Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' เผยเตรียมออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 พร้อมคาดโทษหากไม่ปฎิบัติตาม ย้ำหารือเรื่องแก้ปัญหากับกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง - สอท. ณ ย่างกุ้งจับมือกรมควบคุมมลพิษ จัดอบรม จนท.พม่า แก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 ว่าเวลา 10.05 น. ณ ท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 (บน6) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงความคืบหน้าปัญหาฝุ่น หมอกควัน ว่า เรื่องนี้คุยกันตลอด และช่วงเช้าวันนี้ได้คุยกับผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งต้องยอมรับว่า กระทรวงเกษตรและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา  ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีปัจจัยที่เทียบเท่าไทย แต่เขาใส่ใจเหมือนกับไทย และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางเยือนไทย จะมีการพูดคุยว่ามีเรื่องใดที่เราต้องช่วยเหลือ ยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุน เพราะหากเราเป็นเพื่อนบ้านกันไม่ช่วยเหลือกัน เราก็เดือดร้อนด้วย เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาโดยตลอด ก็ต้องช่วยเหลือกัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าปัญหาฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น ได้สั่งการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการสั่งการหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการ หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ สินค้าต่างๆ หากพิสูจน์ทราบได้ว่า ผลิตผลออกมามีการเผาเกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับมาตรการการช่วยเหลือ 

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือกับภาครัฐดีใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ แต่ปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจ บางคนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นหากไม่เผา ซึ่วไม้ขีดก้านเดียวมันง่ายต่อการกำจัดซากวัชพืช แต่ให้องค์ความรู้ไปแล้วในสิ่งที่เขาทำไม่ถูก และตนเองได้ขอความร่วมมือไปยังกองทัพในหลายๆ เรื่อง เช่น ช่วยลำเลียงซากวัชพืชออกมา โรงงานทำไบโอดีเซล การทำถ่านอัดถ่านไม้ควัน และทำปุ๋ย เป็นต้น

สอท. ณ ย่างกุ้งจับมือกรมควบคุมมลพิษ จัดอบรมจนท.พม่า แก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดการฝึกอบรมทางเทคนิคภายใต้โครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนจากการเผาไหม้ระหว่างไทย – พม่า (The Technical Workshop and Study Visit on Transboundary Haze Pollution Management Between Thailand and Myanmar) ที่ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจากเมียนมา จำนวน 20 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 9 ราย กระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร 2 ราย กระทรวงมหาดไทย 7 ราย และกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการชลประทาน 2 ราย

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ตามผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย–สปป.ลาว–พม่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” ของรัฐบาลไทย

ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องหลายแห่งร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บริษัทไทยคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมฝ่ายพม่าได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับวิทยากรฝ่ายไทยในหัวข้อที่สำคัญ ได้แก่ (1) แหล่งที่มา และผลกระทบของปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ต่อประชาชน (2) วิธีการติดตาม ตรวจสอบ ประมลผล รวมถึงการคาดการณ์ปัญหาฝุ่นควันด้วยระบบดาวเทียม และเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ (3) การแก้ไขปัญหาการเผาโดยการให้ความรู้ การปรับเปลี่ยนวิธีคิด การโน้มน้าววิธีการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน การใช้เทคโนโลยี รวมถึง (4) แนวทางการออกกฎระเบียบเพื่อป้องกันการเผา

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ปฏิบัติงานทั้งสองประเทศ รวมถึงการเยี่ยมชมอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อีกด้วย

ทั้งนี้ ได้มีการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมชาวพม่าที่ผ่านการฝึกอบรม โดยมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานในพิธีและผู้มอบ และนายยอดยิ่ง ศุภศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการฝ่ายพม่าได้กล่าวขอบคุณและมอบของที่ระลึกให้กับผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯ และให้การประเมินการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ในระดับพึงพอใจมาก และยังเสนอแนะให้มีการจัดโครงการต่อเนื่องในเชิงเทคนิค รวมทั้งขอให้มีการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมในระยะต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net