Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและองค์กรเอ็นจีโอ พูดถึงปัญหาแรงงานทาสสมัยใหม่ในอังกฤษเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยชี้ว่าปัญหามาจากค่าครองชีพที่พุ่งสูง และนโยบายเชิงกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมอังกฤษก็ส่งผลให้เกิด "วัฒนธรรมความกลัว" ทำให้คนเสี่ยงถูกใช้แรงงานทาสได้ง่ายขึ้นเพราะคนไม่กล้าจะออกปากพูดถึงปัญหาหรือเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพูดถึงปัญหาเรื่องแรงงานทาสที่กลายเป็นปัญหาในอังกฤษ ซึ่งบางครั้งแรงงานทาสเหล่านี้ก็อยู่ในธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและมองเห็นได้อย่างโจ่งแจ้ง

รัฐบาลอังกฤษเคยประเมินเอาไว้เมื่อปี 2563 ว่ามีจำนวนเหยื่อแรงงานทาสในอังกฤษอยู่ราว 10,000 ราย แต่องค์กรต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล ก็อ้างตัวเลขสูงกว่านั้นเกินสิบเท่าคือมีจำนวนแรงงานทาสในอังกฤษอยู่มากกว่า 130,000 ราย

จัสติน คาร์เตอร์ ผู้อำนวยการองค์กรอันซีน (Unseen) องค์กรต่อต้านแรงงานทาสและการค้ามนุษย์กล่าวว่า ผู้คนมักจะมองว่าปัญหาแรงงานทาสเป็นปัญหาไกลตัวหรือเป็นปัญหาของตนอื่นที่ไม่ได้กระทบกับพวกเขาเลยไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม แต่จริงๆ แล้ว การใช้แรงงานทาสก็มีส่วนในชีวิตของผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจใช้เงินจ้างวานอะไรสักอย่าง อาหารที่เราทาน หรือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ พวกเราได้รับผลสืบเนื่องจากสภาพแบบนี้ หรือทำอะไรที่ส่งผลต่อสภาพแบบนี้

การใช้ทาสนั้นแสดงออกมาให้เห็นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ การบังคับให้ก่ออาชญากรรม และ การหลอกลวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน หรือการทำให้เป็นข้ารับใช้ในครัวเรือน พูดง่ายๆ ก็คือการขูดรีดหรือข่มเหงคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกกระทำ

เคท โรเบิร์ตส์ จากองค์กรเอ็นจีโอ "Focus on Labour Exploitation" (FLEX) กล่าวว่ากลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำมักจะมาจาก อายุ, สถานะเรื่องความเป็นผู้อพยพ, การเสพติด, สุขภาพกายหรือสุขภาพจิต หรือความพิการ ซึ่งบางครั้งเรื่องนี้ก็มองออกยาก เช่น คนทำงานไซต์ก่อสร้างบางคนก็ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกว่าเป็นเหยื่อแรงงานทาสหรือไม่ เพราะภาพเหมารวมจากสังคม ดังนั้นแล้วจึงควรจะมีการชี้วัดในแง่ต่างๆ เช่น คนเหล่านี้ได้รับค่าจ้างมากพอหรือไม่ พวกเราไดัรับการเคารพในงานที่เขาทำหรือไม่ พวกเขามีหลักประกันหรือสวัสดิการอะไร

วิกฤตค่าครองชีพ กับวัฒนธรรมความหวาดกลัว ส่งผลให้เกิดแรงงานทาส

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนถูกผลักไปอยู่ภายใต้น้ำมือของผู้กดขี่ หนึ่งในนั้นคือเรื่องวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูงมาก คาร์เตอร์บอกว่าปัจจัยเรื่องนี้ทำให้คนรู้สึกหวาดหวั่นในชีวิตมากขึ้นเพราะพวกเขาไม่มีรายได้ในแบบที่พวกเขาเคยมี อาจจะทำให้พวกเขาทำอะไรโดยยอมทุ่มแบบไม่คิดชีวิตมากขึ้น

วิกฤตโลกอย่างเรื่องสงครามยูเครน วิกฤตโลกร้อน และนโยบายของรัฐบาล ต่างก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อปัญหาค่าครองชีพ บีบให้เกิดการใช้แรงงานทาสมากขึ้น โดยที่โรเบิร์ตส์บอกว่า "ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเหมาะสมกับเรื่องนี้" และองค์กรที่คอยตรวจสอบดูแลเรื่องนี้ก็ได้รับทรัพยากรการทำงานน้อยมาก

