Skip to main content
sharethis

"พิธา" ยังไม่สิ้นสภาพ สส. เหตุศาล รธน.เห็นว่าไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้วนับตั้งแต่ถูกเลิกสัญญาใช้คลื่นโทรทัศน์เมื่อปี 50 ส่วนรายได้ที่มีก็มาจากการลงทุนของบริษัท แต่ศาลเห็นว่าข้อต่อสู้ของพิธาเรื่องโอนหุ้นให้น้องชายแล้วฟังไม่ขึ้น และย้ำว่าการห้ามมีหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียวตามรัฐธรรมนูญถือเป็นการป้องกันผู้สมัคร สส. ใช้สื่อเพื่อแสวงประโยชน์

24 ม.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้ พิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ศาลเริ่มอ่านคำวินิจฉัยโดยเริ่มจากการอ่านคำร้องของ กกต. และกระบวนการการยื่นและการรับคำร้องของศาล และได้ระบุว่าศาลมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีสมาชิกภาพของพิธานั้นสุดลงหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ที่ระบุถึงคุณสมบัติต้องห้ามรับเลือกตั้งเป็น สส. ที่ห้ามเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ระบุว่าสมาชิกภาพ สส.จะสิ้นสุดลงบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

ถือหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียวก็ไม่ได้

ศาลระบุว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ได้บัญญัติไว้เพื่อกำหนดลักษณะต้องห้ามคนสมัคร สส. ไว้เพราะ สส. จะต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย จึงต้องได้รับการกลั่นกรองเบื้องต้นว่าคนนั้นจะทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน จากบทบัญญัติทั้ง 98(3) และ 101(6) นี้จึงมีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อบุคคลใดทางการเมือง

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ตามมาตรา 98(3) จึงต้องดูว่ากิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนและยังประกอบกิจการดังกล่าวหรือไม่ โดยยังมีรายได้จากการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในวันที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อมีการยุบสภาและ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 แล้วให้วันที่ 4 -7 เม.ย.2566 เป็นวันรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. โดยพรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อทั้ง สส.บัญชีรายชื่อในวันที่ 4 เม.ย. โดยมีชื่อของพิธาในลำดับแรก อย่างไรก็ตามปรากฏว่าพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น และพิธาถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมาถึงวันที่ 25 พ.ค.2566 พิธาจึงโอนหุ้นดังกล่าวให้ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย

ตามแบบส่งงบการเงินของบริษัทไอทีวีที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธันวาคม 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์ ดังนั้นจึงมีมูลที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสมาชิกภาพของพิธาสิ้นสุดลงด้วยเหตุเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่

ตามข้อโต้แย้งของพิธาระบุว่า ตนไม่มีอำนาจครอบงำธุรกิจไอทีวี เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 มาตรา 247 กำหนดให้การกระทำตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์โดยกิจการถึงร้อยละ 25 ขึ้นไปของผู้มีสิทธิออกเสียงในกิจการนั้นให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เว้นแต่เป็นการถือหลักทรัพย์นั้นได้มาจากการเป็นมรดกตกทอด

พิธาระบุในคำโต้แย้งอีกว่า ตนถือหุ้น 42000 โดยหุ้นสามัญของไอทีวี 1206,697,400 หุ้น หุ้นที่พิธามีอยู่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.00348 ของหุ้นสามัญทั้งหมด ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ตนจึงไม่เป็นบุคคลตามลักษณะต้องห้าม

ศาลเห็นว่ามาตรา 98 นี้มีพัฒนาการมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 265 วรรค 1 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 12-14 /2563 และ 7/2562 วางหลักว่ารัฐธรรมนูญ ห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าถือเท่าใดและไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ฉะนั้นการถือเพียงหุ้นเดียวก็เป็นการถือหุ้นตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำก็ตาม แต่การระบุในรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ สส. มีช่องทางใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบทางใดทางหนึ่งเพราะฉะนั้น มาตรา 98(3) จึงห้าม สส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมหรือสือมวลชนโดยไม่ได้ ระบุว่าต้องถือเท่าใดหรือมีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้นการถือเพียงหุ้นเดียวย่อมเป็นการถือหุ้นตาม มาตรา 98(3) แล้ว

ยังถือว่ามีหุ้นอยู่จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้วต้องพิจารณาต่อไปว่าวันสมัครรับเลือกตั้ง สส. พิธาเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในไอทีวีหรือไม่ กกต.กล่าวอ้างว่าบัญชีผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย.2566 ปรากฏชื่อพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยถือในนามตนเองโดยไม่ได้มีหมายเหตุว่าถือแทนบุคคลอื่นหรือนิติบุคคลหรือในฐานะผู้จัดการมรดกอย่างไร และยังถือมาจนถึงวันที่ 25 พ.ค. 2566 พิธาจึงโอนให้น้องชาย

