Skip to main content
sharethis

‘ชลน่าน’ ยอมรับยาจิตเวชมีปัญหาจริง หลังก้าวไกลอภิปรายปัญหาผู้ป่วยจิตเวช - เร่งดันเข้าบัญชียาหลัก เข็มละ 5 พันบาทก็ยอม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีอาการเป็นอันตรายต่อสังคม


ที่มาภาพประกอบ: Firesam! (CC BY-ND 2.0)

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่าในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 สิริลภัส กองตระการ สส.กรุงเทพฯ เขต 14 พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับงบสาธารณสุข โดยระบุว่า รมว.สาธารณสุข จากพรรคเพื่อไทยได้ยกประเด็นเรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด เป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 13 นโยบาย แต่ดูเหมือนรัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ยังให้น้ำหนักกับปัญหาสุขภาพจิตน้อยเกินไป

เมื่อดูข้อมูลจะเห็นว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า เฉพาะจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นเพิ่มขึ้นทุกปี สถิติปีล่าสุดมีจำนวนมากถึง 360,000 คน ตนจึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนหรือไม่

สิริลภัส กล่าวต่อว่า แนวนโยบายของรัฐบาล ทั้งมินิธัญญารักษ์ หอผู้ป่วยจิตเวชหรือศูนย์บำบัดในชุมชน มีแนวปฏิบัติที่เน้นอาการจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่กลับไม่ได้สะท้อนถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นวิกฤตที่ใหญ่และหนักขึ้นทุกปี

จากข้อมูล อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยปี 2565 อยู่ที่ 7.97 คนต่อประชากรแสนคน มีจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 5,260 คน หรือทุกๆ วันจะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 คน โดยพบว่าผู้ฆ่าตัวตายสําเร็จประมาณ 9 ใน 10 คน มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่งขณะทําการฆ่าตัวตาย

เหตุการณ์รุนแรงที่สร้างความสูญเสีย สาเหตุหนึ่งมาจากผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ถึงแม้จะได้รับการรักษากลับออกมาแล้วแต่ไม่มีคนคอยดูแล กำชับเรื่องการรับประทานยา อาการก็อาจกลับมากำเริบอีก อาจกลับไปก่อเหตุความรุนแรงได้อีก ทั้งที่ปัญหารุนแรงขึ้น แต่ประชาชนกลับเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างค่อนข้างจำกัด นักจิตวิทยาคลินิกขาดแคลน เช่น ในภาคอีสาน มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก

นี่คือวิกฤตสุขภาพจิตของประชาชน แต่เมื่อดูการจัดสรรงบประมาณปี 2567 กรมสุขภาพจิตได้รับเพียง 1.80% ของงบกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งที่กรมฯ ขอไปประมาณ 4,300 ล้านบาท แต่ได้จัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท โดนตัดออกไปกว่า 69.4%

หากตัดงบแผนงานบุคลากรภาครัฐออกไป จะเห็นว่างบที่จัดสรรให้โครงการที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตปี 67 อยู่ที่ 693 ล้านบาท และเมื่อเจาะดูรายโครงการที่ดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีตัวเลขการพยายามฆ่าตัวตายสูง พบว่ามีเพียงโครงการเสริมสร้างศักยภาพวัยเรียนและวัยรุ่น 3.6 ล้านบาท และโครงการเสริมสร้างสุขภาพจิตวัยทำงาน 2.8 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 9.47 ต่อประชากรแสนคน แต่โครงการเสริมสร้างสุขภาพจิตวัยสูงอายุ ให้งบเพียง 7.6 ล้านบาทเท่านั้น รัฐบาลจะสร้างเกราะด้านสุขภาพจิตให้วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุได้อย่างไร ในการจัดสรรงบประมาณเท่านี้

ส่วนที่เป็นงบประมาณจัดสรรใหม่และดูจะเป็นความหวังของประชาชน คืองบประมาณของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21 ล้านบาท และงบสนับสนุนจาก สปสช. อีก 5 ล้านบาท ทำให้จะสามารถรองรับได้ 520,000 กว่าสาย จากเดิมที่ให้บริการได้ไม่เกิน 1 แสนสายต่อปี

แต่เมื่อมาดูค่าบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ที่จ่ายแบบเหมาจ่ายให้กับบุคลากรด่านหน้าที่ต้องให้คำปรึกษาต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยง อยู่ที่เพียง 50 บาทต่อครั้ง โดยจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ส่วนกรณีที่ผู้รับบริการไม่สะดวกใจที่จะบอกชื่อนามสกุลจริง แบบนี้ก็อาจไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

“ในค่าตอบแทนเท่านี้ กับภาระงานของบุคลากรด่านหน้าที่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตและความรู้สึกของคน ท่านควรกลับไปทบทวนถึงค่าตอบแทนที่คุ้มค่าและสร้างแรงจูงใจให้กับคนที่ทำงานบริการสายด่วนสุขภาพจิตใหม่ ถ้าท่านมีงบเพื่อขยายคู่สายแต่ไม่มีคนทำงาน สุดท้ายแล้วการขยายคู่สายนั้นก็เปล่าประโยชน์” สิริลภัสกล่าว

