Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษาคนทำงานในเอเชีย 13,000 คน พบทำงานภายใต้ “ความเครียดด้านสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญ” โดย 82% มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพจิตที่รวมถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่พนักงานทุกระดับและทุกอุตสาหกรรมทั่วเอเชีย


ที่มาภาพประกอบ: CREST Research (CC BY-NC-SA 2.0)

ตามรายงานฉบับใหม่จากประกันภัย AON และ TELUS Health ที่ได้ทำการสำรวจคนทำงานในเอเชีย 13,000 คน เมื่อเดือน พ.ย. 2022 พบว่า82% มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต (แบ่งเป็น47% มีความเสี่ยงปานกลาง และ 35% ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูง) นอกจากนี้ 51% ระบุว่าพวกเขารู้สึกไวต่อความเครียดมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2021

“แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในปี 2022 แต่พนักงานทั่วเอเชียต้องเผชิญกับความเครียดใหม่ๆ หลายประการ” เจมี แมคเลนแนน (Jamie MacLennan) รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ TELUS Health กล่าว

“นั่นรวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความท้าทายด้านค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์” เขากล่าวกับ CNBC

คนทำงานใน เกาหลีใต้ (44%) มาเลเซีย (42%) และญี่ปุ่น (41%) มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต

“ปัญหาทางจิตหรืออารมณ์ รวมถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่พนักงานทุกระดับ ทุกอุตสาหกรรม และทุกพื้นที่ทั่วเอเชีย” รายงานกล่าวเสริม

ภูมิภาคเอเชียยังมีความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง จากความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า “อย่างมีนัยสำคัญ” มากกว่าเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึง “ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น” เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานของภูมิภาคเอเชีย

ตัวอย่างเช่น เอเชียมีคะแนนประสิทธิภาพการทำงานอยู่ที่ 47.2 จาก 100 คะแนน เทียบกับ 66.7 สำหรับสหรัฐอเมริกาและ 60.1 สำหรับยุโรป

“ตัวเลขเหล่านี้ได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยหลายประการ โดยเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่าเอเชียมีระดับความกดดันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในระดับที่สูงกว่ามาก” แมคเลนแนน อธิบาย

“ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งกล่าวว่าพวกเขาจะกังวลเกี่ยวกับทางเลือกด้านอาชีพที่ถูกจำกัด หากพวกเขามีปัญหาสุขภาพจิตและนายจ้างทราบ”

รายงานยังพบว่า 45% ของพนักงานในเอเชียเชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตของตนกำลังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งควรเป็นข้อกังวลสำหรับนายจ้างด้วย เนื่องจากต้นทุนทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลาป่วย ปัญหาสุขภาพระยะยาวของพนักงาน และการลาออกของพนักงาน

การศึกษาล่าสุดจากสิงคโปร์พบว่าผู้ที่มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้ามีประสิทธิผลในการทำงานน้อยลง โดยขาดงานเพิ่มอีก 17.7 วันต่อปี ผลผลิตที่สูญเสียไปเนื่องมาจากความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้านี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับสิงคโปร์เกือบ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว


ที่มา:
4 in 5 employees in Asia have moderate to high mental health risk, study shows (Goh Chiew Tong, CNBC, 19 September 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net