พิธาโต้แย้งว่าหุ้นดังกล่าวไม่ได้ถือไว้เพื่อตน โดยเมื่อ 5 ก.ย.2550 ตนในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับโอนหลักทรัพย์มาจากบัญชีหลักทรัพย์ของพ่อที่เคยเปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปโดยมีหุ้นของไอทีวี 42000 หุ้นด้วย พิธายังได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือหลักทรัพย์ทุกรายการอันเป็นมรดกแทนทายาทอื่น และได้ทราบจากบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปว่าไม่สามารถระบุฐานะผู้จัดการมรดกต่อท้ายชื่อสกุลของผู้ถือหลักทัรพย์ที่เป็นผู้ถือมรดกได้ ตามหนังสือรับรองของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิป ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2562 ตนได้ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยโอนหุ้นไอทีวี 42,000 ให้ภาษิณแล้วตามสัญญาโอนหุ้นของบริษัทไอทีวี ดังนั้นกรณีที่ปรากฎชื่อของพิธาจนถึงวันที่ 25 พ.ค. 2566ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจึงเป็นการถือหุ้นแทนภาษิณที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นดังกล่าวมาตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2562 แล้ว

สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 ปรากฎชื่อพิธาเป็นผู้ถือหุ้น ลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับพิธาเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีว่า วันที่ 5 ก.ย.2550 พิธารับโอนจากนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ซึ่งเป็นพ่อของพิธา บริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปโอนตามคำสั่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ตั้งพิธาเป็นผู้จัดการมรดกของพ่อ การโอน 5 ก.ย.2550 เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก พิธายังมีฐานะเป็นทายาทอีกฐานะหนึ่งจึงเป็นสิทธิในมรดกทุกชนิดของผู้ตาย รวมถึงหุ้นไอทีวีวีตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599-1600 มีผลให้พิธาเป็นทั้งผู้จัดการมรดกและทายาทที่มีสิทธิในหุ้นดังกล่าว พิธาจึงเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่ 5 ก.ย.2550

นอกจากนั้น หนังสือสัญญาโอนหุ้นระหว่างพิธาและภาษิณ ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2561 นั้นพิธาเบิกความว่าตนจะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงทำสัญญาด้วยวาจาว่าจะโอนหุ้นให้ภาษิณน้องชายของตนในวันที่ 9 กันยายน 2561 และทำหนังสือสัญญาในวันที่ 24 มิ.ย.2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่พิธาเบิกความว่าตนเชื่อว่าบริษัทไอทีวียุติการดำเนินกิจการและไม่ใช่กิจการสื่อมวลชนตามมาตรา 98 (3) เนื่องจากตามความเข้าใจของพิธาแล้วไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมต่อ ปปช. ในคราวที่พิธาเข้ารับตำแหน่งในปี 2562 พิธาไม่ได้ระบุถึงการโอนหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารสำคัญ

นอกจากนี้ การที่พิธาเบิกความว่าหุ้นของไอทีวีเป็นหุ้นที่ไม่สามรถโอนกันได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายแล้ว พิธาจึงได้โอนหุ้นให้ทายาทอื่นหรือจัดการอย่างใด ต่อมา 2566 พิธาได้รับคำแนะนำจากบริษัทหลักทรัพย์ว่าสามารถดำเนินการโอนหุ้นทางทะเบียนได้ ผ่านทางบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แสดงให้เห็นว่า พิธาไม่ดำเนินการโอนหุ้นให้เสร็จตั้งแต่2562 เป็นการดำเนินการที่คลาดเคลื่อน ไม่ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์การโอนให้ครบถ้วน และเป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องเองทั้งที่การดำเนินการของพิธาเมื่อ 25 พ.ค.2566 ทำให้เสร็จได้ในวันเดียว โดยดูตามคำขอโอนหลักทรัพย์ในวันดังกล่าวที่พิธายื่นให้บริษัทหลักทรัพย์ฟิลิปและตามรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่ระบุในวันเดียวกัน

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายประการจึงยังฟังไมได้ว่าพิธาทำสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวจริง ข้อโต้แย้งของพิธาจึงฟังไม่ขึ้น ศาลจึงรับฟังได้ว่าพิธาเป็นผุ้ถือหุ้นไอทีวีอยู่ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อ สส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต.เมื่อ 4 เม.ย.2566

