penyokong Perdamaian Patani DS.

ด้าน กอ.รมน.ภาค 4 เสนอแผนรอมฏอนสันติสุข-สงกรานต์

            ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรม ซีเอส.ปัตตานี พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเป็นคณะพูดคุยและเลขานุการร่วมในคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวระหว่างประชุมคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (คณะประสานงานการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ หรือ สล.3 เดิม) ว่า การพูดคุยครั้งนี้จะสอดรับกับ 2 ห้วงเวลาสำคัญคือ เดือนรอมฎอน และเทศกาลสงกรานต์ จึงเตรียมจะนำเสนอเรื่องนี้ในประเด็นการยุติความรุนแรงในที่การพูดคุยด้วย

ขณะที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นผอ.รมน.ภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 ได้จัดทำแผนรอมฎอนสันติสุขทั้งก่อน ระหว่างและหลังเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่ โดยหวังว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับ และยุติเหตุรุนแรงครอบคลุมต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการปรึกษาหารือสาธารณะอย่างสร้างสรรค์

ต้องหารือกลไกการปรึกษาหารือสาธารณะร่วมกัน

พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ เปิดเผยด้วยว่า ตนได้รับแต่งตั้งจากนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการพูดคุยมาอย่างต่อเนื่อง เข้าใจกระบวนการอย่างดี และมาจากกองทัพโดยตรง

พล.ท.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการปรึกษาหารือสาธารณะนั้น ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องมาออกแบบร่วมกันว่าจะทำอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องยึดหลักกฎหมาย และต้องพิจารณาอย่างละเอียดหากจะให้ทางฝ่าย BRN เข้ามาจัดเวทีโดยตรงอาจจะผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นเชื่อว่าอนาคตกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะจำเป็นต้องมีกลไกเฉพาะขึ้นมา โดยจะมีการให้การรับรองทางกฎหมายด้วย

“เรื่องนี้ยากที่สุดเพราะเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายและเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายด้วย ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียด” พล.ท.ปราโมทย์ กล่าว

หัวหน้าคณะพูดคุย BRN นำทีมสวมชุดมลายูหารือกับฝ่ายไทย

สำหรับการพูดคุยในวันแรก 6 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สำนักข่าว The Reporters รายงานว่า อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN นำทีมสวมชุดมลายูหารือกับฝ่ายไทย เพื่อเป็นการชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายู ท่ามกลางการดำเนินคดีปิดปากนักกิจกรรมที่ร่วมจัดกิจกรรมแต่งชุดมลายูในเทศกาลฮารีรายอ ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แต่ยังไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ เพราะยังอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net