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการจริงๆ จากรัฐบาล คือการจัดสรรงบประมาณที่แก้ปัญหาให้ตรงจุด สิ่งที่รัฐบาลต้องใส่ใจ คือคำนึงถึงปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้บริการ รวมถึงแก้ไขปัญหาภาระงานบุคลากรทางแพทย์

รัฐควรจัดสรรงบเพื่อเพิ่มบุคลากรด่านหน้าและสร้างแรงจูงใจด้านค่าตอบแทน เช่น การอุดหนุน อัตราค่าบริการสายด่วนสุขภาพจิต หรือผลิตนักบำบัดที่เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อสร้างด่านกลั่นกรองให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงได้เข้าถึงการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพจิตใจในระยะเบื้องต้นได้ก่อน หรือ โดยที่ไม่ต้องส่งต่อไปถึงจิตแพทย์ด้วยซ้ำ

รัฐควรจัดสรรงบเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษา เช่น สิทธิการพบนักจิตวิทยา ควรมีสิทธิการรักษาครอบคลุมเหมือนกับการพบจิตแพทย์ ประชาชนไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง

รัฐควรจัดสรรงบเพื่อเพิ่มบัญชียาหลักให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาล เพราะปัจจุบันผู้ป่วยบางคนไม่สามารถใช้ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักได้ เนื่องจากผลข้างเคียงของยามีผลในการใช้ชีวิต ทำให้ต้องออกค่าใช้จ่ายในการซื้อยาตัวอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงแทน ถ้าเพิ่มบัญชียาหลักได้ ผู้ป่วยก็มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง

“อยากให้รัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญกับทุกปัญหาเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวช หรือปัญหาด้านสุขภาพจิต เพราะจำนวนผู้ป่วย ไม่ใช่แค่สถิติตัวเลข แต่คือชีวิต คือพ่อแม่ของใครสักคน คือลูกที่เป็นที่รักของครอบครัว คือเพื่อนที่เป็นที่รักของคนรอบข้าง เป็นบุคลากรที่ขับเคลื่อนประเทศในอนาคต” สิริลภัสกล่าว

‘ชลน่าน’ ยอมรับยาจิตเวชมีปัญหาจริง 

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ลุกขึ้นชี้แจงถึงงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 3 แสนกว่าล้านบาทว่า มี 16 หน่วยรับงบประมาณ มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 2 หมื่นกว่าล้านบาท เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นในส่วนของค่าป่วยการของ อสม.จากเดิมที่ได้เดือนละ 1 พันบาทเป็น 2 พันบาท ซึ่งการจัดสรรงบสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในมิติการดูแลสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน งบที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 67 สอดรับกับนโยบายใหม่ 13 ประเด็น 10 ควิกวิน เราจัดสรรงบรองรับ 6,200 กว่าล้านบาท บางนโยบายเราสามารถใช้เม็ดเงินไปพลางก่อนจากแผนงานเดิมของงบประมาณปี 66

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนที่เพื่อนสมาชิกไม่เห็นด้วย มีการตั้งข้อสังเกตก็ถือเป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย เรายังมีโอกาสในวาระสอง ที่จะช่วยกันเติมเต็มเพื่อประโยชน์ของประชาชน ยอมรับว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เม็ดเงินลงทุนลดลงและลดลงทุกปี ซึ่งสัดส่วนที่ลดลงก็กระทบกับการจัดการบริการดูแลประชาชนพอสมควร แต่กระทรวงสาธารณสุขโชคดีที่สามารถใช้เงินนอกงบประมาณได้บางส่วน

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เรื่องการแก้ไขยาเสพติดและจิตเวชนั้น ต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ให้ข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่ง เพราะเราเห็นว่าเป็นงานสำคัญระดับชาติ เป็นแนวโน้มใหม่ที่เยาวชนได้รับผลกระทบ อย่างเช่นเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้า เราจึงถือเป็นควิกวินที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน ส่วนเรื่องยาเสพติด ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ เร่งรัดให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้เห็นผลภายใน 1 ปี

“ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องยาของกลุ่มจิตเวชนั้นมีปัญหาจริงๆ ผมยอมรับ ได้รับเรื่องและจะเริ่มดำเนินการให้ โดยยาที่จำเป็นเราจะผลักดันเข้าสู่กรรมการยาแห่งชาติ เพื่อให้กรรมการฯ พิจารณาเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เป็นสิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่าย แต่ช่วงที่ต้องรอ ผมได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้กลไกบริหารจัดการ แม้เข็มละ 5 พันบาทเราก็ยอมที่จะใช้กลไกการบริหารจัดการเพื่อให้ยากับผู้ที่ปฏิเสธกินยา เพื่อให้เขาไม่มีอาการที่เป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งเราให้ความสำคัญเช่นกัน” นพ.ชลน่าน ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net