Skip to main content
sharethis

มท. เผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 58 วัน มูลหนี้ 9,163 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 1.35 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 8,672 ราย มูลหนี้ลดลงกว่า 636 ล้านบาท เน้นย้ำ ทุกจังหวัดเร่งบูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ ส่งเสริมวินัยการออม และพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

เพจกระทรวงมหาดไทย PR รายงานเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 ว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 58 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 9,163.759 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 135,356 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 114,758 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 20,598 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 102,446 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,071 ราย เจ้าหนี้ 7,414 ราย มูลหนี้ 813.659 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,517 ราย เจ้าหนี้ 4,989 ราย มูลหนี้ 372.176 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,024 ราย เจ้าหนี้ 3,895 ราย มูลหนี้ 328.689 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,790 ราย เจ้าหนี้ 3,453 ราย มูลหนี้ 382.986 ล้านบาท 5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,566 ราย เจ้าหนี้ 2,400 ราย มูลหนี้ 295.937 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 218 ราย เจ้าหนี้ 229 ราย มูลหนี้ 12.712 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 303 ราย เจ้าหนี้ 218 ราย มูลหนี้ 20.785 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 353 ราย เจ้าหนี้ 276 ราย มูลหนี้ 13.016 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 430 ราย เจ้าหนี้ 324 ราย มูลหนี้ 17.844 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 465 ราย เจ้าหนี้ 337 ราย มูลหนี้ 23.325 ล้านบาท

“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 15,267 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,672 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 1,553.743 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 917.493 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 636.250 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,041 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 187 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 236.342 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 13.922 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 222.420 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 165 คดี ใน 31 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้คำปรึกษาพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง และเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้อยู่อย่าง "พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น" ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัวในครัวเรือน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบไว้รับประทานไข่และเนื้อ การบริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่า รวมถึงการสร้างแนวทางให้ลูกหนี้ทุกคนได้รู้จักประหยัดอดออม วางแผนทางการเงิน จัดทำรายรีบรายจ่าย มีวินัยในการออมเงิน เพื่อไว้ใช้ในคราวจำเป็น เพิ่มพูนฝึกฝนทักษะการประกอบอาชีพและทักษะอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net