Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย แต่มีผลงานทางปรัชญาการเมืองด้วย ตั้งข้อสังเกตว่า “โลกสมัยใหม่กับโลกสมัยเก่ากำลังขัดแย้งกัน”

“โลกสมัยเก่า” เขาหมายถึง “หลักศีลธรรมและความยุติธรรมของอริสโตเติ้ล” ส่วน “โลกสมัยใหม่” หมายถึง “โลกเสรีประชาธิปไตย” อริสโตเติ้ลเป็นนักปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับ “ชุมชน” สมัยนั้นเรียกว่า “polis” คือ รัฐขนาดเล็ก อริสโตเติ้ลเชื่อเรื่องเหตุผลและการมีเป้าหมายปลายทางของตัวเอง (telos) ส่วนโลกสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับ “สิทธิเสรีภาพ”

อริสโตเติ้ลเชื่อว่าคนแยกออกจากชุมชนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนก็มีชีวิตไม่ต่างอะไรจากสัตว์ ส่วนทางด้านโลกเสรีประชาธิปไตยเชื่อมั่นในเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เชื่อว่าการให้ปัจเจกบุคคลตัดสินใจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

นักปรัชญารุ่นหลังบางคนไม่ได้คิดอย่างอริสโตเติ้ล เช่น โนซิก (Nozick) เห็นว่าเสรีภาพของปัจเจกบุคคลสำคัญกว่ารัฐ ไม่ควรให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป จะล่วงล้ำเสรีภาพของปัจเจกบุคคล อันเป็นการผิดศีลธรรม (immoral) การมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคลต่างหากที่เป็นหน้าที่ตามหลักศีลธรรมที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง รัฐบาลสมัยใหม่ต้องเป็นกลางตามมาตรฐานศีลธรรม (the modern government should be scrupulously neutral) และใช้อำนาจให้น้อยที่สุด (minimal state) ส่วนค้านท์ (Kant) และจอห์น รอลส์ (John Rawls) สองคนหลังเห็นทำนองว่า ขั้นแรก รัฐต้องจัดวางสิทธิและอิสรภาพพื้นฐานให้กับประชาชนก่อน แล้วจากนั้นจึงค่อยจัดวางหลักศีลธรรม พูดง่ายๆ ว่า “สิทธิเสรีภาพ” ต้องมาก่อน แล้วค่อยพูดถึงหลักการของชุมชนที่คนจะอยู่ร่วมกัน 

ประเด็นของจอห์น รอลส์ นี้แหละ ที่โลกนำมาถกเถียงกัน รอลส์เห็นว่าสิทธิเสรีภาพต้องมาก่อน ส่วนหลักการชุมชน หรือ “ชุมชนนิยม” มาทีหลัง เขาใช้คำว่า “unencumbered self” ตรงตัวแปลว่า “ตัวตนที่ไม่มีพันธะผูกพัน” ความหมายของรอลส์ คือ อัตลักษณ์ (identity) ของคนไม่ถูกจำกัดหรือถูกนิยามโดยความสัมพันธ์พื้นฐานของคนกับสังคม นั่นคือ คนย่อมมีสิทธิกำหนดอัตลักษณ์และเป้าหมายชีวิตของตนเอง ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นไปตามที่สังคมกำหนดหรือมีสิ่งกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า

ต่อมา ทศวรรษ 1980 ความคิดดังกล่าวถูกไมเคิล แซนเดล วิพากษ์ว่าตัวตนของคนจะแยกออกจากสังคมและประวัติศาสตร์ได้ยังไง? แซนเดล อ้างข้อเขียนของอะลาสแดร์ แม็คอินทายเออร์ (Alasdair McIntyre) ในหนังสือ After Virtue (1981) ที่เขียนว่า
“I am someone’s son or daughter, someone’s cousin or uncle; I am a citizen of this or that city, a member of this or that guild or profession; I belong to this clan, that tribe, that nation. Hence, what is good for me has to be good for one who inhabits these roles…[My familial, social, and cultural inheritances] constitute the given of my life, my moral starting point.”

ไมเคิล แซนเดล เอาข้อความข้างต้นมาสรุปว่า คนไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างที่มีความต่อเนื่อง นั่นคือ เรื่องราว (story) การแยกคนออกจากเรื่องราวหรือปฏิเสธบทบาทของคนในเรื่องราว มีผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบันของคน

คำคมของแซนเดล คือ “เราไม่ได้อิสระอย่างที่เราคิดอยากจะเป็น แทนที่จะเป็นการไม่มีพันธะผูกพัน เป็นการมีรากและความผูกพันต่างหากที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่” (“We are not as free as we like to think; rather than being unencumbered, out roots and affiliations make us who we are”.)