ITV ไม่ได้ทำสื่อแล้ว

เมื่อศาลวินิจฉัยได้แล้วว่าพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีอยู่ดังกล่าว จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าไอทีวียังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ตามมาตรา 98(3) ตามที่ กกต.กล่าวอ้างว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์บอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพ รับจ้างโฆษณาทางหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ ตลอดจนรับจ้างออกแบบรับจ้างโฆษณาทุกชนิด รับจ้างผลิตรายการ และปัจจุบันยังประกอบกิจการไม่ได้เลิกกิจการหรือเสร็จการชำระบัญชี และยังระบุในเอกสารที่อื่นต่อกรมธุรกิจการค้าเมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินในวันสิ้นสุดบัญชี 31 ธ.ค. 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่าประกอบกิจการโทรทัศน์

พิธาโต้แย้งว่าไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 มีคดีพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายกันระหว่างไอทีวีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด และตอนนี้บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน อีกทั้งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทไอทีวี ในฐานะประธานที่ประชุมยังยืนยันว่าบริษัทไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าผลคดีจะสิ้นสุด ประกอบกับบริษัทไม่ได้มีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน เอกสารที่อื่นต่อกรมธุรกิจการค้าเมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินในวันสิ้นสุดบัญชี 31 ธ.ค. 2565 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีการระบุด้วยว่าไมได้ดำเนินกิจการเนื่องจากรอผลคดี แต่มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ ในงบกระแสเงินระบุว่ามีรายได้จากการขายตราสารทุนและตราสารหนี้ของกิจการอื่นและมีรายได้จากดอกเบี้ยรับและกำไรเบ็ดเสร็จระบุรายได้มาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ

นอกจากนี้ กสทช.ยังแจ้งว่าไอทีวีไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับจัดสรรให้ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์หรือโทรคมนาคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การพิจารณาว่านิติบุคคลใดทำกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแค่วัตถุประสงค์การจัดตั้งนิติบุคคลที่จดทะเบียนหรือแจ้งไว้เป็นทางการได้ แต่พิจารณาควบคู่ไปกับการทำกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วยว่ามีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ด้วยหรือไม่อย่างไร

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า 3 ก.คง 2538 บริษัทไอทีวีทำการขอใช้คลื่นสัญญากับ สปน.เป็นเวลา 30 ปี แต่ 7 มี.ค.2550 สปน.ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทไอทีวีบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานกับ สปน. และการดำเนินการสถานีโทรทัศน์โดยระบุว่าการแจ้งบอกเลิกนี้เป็นผลทำให้สัญญาเข้าร่วมงานสิ้นสุดลง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ 15 มี.ค.2550 บริษัทไอทีวียื่นเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550 เนื่องจากไม่มีพนักงาน และสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบแล้วอนุมัติหยุดกิจการชั่วคราวดังกล่าว และจนถึงปัจจุบันตามข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมระบุว่าบริษัทไอทีวีหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค.2550 ถึงปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาตามเอกสารรรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2560 ถึงปี 2562 ระบุประเภทธุรกิจของบริษัทว่าลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก เอกสารรรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 และ 2564 ระบุเป็นสื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าบริการว่าไม่ได้ดำเนินกิจการเนื่องจากติดคดีความ รอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ

นอกจากนั้นหมายเหตุในเอกสารงบการเงินปี 31 ธ.ค. 2560 ถึงของปี 2565 บริษัทไอทีวีดำเนินกิจการเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์และสื่อโฆษณา ผลิตรายการแต่ สปน.เพิกถอนสัญญาเป็นผลให้บริษัทหยุดดำเนินกิจการและระบุว่าบริษัทยังมีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ และทำให้บริษัทย่อยคือ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย (จำกัด) ต้องหยุดดำเนินกิจการไปด้วย

แต่เมื่อพิจารณา ภ.ง.ด. 50 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ระบุว่าประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์และวิดีทัศน์และรายการโทรทัศน์แต่ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการเป็น 0 บาท และระบุรายได้อื่นว่าได้จากดอกเบี้ยรับ

ส่วนประเด็นที่แบบ สปช. 3 ไม่ตรงกันนั้น คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทไอทีวี ระบุว่าเอกสารทั้งสองฉบับนั้นเป็นของจริงแต่มีการยื่นเอกสารฉบับหลังแก้ไข ยกเลิกเอกสารฉบับแรกเพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่ให้เกิดข้อถกเถียงจากเอกสารฉบับแรก และที่เอกสารฉบับแรกระบุประเภทสินค้าว่าสื่อโฆษณาเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้กรณีบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินกิจการต้องระบุจุดประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของบริษัท ข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคู่มือในแบบเอกสารงบการเงินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่กำหนดให้การกรอกข้อมูลบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินกิจการให้ระบุวัตถุประสงค์ตรงกับที่จดทะเบียนไว้กับกรมฯ

