Skip to main content
sharethis

คลินิกทันตกรรม ทันตแพทย์อดิเรก จ.แพร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในคลินิกทันตกรรมที่ร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เปิดเผยว่าหลังคิกออฟโครงการ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" พบว่ามีประชาชนให้การตอบรับดีมาก ทั้งในแง่จำนวนผู้รับบริการและความพึงพอใจ เนื่องจากรับบริการได้สะดวกรวดเร็วกว่าไปโรงพยาบาล แถมไม่จำกัดเฉพาะเวลาราชการเท่านั้น 

17 ม.ค. 2567 ทีมสื่อ สปสช. แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า ทพ.อดิเรก วัฒนา ผู้ก่อตั้งคลินิกทันตกรรม ทันตแพทย์อดิเรก จ.แพร่ หนึ่งในคลินิกทันตกรรมที่ร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ในจังหวัดนำร่องนโยบายยกระดับบัตรทอง "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" เปิดเผยว่า หลังจากที่เริ่มให้บริการแก่ประชาชนสิทธิบัตรทองตามนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ พบว่าประชาชนให้การตอบรับที่ดีมาก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น และความพึงพอใจของผู้รับบริการที่รู้สึกสะดวกรวดเร็วขึ้น 

"ประชาชนที่มารับบริการพอใจมาก เพราะจากเดิมที่ต้องไปโรงพยาบาล ต้องรอคิวนาน สถานที่มีความแออัด ก็สามารถมารับบริการที่คลินิกเอกชนซึ่งสะดวกกว่า ที่สำคัญคือระยะเวลาการให้บริการของเอกชนมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับวิถีชีวิตมากกว่า ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐต้องไปในเวลาราชการ แต่มาคลินิกเอกชนก็มาช่วงเย็นหลังเวลางานได้ ล่าสุดมีผู้ปกครองพาลูกมาทำฟันหลังเลิกเรียน เด็กไม่ต้องขาดเรียน ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเสียเวลางาน ค่าใช้จ่ายทางอ้อมก็ลดลงไปได้เยอะ หรือบางคนที่ไม่รู้ว่ามีโครงการนี้ พอรับบริการแล้วพบว่าไม่ต้องจ่ายเงิน เขาก็รู้สึกประหลาดใจและดีใจมาก" ทพ.อดิเรก กล่าว 

ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยหลักการแล้วถือว่าเป็นโครงการที่ดี ซึ่งหลังจากที่ตนทราบข่าวก็รู้สึกสนใจ ประกอบกับกลางเดือน พ.ย. 2566 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงพื้นที่ จ.แพร่ เพื่อจัดประชุมชี้แจงนโยบาย ตนได้มีโอกาสซักถามในรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติม และได้หารือภายในกับทีมทันตแพทย์ของคลินิก ซึ่งทีมงานก็เห็นด้วยว่าเป็นมิติใหม่ของวงการสุขภาพ ขณะที่คลินิกก็มีศักยภาพและอยากมีส่วนร่วมให้โครงการนี้เกิดได้จริง จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. โดยมีการเตรียมการเพิ่มจำนวนทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์เพื่อรองรับจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนวางแผนการให้บริการให้เป็นที่พึงพอใจแก่ทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทองและผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง เช่น การจัดช่องทางบริการที่เป็นสัดส่วน การจัดระบบนัดหมายเพื่อไม่ให้ผู้รับบริการต้องรอคิวนาน เป็นต้น 

“โครงการนี้มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ที่จะได้กระจายงานรักษาขั้นพื้นฐานมาที่ภาคเอกชน ทำให้สามารถเอาเวลาไปดูแลงานเฉพาะทางได้มากขึ้น อย่างกรณีทันตกรรม ทันตแพทย์ก็จะมีเวลาทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ผ่าฟันคุด รักษารากฟัน ฯลฯ ทำให้ระยะเวลารอคิวสั้นลง ส่วนคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการก็จะมีปริมาณงานมากขึ้น ได้รับเงินชดเชยค่าบริการในอัตราที่ยอมรับได้ และเป็นที่รู้จักของชุมชนมากขึ้น ขณะที่ประชาชนก็มีความสะดวกในการรับบริการ ที่สำคัญคือเมื่อประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิมากขึ้น จะทำให้การเจ็บป่วยนั้นได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เช่น ได้รับการอุดฟันอย่างทันท่วงที รอยโรคก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ไม่ลุกลามไปถึงขั้นถอนฟันหรือรักษารากฟันในอนาคต หรือถ้าได้รับการขูดหินปูน ก็จะลดโอกาสในการเป็นเหงือกอักเสบ ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่า”ทพ.อดิเรก กล่าว 

ทพ.อดิเรก กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริการที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถมารับบริการที่คลินิกได้นั้น จะเป็นไปตามที่ สปสช. กำหนด คือ บริการตรวจฟัน รวมทั้งงานหัตถการซึ่งจะมี 5 บริการ คือ 1.อุดฟัน 2.ถอนฟัน 3.ขูดหินปูน 4.เคลือบหลุมร่องฟัน 5.เคลือบฟลูออไรด์ โดยเบื้องต้น สปสช.กำหนดใช้สิทธิรับบริการได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปีงบประมาณ แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องรับบริการเพิ่ม ก็สามารถไปรับบริการต่อในโรงพยาบาลรัฐ หรือรับบริการต่อที่คลินิกโดยชำระเงินเอง 

“เนื่องจากระยะเวลาค่อนข้างสั้น ต้องขอขอบคุณหลายภาคส่วนที่ร่วมช่วยในช่วงการเตรียมการ ทั้งท่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปสช.ส่วนกลางและ สปสช. เขต 1 ที่ลงพื้นที่และช่วยเหลือหน่วยบริการเอกชนในพื้นที่ ที่ประสานงานในเรื่องระบบการบริหารจัดการ ทำให้คลินิกทันตแพทย์อดิเรกสามารถให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองได้ทันวันคิกออฟนโยบาย 8 ม.ค. 2567 ขอบคุณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ทันตแพทยสภาที่ดูแลเรื่องคุณภาพบริการและการอบรมออนไลน์ รวมทั้ง ทพ.เชาว์สิน ชัยทนุวงศ์ ผู้ก่อตั้งโปรแกรม Dent Cloud ที่ให้ใช้โปรแกรมฟรีแก่คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนธนาคารกรุงไทยที่ดูแลโปรแกรมเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน ส่วนปัญหาที่เจอในตอนนี้คงเป็นเรื่องของระบบการบันทึกข้อมูล เนื่องจากมีโปรแกรมทั้งของ สปสช. และ Dent Town ทำให้การคีย์ข้อมูลคนไข้ใช้เวลานาน ดังนั้นหากสามารถเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็น และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโปรแกรม จะทำให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” ทพ.อดิเรก กล่าว 

ทั้งนี้ดูรายชื่อสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมในโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้ที่เว็บไซต์ สปสช.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่   

1.สายด่วน สปสช. 1330  

2.ช่องทางออนไลน์ 

• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก

• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คลิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net