Skip to main content
sharethis

ตร.สอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเข้าจับกุม 6 ผู้ต้องหา  แอบอ้างเป็นประธานโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ประมาณ 28 โครงการ โดยผู้ต้องหาได้ร่วมกับชักชวนประชาชนทั่วไป ให้มาร่วมลงทุนในโครงการหลวง พบเงินหมุนเวียนกว่า 269 ล้าน

 

30 ม.ค.2567 สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ รายงานว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกันจับกุม 6 ผู้ต้องหา ฐานความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

ประกอบด้วย 1. ชยาวรรณ อายุ 60 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ 24/67 ลง 22 ม.ค.67 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา, 2. วิโรจน์ อายุ 56 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ 28/67 ลง 22 ม.ค.67 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช, 3. พิชญา อายุ 27 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ 27/67 ลง 22 ม.ค.67 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช, 4. สิงขร อายุ 53 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ 26/67 ลง 22 ม.ค.67 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา, 5. จารุเดช หรือเสกสรรฯ อายุ 41 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ 25/67 ลง 22 ม.ค.67 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ถ.พัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร และ 6. ไก่แก้ว (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ทื่ 29/67 ลง 22 ม.ค.67 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ ม.10 ต.วังเพลิง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พฤติการณ์แห่งคดี เมื่อต้นเดือน เมษายน 2565 ต่อเนื่องเดือน กรกฎาคม 2566 ชยาวรรณ ผู้ต้องหา ได้แอบอ้างว่าตนเป็นประธานโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ มีหน้าที่ถือสมุดบัญชีและบริหารโครงการต่างๆประมาณ 28 โครงการ โดยผู้ต้องหาได้ร่วมกับชักชวนประชาชนทั่วไป ให้มาร่วมลงทุนในโครงการหลวง

โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกรรมาธิการโครงการหลวง และชักชวนให้ทำการลงทุนคือ ให้สมาชิกเสียค่าใช้จ่ายเพื่อรับผลประโยชน์ประมาณคนละ 75,000-100,000 บาท เพื่อรับผลประโยชน์ 13 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ และหลังจากนั้นจะได้รับเงินจาก 50 หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 50 ล้านบาท และการลงทุนอีกรูปแบบ คือ จะนำเงินของสมาชิกไปปลดล็อกระบบเงินในบัญชี โดยจะให้ผลตอบแทนสูง เช่น ลงทุน 10,000 บาท ได้รับผลตอบแทน 4 ล้านบาท หรือ ลงทุน 10,000 บาท ได้รับผลตอบแทน 5 ล้านบาท เป็นต้น โดยมีการชักชวนสมาชิกผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ของกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งต่อมามีผู้เสียหายจำนวน 8 ราย หลงเชื่อและร่วมลงทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 787,090.34 บาท

ต่อมาผู้เสียหาย ได้สอบถามไปยังกลุ่มของผู้ต้องหาซี่งอ้างว่าเป็นผู้บริหารของโครงการต่างๆ ถึงเงินที่จะได้รับ แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา และไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงเอาทรัพย์สินไป จึงได้มาพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ.เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับ ชยาวรรณฯ กับพวก ให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ขออนุมัติศาลจังหวัดปทุมธานี ออกหมายจับ ชยาวรรณ กับพวก รวม 6 หมาย

จนกระทั่งวันที่ 26 ม.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. นำกำลังเข้าตรวจค้นจำนวน 7 จุด ในพื้นที่ กทม. , ฉะเชิงเทรา , ลพบุรี , นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้ง 6 รายตรวจยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทรัพย์สินที่น่าเชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิด จำนวนกว่า 100 รายการ อาทิ เช่น สมุดบัญชี 54 เล่ม,รถยนต์หรู 3 คัน คอมพิวเตอร์ 17 เครื่อง,กระเป๋าแบรนด์เนม 5 ใบ,นาฬิกาหรู 2 เรือน,แหวนเพชร 1 วง ,กล้อง DSLR 5 ตัว เหรียญเฉลิมพระชนพรรษา 100 ชิ้น ,โฉนดที่ดิน 4 ฉบับ ในพื้นที่ จ.พัทลุง จ.สงขลา มูลค่ากว่ารวม 16 ล้านบาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการสืบสวนพบว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีจารุเดชหรือเสกสรร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ สั่งการให้ชยาวรรณ ซึ่งเป็นอดีตพนักงานบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง อ้างตนเป็น “นายใหญ่” เป็นผู้ดูแล ประสานงานของมูลนิธิฯ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะชักชวนเข้ากลุ่มไลน์ต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง , โครงการในดวงใจ, หัวใจพระราชา เป็นต้น ซึ่งในไลน์กลุ่มชยาวรรณ กับพวก จะส่งภาพถ่ายขณะประชุมงาน โดยแอบอ้างว่าเป็นการประชุมของมูลนิธิฯ บางครั้ง ก็แอบอ้างว่าเป็นการประชุมกับผู้ใหญ่รัฐบาล จากการตรวจสอบพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อเข้าเป็นสมาชิกในไลน์กลุ่ม และโอนเงินให้ชยาวรรณ จำนวน 900 กว่าราย เป็นเงินประมาณ 269 ล้านบาท โดยชยาวรรณ ใช้บัญชีธนาคารของตนเองเป็นบัญชีรับโอนเงินลงทุนจากผู้เสียหาย ก่อนจะโอนต่อไปยังบัญชีของนางไก่แก้วฯ จากนั้น จารุเดชหรือเสกสรร จะสั่งการให้ไก่แก้ว โอนเงินจากการหลอกลวงดังกล่าวให้ตนเอง แล้วโอนต่อจะกระจายไปยังบัญชีบริษัทต่างๆของตนเองอีก จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์และผลิตสื่อมีเดีย ,บริษัทเพลง บริษัทผลิตเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง โดยนำเงินที่ได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจ ซื้อทรัพย์สินต่างๆ ถือเป็นการยักย้ายถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด อันเข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. จะได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหานี้เพิ่มเติม เพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด หากประชาชนท่านใดหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว สามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ กับพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ณ ศูนย์รับแจ้งความ ตำรวจสอบสวนกลาง ถ.พหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา​

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net