ในอังกฤษมีกฎหมายเรื่องเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสออกมาเมื่อปี 2558 ที่บังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องคอยตรวจสอบไม่ให้มีการใช้แรงงานทาสเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง แต่จากข้อมูลของสถาบันบริหารงานจัดซื้อและซัพพลายแห่งอังกฤษ (CIPS) ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ค่อยมีการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง มีองค์กรอยู่เพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ส่งรายละเอียดเรื่องห่วงโซ่อุปทานของตัวเองให้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

โรเบิร์ตส์บอกว่าจริงๆ แล้วเรื่องแรงงานทาสนี้กระทบกับผู้คนจำนวนมาก ไม่เพียงแค่ลูกจ้างผู้ที่ถูกใช้เป็นแรงงานทาสเท่านั้น แต่ยังกระทบกับนายจ้างที่จ้างงานอย่างเหมาะสมด้วยในแง่ที่พวกเขาจะถูกตัดราคาโดยนายจ้างที่ใช้แรงงานทาส

ถึงแม้ว่าจะมีคนสัญชาติอังกฤษส่วนหนึ่งที่ถูกใช้เป็นแรงงานทาส แต่คาร์เตอร์ก็บอกว่าในช่วงไม่นานมานี้มีกลุ่มผู้อพยพผ่านช่องทางที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะถูกกดขี่แรงงานด้วย เช่น กรณีของแรงงานภาคการเกษตรในอังกฤษที่ถูกกดค่าแรงอย่างผิดกฎหมายให้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งๆ ที่พวกเขามาเป็นแรงงานในภาคส่วนที่อังกฤษกำลังขาดแคลน

โรเบิร์ตส์มองว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจาก "วัฒนธรรมความกลัว" ที่พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษเป็นผู้สร้างขึ้น พวกเขามีนโยบายในเชิงสร้าง "สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรกับผู้อพยพ" เช่นมาตรการ "ส่งตัวกลับประเทศก่อน อุทธรณ์ทีหลัง" ที่ทำให้ชีวิตผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรองประสบความยากเข็ญมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความกลัวจนทำให้ผู้คนเหล่านี้ไม่กล้าออกปากพูดเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ของตัวเอง หรือไม่กล้าพูดเรื่องการเข้าถึงสิทธิของตัวเอง

โรเบิร์ตส์มองว่านโยบายกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลอังกฤษจะเป็นการให้อำนาจแก่ผู้กดขี่เพิ่มมากขึ้นในการขู่ว่าถ้าผู้คนกล้าพูดวิพากษ์วิจารณ์ก็จะถูกขู่ส่งตัวกลับประเทศ โรเบิร์ตส์บอกว่าสิ่งที่พวกเขาควรจะทำคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหยื่อผู้ถูกใช้แรงงานทาสสามารถออกตัวเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้

คาร์เตอร์ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องเหยื่อการใช้ทาสและการค้ามนุษย์อยู่เป็นประจำ ได้พูดถึงเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อทาสหรือเหยื่อการค้ามนุษย์ คาร์เตอร์บอกว่า "ผลกระทบในเรื่องนี้ย่ำแย่มาก" เหยื่อมักจะถูกบังคับควบคุมอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็มีการใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่คุกคามด้วย ถ้าหากพวกเขาเผชิญกับเรื่องพวกนี้ไปนานๆ ก็อาจจะถึงขั้นไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายหรือจิตใจได้

รัฐบาลอังกฤษเคยประเมินว่าปัญหาการใช้ทาสสมัยใหม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ 3,300 ล้านปอนด์ ถึง 4,300 ล้านปอนด์ ต่อปี (ราว 140,000 ล้านบาท - 183,000 ล้านบาท ต่อปี) ซึ่งเป็นการประเมินจากกรณีที่มีเหยื่อแรงงานทาส 10,000 ราย ถึง 13,000 ราย

อย่างไรก็ตามองค์กรต่อต้านการใช้แรงงานทาส อันซีน ประเมินว่าความเสียหายที่แท้จริงในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่เกือบ 40,000 ล้านปอนด์ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ถ้าหากพิจารณาจากตัวเลขที่ต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล ประเมินไว้ว่ามีแรงงานทาสในอังกฤษอยู่มากกว่า 130,000 ราย


เรียบเรียงจาก
Britain's growing slavery problem fuelled by 'culture of fear', say experts, Euro News, 10-04-2023

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net