Skip to main content
sharethis

รัสเซียเพิ่งจะประกาศแบนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ เมื่อไม่นานมานี้ เรื่องนี้ส่งผลต่อประชาคมชาว LGBTQ+ อย่างไรบ้าง สื่อรัสเซียชวนไปสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับขบวนการ LGBTQ+ ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในรัสเซีย

นักกิจกรรมเยาวชนและนักกิจกรรม LGBTQ เดินขบวนที่ถนน Nevskii ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ภาพถ่ายเมื่อ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia/Alexei Kouprianov

16 ธ.ค. 2566 การที่ศาลสูงสุดของรัสเซียสั่งแบน "ขบวนการความหลากหลายทางเพศนานาชาติ" เมื่อไม่นานนี้ ทำให้ชุมชนความหลากหลายทางเพศในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กรู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกไม่มั่นคงในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นหนึ่งในเมืองที่ยอมรับ LGBTQ+ มากที่สุดในรัสเซีย

มาเรีย อายุ 43 ปี นักสตรีนิยมและนักกิจกรรม LGBTQ+ ที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเลสเบียนกล่าวว่า "ผู้คนต่างก็หวาดกลัว ... พวกเขาไม่ค่อยแน่ใจในเรื่องความปลอดภัยของตัวเองอยู่แล้ว และตอนนี้มันก็แย่ยิ่งกว่าเดิม"

เช่นเดียวกับ ชาว LGBTQ+ รัสเซียจำนวนมาก มาเรียในตอนนี้กำลังประเมินความเสี่ยงภัยที่เธออาจจะต้องประสบหลังจากคำสั่งแบน LGBTQ+ ล่าสุด ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมเชื่อว่ามันอาจจะจุดชนวนให้เกิดกระแสการปราบปรามจับกุม LGBTQ+ ระลอกใหม่ ในประเทศอย่างรัสเซียที่มีการกดขี่ชุมชนความหลากหลายทางเพศอยู่ก่อนแล้ว

มาเรียบอกว่าตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร ตัวเธอเองกำลังรอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้วจึงจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาศาลสูงสุดของรัสเซียได้ประกาศแบน "ขบวนการ LGBT นานาชาติ" โดยที่พวกเขาอ้างว่าเป็นองค์กร "หัวรุนแรง" การแบนในครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำการปราบปราม LGBTQ+ ในรัสเซียที่พวกเขาทำมาโดยตลอด

ในการพิจารณาคดีแบบปิดที่ศาลสูงสุดของรัสเซีย มีคำตัดสินในเชิงเข้าข้างญัตติที่กระทรวงยุติธรรมรัสเซียเป็นผู้เสนอ คือญัตติที่อ้างว่าขบวนการความหลากหลายทางเพศดังกล่าวเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการ "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกทางสังคมและศาสนา" ทั้งๆ ที่ไม่มีชื่อองค์กรนี้อย่างเป็นทางการ

กฎหมายต้านแนวคิดหัวรุนแรงของรัสเซียนั้นมีความกำกวมอยู่แล้ว บวกกับการขาดความชัดเจนในเรื่องนิยามของ "ขบวนการสาธารณะ LGBT นานาชาติ" จากความหมายของรัสเซียด้วยแล้วยิ่งทำให้คนจำนวนมากสงสัยว่าแค่การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์หรือเลสเบียนอาจจะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามพวกเขาได้ด้วยหรือไม่

อเล็กซี ผู้มีความหลากหลายทางเพศไบเซ็กชวลและนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนอายุ 44 ปี กล่าวถึงการเอาตัวรอดหลังจากคำประกาศของศาล โดยบอกว่า "ถ้าหากมัน(คำนิยามเกี่ยวกับ LGBT)เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรที่มีอยู่ มันก็จะเป็นเรื่องชัดเจนว่าเราควรจะทำอะไร เราก็ควรจะหยุดการสื่อสารทั้งหมด(กับองค์กร)"

อเล็กซีกล่าวว่า เขากลัวว่าการแสดงออกใดๆ ก็ตามในที่สาธารณะที่มีเนื้อหาสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ อาจจะถูกแปะป้ายว่าเป็น "แนวคิดหัวรุนแรง" ได้

ภายใต้กฎหมายรัสเซีย ถ้าหากบุคคลหนึ่งๆ เข้าร่วมกับองค์กรหัวรุนแรงก็มีโอกาสถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี มีการเพิ่มโทษเป็นจำคุกสูงสุด 10 ปี สำหรับผู้ที่จัดตั้งองค์กรทำนองนี้

"ถ้าหากคนๆ หนึ่งออกไปนอกบ้านพร้อมกับธงสีรุ้ง มันก็จบกัน มันถือว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมของขบวนการ LGBT ไปแล้ว แล้วเขาก็จะถูกสั่งจำคุกสูงสุด 6 ปี" อเล็กซีกล่าว