ส่วนรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อ 26 เม.ย. 2566 ที่ระบุในหน้าสุดท้ายว่ามีผู้ถือหุ้นถามว่าบริษัทยังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชนอยู่หรือไม่ ประธานกรรมการบริษัทไอทีวีระบุว่ายังประกอบกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้นไม่ใช่การยืนยันว่าบริษัทดำเนินกิจการสื่อมวลชน นอกจานี้หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บริษัทชนะคดีจะมีการพจารณากันอีกครั้งว่าบริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่

ศาลเห็นว่าตามแบบ สปช. 3 ในปี 2563-2565 ระบุประเภทธุรกิจสื่อโทรทัศน์ต้องพิจารณาประกอบกับเอกสารอื่นๆ โดยเฉพาะงบการเงินและหมายเหตุในงบการเงินที่จัดทำโดยผู้สอบบัญชีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถึงการประกอบกิจการของบริษัทที่ถูกต้อง

แม้ในการไต่สวนจะฟังได้ว่าบริษัทไอทีวีจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์และผลิตสื่อโฆษณาและผลิตรายการ แต่เมื่อแบบ สปช.3 และหมายเหตุประกอบงบการเงิน และภ.ง.ด. 50 ตั้งแต่ 2560-2565 มีข้อมูลสอดคล้องกันว่าบริษัทไอทีวีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าวนับตั้งแต่ สปน.เลิกสัญญาเมื่อ 7 มี.ค.2550 ผลของการบอกเลิกสัญญาทำให้สิทธิ์ในการใช้คลื่นสัญญาณของบริษัทไอทีวีกลับมาเป็นของ สปน. และทำให้บริษัทไม่มีคลื่นสัญญาณมาดำเนินการโทรทัศน์ได้อีกต่อไปจนเกิดคดีพิพาทกันระหว่างคู่สัญญาโดยมีการเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน แต่ไอทีวีไม่ได้มีการเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิ์ในคลื่นสัญญาณแก่ตนเอง และระหว่างนี้คดีพิพาทดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากคดีถึงที่สุดแล้วต่อให้บริษัทชนะคดีก็ไม่ได้มีผลที่จะได้รับมอบสิทธิ์ในการใช้คลื่นสัญญาณมาดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์ได้อีก

ศาลสรุปประเด็นเรื่องบริษัทไอทีวียังประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายว่า บริษัทไอทีวีไม่มีสิทธิประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายตั้งแต่ 7 มี.ค.2550 และการที่บริษัทยังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ก็เพื่อดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้นและไม่ปรากฏว่าบริษัทมีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อมวลชนแต่มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ

อีกทั้งที่ประธานกรรมการบริษัทไอทีวีเบิกความว่าหากชนะคดีแล้วจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าบริษัทจะยังดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือกิจการอื่นตามวัตถุประสงค์ของบริษัทข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ก็เป็นเรื่องในอนาคต

ดังนั้นนับตั้งแต่ สปน.บอกเลิกสัญญาเมื่อ 7 มี.ค. 2550 บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการจดแจ้งการพิมพ์ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ตาม พ.ร.บ. กสทช. 2553 และไม่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์ ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ด้วย

ศาลจึงเห็นว่า วันที่พิธาสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ การถือหุ้นบริษัทไอทีวีของพิธาจึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) สมาชิกภาพ สส.ของ พิธาจึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6)

พิธาให้สัมภาษณ์หลังฟังคำวินิจฉัยว่าหลังจากนี้คือการแถลงแผนงานประจำปีของพรรคก้าวไกลตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรค แต่เรื่องกลับเข้าสภาได้เมื่อไหร่ก็จะให้คนที่อยู่ในสภาหรือวิปได้หารือกับทางประธานสภาพอีกทีว่าจะได้กลับเข้าไปทำงานได้เมื่อไหร่

พิธายังได้กล่าวถึงความรู้สึกการฟังคำวินิจฉัยวันนี้ว่าเขารู้สึกเฉยๆ เหมือนกับทุกวันโดยนึกถึงเรื่องทำงานทั้งในอาทิตย์นี้และอาทิตย์ต่อๆ ไปแล้วก็รอว่าจะได้กลับเข้าสภาเมื่อไหร่ ส่วนเรื่องที่จะกลับเข้าไปบริหารพรรคหรือไม่นั้นจะมีการเปลี่ยนทุก 4 ปี เรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องในวันนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net