Skip to main content
sharethis

พื้นที่รัฐฉานทางตอนใต้ติดต่อกับรัฐกะยา มีผู้ประสบภัยจากการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังต่อต้านเผด็จการ ทำให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย และเกิดภาวะขาดแคลนเสบียงอาหาร มีคนที่ออกไปรับจ้างทำงานในไร่แต่ก็ไม่พอซื้ออาหาร น้ำ และเชื้อเพลิง

ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ตามแนวชายแดนระหว่างรัฐฉานและรัฐกะเรนนี (ที่มา: สำนักข่าว SHAN)

สำนักข่าว SHAN รายงานว่าชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในทางตอนใต้ของรัฐฉานกำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากเสบียงอาหารของพวกเขาเหลืออยู่น้อยมากอย่างน่าวิตก โดยพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐฉานด้านทางหลวงหมายเลข 54 ติดต่อระหว่างเขตแดนรัฐฉานกับรัฐกะยา หรือรัฐกะเรนนี มีผู้อพยพพลัดถิ่นอยู่ประมาณ 18,000 ราย มีผู้พลัดถิ่นคนหนึ่งเล่าว่า ครึ่งหนึ่งของผู้พลัดถิ่นไม่ได้รับเสบียงอาหารที่ผู้คนบริจาคให้มาเป็นเวลานานแล้ว

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ผู้พลัดถิ่นที่เล่าเรื่องนี้จำต้องหนีออกจากบ้านตัวเองเนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่อยู่ในพื้นที่

แผนที่แสดงเขตติดต่อระหว่างรัฐฉานตอนใต้ กับรัฐยาหรือรัฐกะเรนนี โดยจากรายงานของ SHAN พบว่าผู้พลัดถิ่นจากพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฉาน หนีภัยการสู้รบมาจากเมืองที่อยู่บนทางหลวงหมายเลข 54 อยู่ในพื้นที่ติดต่อกับเขตแดนของรัฐกะยา เช่น เมืองปินเลาง์, แปข่น และโมแบย ฯลฯ

 

ผู้พลัดถิ่นรายนี้กล่าวว่า ค่ายผู้พลัดถิ่นของพวกเขาเสบียงอาหารใกล้จะหมดแล้ว ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือคือเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ชายผู้พลัดถิ่นเล่าว่าเขาทำงานเป็นลูกจ้างรายวันอยู๋ที่ไร่ข้าวโพด แต่ค่าแรงของเขาก็ไม่เพียงพอที่จะซื้อของที่จำเป็นอย่างอาหาร, น้ำ และเชื้อเพลิง

"พวกเราต้องรวบรวมเงินมาจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะซื้อเชื้อเพลิง จะได้เอาไว้ใช้สูบน้ำจากลำธารเข้าไปที่ค่ายผู้พลัดถิ่นของพวกเราได้" ชายผู้พลัดถิ่นกล่าว

อย่างไรก็ตามแค่การสูบน้ำอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะน้ำที่พวกเขาสูบเข้าไปใช้ในค่ายเป็นน้ำกระด้าง ที่มีแคลเซียมสูงมากจนต้องต้มก่อนถึงจะสามารถบริโภคได้ ถึงแม้ว่าในช่วงฤดูฝนผู้พลัดถิ่นจะใช้วิธีการเก็บรองน้ำฝนเอาไว้ใช้ แต่ในช่วงฤดูแล้งพวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

"ผมอยากกลับบ้าน" ชายผู้พลัดถื่นกล่าว ถึงแม้ว่าค่ายผู้พลัดถิ่นจะมีหลังคาคุ้มหัว แต่ก็ไม่มีกำแพงหรือประตู ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจในช่วงกลางคืน แล้วก็ทำให้ต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของตัวเอง

ชาวบ้านผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่อพยพมาตั้งแต่ปี 2565 โดยมาจากพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฉานมาจากปินเลาง์ (ปางลอง), แปข่น (ปายขุน), โมแบย (เมืองป๋าย) ในทางตอนใต้ของรัฐฉานติดต่อกับรัฐกะยา หรือรัฐกะเรนนี พวกเขาอยู่รอดโดยได้รับการช่วยเหลือน้อยมาก และถ้าหากพวกเขาไม่สามารถกลับไปยังหมู่บ้านของตัวเองได้ในอนาคต พวกเขาก็ต้องการให้มีคนจ้างงานพวกเขาในระบบเพื่อที่จะสามารถอยู่ได้โดยมีอาหารกินแบบถูกหลักโภชนาการและมีเงินเก็บไว้สำหรับยามฉุกเฉิน

เรียบเรียงจาก

Southern Shan State Displaced Camps Need Emergency Aid, Shan Herald Agency For News, 13-11-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net