เอเลนา เลสเบียนในรัสเซียบอกว่า มันเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าพวกเขาไม่ควรจะแสดงธงความหลากหลายทางเพศข้างนอก แต่ก็ยังขาดความชัดเจนว่า แล้วพวกเขาจะยังคงไปร่วมงานกิจกรรม งานปาร์ตี ที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ หรือแดรกโชว์ได้หรือไม่ มันปลอดภัยจากการถูกลงโทษหรือไม่ที่จะใช้แอพหาคู่เพื่อนัดพบกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในรัสเซียมองว่ากิจกรรมในโลกออนไลน์จะสร้างความเสี่ยงมากที่สุดให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในรัสเซีย และแนะนำให้ทำการลบโพสต์โซเชียลมีเดียทุกโพสต์ที่อาจจะถูกตีความว่าเป็นการส่งเสริมชุมชนความหลากหลายทางเพศได้ ถึงแม้ว่าโพสต์เหล่านั้นจะมีมาตั้งแต่หลายปีก่อนก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็ระบุว่าโพสต์เหล่านั้นยังสามารถถูกตีความว่าเป็นการละเมิดคำสั่งห้ามองค์กรความหลากหลายทางเพศ และอาจจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีได้

แต่ผู้คนก็มองว่าเรื่องนี้ทำไม่ได้จริง เช่น อเล็กซานเดอร์ อายุ 33 ปี ชาวเกย์ผู้จัดงานอีเวนต์ ที่ย้ายถิ่นจากเมืองทิวเมน ในเขตไซบีเรีย มายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กล่าวว่า การไล่ลบโพสต์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้หมดนั้นเป็นเรื่องที่ "เป็นไปไม่ได้ที่จะทำ ... ผมเขียนโพสต์และความคิดเห็นไปจำนวนมากในช่วงเวลาหลายปีมานี้ ผมไม่สามารถจำได้แล้วว่าผมเขียนมันทิ้งไว้ที่ไหนบ้าง"

ส่วนมาเรียมองโลกในแง่ดีกว่า เธอคาดการณ์ว่ากฎหมายนี้คงจะไม่เล่นงานคนๆ หนึ่งเพียงเพราะเขามีอัตลักษณ์เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เธอบอกว่าผู้คนน่าจะยังใช้ชีวิตแบบ LGBTQ+ ได้ จะคงมีความสัมพันธ์ใหม่ๆ ต่อไปได้ แต่ทว่ากฎหมายจะทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกกระทำมากขึ้น

 

วาทกรรมรักษา "รักษาค่านิยมดั้งเดิม" ต้าน "เสรีนิยมตะวันตก"

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลรัสเซียทำการรุกรานยูเครน ก็มีการกดขี่ชุมชน LGBTQ+ มากขึ้นผ่านการปราบปรามการแสดงออกต่อต้านภายในประเทศและการไม่ทำตามขนบของสังคมทุกรูปแบบ โดยอ้างว่ามันคือการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์เพื่อต่อต้านอิทธิพลของเสรีนิยมตะวันตก

เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 รัสเซียได้เพิ่มเติมแก้ไขกฎหมายสั่งห้าม "การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องเกย์" ซึ่งเดิมทีห้ามแค่การเผยแพร่ไปสู่เยาวชน แต่ก็มีการแก้ให้สั่งห้ามรวมไปถึงการเผยแพร่กับทุกช่วงวัยด้วย ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ลงนามในกฎหมายสั่งห้ามการผ่าตัดแปลงเพศ และ การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเรื่องการข้ามเพศ รวมไปถึงห้ามการเปลี่ยนแปลงเพศของตัวเองบนเอกสารระบุตัวตนด้วย

สำหรับคนจำนวนมากแล้ว การสั่งห้ามในครั้งนี้ดูจะมาตรงเวลาในแบบที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พวกเขามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการที่จะยึดกุมอำนาจเหนือสังคมรัสเซียภายใต้ข้ออ้างของ "ค่านิยมดั้งเดิม" ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 ซึ่งมีคนมองว่าปูตินจะหาทางอยู่ยาวไปจนถึงปี 2573

อเล็กซี คาดการณ์ว่า "จะมีการดำเนินคดีเกิดขึ้นบางส่วนก่อนการเลือกตั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐกำลังต่อสู้กับ 'ขบวนการที่เป็นภัย' และสื่อว่า 'พวกเรามาเพื่อรักษาค่านิยมดังเดิมไว้' "

ถึงแม้ว่าคำสั่งห้าม LGBTQ+ โดยศาลสูงสุดของรัสเซียจะเริ่มบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป แต่มันก็เริ่มส่งผลให้เห็นในวงกว้างบ้างแล้ว


ปิดฉากเกย์คลับที่เก่าแก่ที่สุดใน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

เพียงแค่วันเดียวหลังจากที่มีคำตัดสินของศาลออกมา ตำรวจกรุงมอสโกวก็ทำการบุกทลายย่านกลางคืนของชาวเกย์ ส่วนในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั้น เกย์คลับที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองชื่อ 'เซนทรัล สเตชัน' ประกาศว่าพวกเขาจำเป็นต้องปิดตัวลง หลังจากที่เจ้าของที่ดินไม่ยอมขยายสัญญาเช่าให้กับคลับเพราะมีกฎหมายแบน LGBTQ+ ออกมา ขณะที่แอพฯ หาคู่ที่ชื่อ 'Pure' ได้นำฟีเจอร์บางอย่างออกสำหรับผู้ใช้งานชาวรัสเซีย คือส่วนที่ผู้ใช้งานสามารถระบุเพศวิถีของตัวเองได้

กลุ่มสิทธิมนุษยชน 'เดโล LGBT+' ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ชุมชนชาว LGBTQ+ ในรัสเซียประกาศปิดตัวลงในวันเดียวกับที่ศาลตัดสินแบน LGBTQ+ มีคนจำนวนมากที่แสดงความกังวลต่อการปิดตัวของกลุ่มๆ นี้ เนื่องจากว่าอาจจะเป็นการทำให้ชาว LGBTQ+ ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิและถูกคุกคามมากขึ้น ซึ่งการละเมิดและคุกคามที่ว่านี้ก็น่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยหลังมีคำสั่งแบน LGBTQ+

อเล็กซีกล่าวว่ามีชาว LGBTQ+ จำนวนมากที่มองว่าคำตัดสินในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพวกเขา แต่มันจะส่งผลกระทบต่อนักกิจกรรม แต่ก็มีบางส่วนมองว่ามันจะส่งผลชุมชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มนักกิจกรรมด้วย

มีการประเมินว่ากฎหมายใหม่นี้ยังน่าจะส่งผลให้มีชาว LGBTQ+ ในรัสเซียอพยพออกจากประเทศมากขึ้น จากเดิมที่เริ่มมีคนอพยพจากรัสเซียเพิ่มขึ้นอยู่ก่อนแล้วหลังจากที่รัสเซียเริ่มก่อสงครามกับยูเครน

กลุ่มสิทธิ LGBTQ+ ที่อยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ชื่อ Equal PostOst ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยทำงานในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตกล่าวว่า มีกลุ่มชาว LGBTQ+ ที่ขอลี้ภัยออกจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้นเป็น 6 เท่า นับตั้งแต่ที่ศาลสูงสุดมีคำสั่งแบนออกมา

อเล็กซี เป็นคนที่คอยประสานงานการเดินขบวน LGBTQ+ หลายงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาบอกว่าเขาอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะถูกปราบปรามและกำลังพิจารณาว่าจะออกจากประเทศดีหรือไม่ อย่างน้อยก็ออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว อเล็กซีคาดการณ์ว่า "ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามันจะกลายเป็นพื้นที่อันตราย" สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในรัสเซีย

อเล็กซานเดอร์ ผู้ที่คิดอยากจะอพยพออกจากรัสเซียมาเป็นเวลาหลายปีแล้วกล่าวว่า ในตอนนี้เขากำลังรวบรวมเอกสารที่จำเป็นเพื่อที่จะย้ายไปยุโรป เขาบอกว่า "เราถูกบีบต้องทำแล้วตอนนี้"

ถึงแม้จะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย แต่ LGBTQ+ ชาวรัสเซียจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะอยู่ในประเทศต่อไปด้วยหลายเหตุผล เช่นว่า การอพยพย้ายถิ่นฐานใช้เงินมากเกินไป มีความกังวลเรื่องความรู้สึกต่อต้านรัสเซียในโลกตะวันตก หรือแค่รู้สึกว่ายังคงผูกพันกับบ้านเกิดและคนที่พวกเขารักในรัสเซีย

มาเรียกล่าวว่า "นี่เป็นประเทศของฉัน แค่รัฐบาลนี้เท่านั้นที่ไม่ใช่ของพวกเรา ... ฉันอยากจะมีความสุขที่นี่ ฉันอยากจะมีความรักที่นี่ แล้วฉันก็อยากจะเป็นตัวของตัวเองที่นี่"

มาเรียกล่าวว่า เธอเชื่อว่านโยบายต่อต้าน LGBTQ+ ของรัฐบาลรัสเซียชุดนี้ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่ชาวรัสเซียทั่วไปคิดเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ+ แล้วเธอก็หวังว่าจะได้ช่วยส่งเสริมชุมชนของเธอในชีวิตส่วนตัวของเธอ ถึงแม้ว่าจะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพแบบใหม่ออกมาก็ตาม

เอเลนา บอกแบบเดียวกับมาเรีย เธอกล่าวว่า "ฉันอยากจะเชื่อว่าประชาชนชาวรัสเซียที่เป็น LGBTQ+ จะหาทางใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้ในรัสเซีย"

เรียบเรียงจาก

‘No One Knows Anything’: St. Petersburg’s Queer Community Grapples With ‘Extremist’ LGBT Ban, The Moscow Times, 05-12-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net