ต้องบันทึกคั่นตรงนี้ก่อนว่า “ชาตินิยม” ไม่ใช่ “ชุมชนนิยม” ทีเดียว ชาตินิยมอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น เป็นสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เช่น สมัยมุสโสลินี หรือฮิตเลอร์ หรือเลนิน เป็นอนุรักษ์นิยมเก่าหรืออนุรักษ์นิยมใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปตะวันตกในปัจจุบันก็ได้

ปัญหาของชาตินิยมไทยในปัจจุบันอยู่ที่ “พี่แกเล่นไม่เป็นอะไรเลยต่างหาก” !! ที่ถูก พรรคการเมืองหรือกลุ่มที่ยึดมั่นแนวชาตินิยมไทยต้องมีธงนำด้วยว่าจะพาประเทศไปทางไหน? ไม่เช่นนั้น ก็ไม่มีคำตอบหรือหากมี ก็มีน้ำหนักไม่เท่าฝ่ายที่ยึดคุณค่าเสรีประชาธิปไตย

ขยายความก็คือ ฝ่ายที่ยึดคุณค่าเสรีประชาธิปไตยในไทยขณะนี้ มองว่าประเทศมีสิทธิเสรีภาพ ไม่เพียงพอ เช่น สิทธิประกันตัวผู้ต้องหา ทั้งที่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน รวมถึงเสรีภาพการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมือง 

ฝ่ายที่ยึดคุณค่าเสรีประชาธิปไตย มีนิสิตนักศึกษาเป็นแกน นอกจากเขาเป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกับเราและอีกหลายๆ คนเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว ยังเป็นนักกิจกรรม (activists) ซึ่งตามตำรา  ถือว่าเป็นนักสู้ (gladiators) และเป็นคนมีคุณภาพ เพราะมีความกระตือรือร้นและสมัครใจ (active and voluntary participants) เป้าหมายสำคัญของกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ การต่อสู้เคลื่อนไหวภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

ทว่า ฝ่ายชาตินิยมไทยในปัจจุบัน กลับแสดงออกถึงการต่อต้านสิทธิและเสรีภาพที่เป็นสากล ยกตัวอย่าง กรณีเด็กหญิงคนหนึ่งดื้อมากในสายตาคนหัวเก่า แต่เธออยากเรียนหนังสือต่อที่โรงเรียนเดิม

โรงเรียนปฏิเสธสิทธิเด็ก (child rights) โดยไม่แยกระหว่าง “เด็กดื้อ” กับ “สิทธิเด็ก” หากเข้าใจต้องให้สิทธิเด็กได้เรียนก่อน แล้วค่อยกำกับหรือกำราบเด็ก โรงเรียนเคยทำสำเร็จมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่อ้างเรื่องกระบวนการมอบตัวไม่ครบขั้นตอนซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย –โรงเรียนไม่ควรยกเอาขั้นตอน (procedure) สำคัญกว่าเนื้อหาของสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม (substance)

ขณะเดียวกัน นิสิตนักศึกษาก็ไม่ใช่ไม่มีจุดอ่อน เช่น กรณีการถล่มกีฬาสีของกลุ่มโรงเรียนมัธยม ซึ่งที่จริงไม่มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ –หากมันเป็นประเพณีกีฬาที่เขาเคยแข่งกันมานานหลายปี การอ้างว่ากีฬาโรงเรียนพวกนี้เป็น “ชนชั้น” หรือถูกบังคับให้แปรอักษร จึงดูพิกล 

อมาตยา เซน (Amartya Zen) กับมาร์ธา นุสบอม (Martha Nusbaum) มองการพัฒนามนุษย์ไกลกว่าการแบ่งชนชั้น สองคนนี้มองว่า การพัฒนามนุษย์เป็นทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานกับความพยายามของปัจเจกบุคคล 

ประเด็นของการถล่มกีฬาสีโรงเรียน อยู่ที่ประเทศนี้ให้โอกาสนักเรียนเข้าเรียนเพียงพอหรือไม่? และอีกประเด็นหนึ่ง คือ นักเรียนได้ใช้ความสามารถของตนเต็มที่หรือไม่? โรงเรียนที่เราไปถล่ม เขา กีดกันอะไรเราไหม หรือจริงๆ เราแค่หมั่นไส้เขา 

สำหรับปัญหาของฝ่ายชาตินิยมไทยในปัจจุบันยิ่งน่ากลัวกว่า เช่น กรณีการตั้งกลุ่มองค์กรคอยจับเพื่อนเข้าตาราง ใครเขียนหรือพูดผิดนิด-ผิดหน่อย เจอแจ้งจับ การแจ้งจับก็ง่ายเกินไป ใครแจ้งก็รับได้หมด ส่วนการติดตาราง ก็ติดจริงๆ อย่างน่าสะพรึงกลัว !!!

กฎหมายที่มีโทษรุนแรง (Draconian law) เป็นปัญหาในตัวเอง เหมือนฟูโกต์ (Foucault) ว่าไว้ในเรื่องวินัยและการลงโทษ (Discipline and Punishment) การลงโทษจะดีกว่าการสร้างวินัยไปได้ยังไง? วิธีสร้างวินัยต้องรู้จักการสร้างอำนาจครอบงำ? ฟูโกต์บรรยายว่าในศตวรรษที่ 19 คิดว่าการลงโทษรุนแรงจะยับยั้งการกระทำความผิด แต่ต่อมากลับพบวิธีใหม่ว่าการสร้างวินัยดีกว่า โดยเฉพาะวินัยในตัวเอง ติดตัวไปจนถึงห้องนอน

แต่ก็ไม่ใช่อย่างที่เจ้ากระทรวงไทยคิดขณะนี้ คือ เอานักเรียนมาสอนประวัติศาสตร์แบบกรอกหู แต่ต้องรู้จักวาทกรรม (discourses) เพราะยุทธศาสตร์การก่อรูปวาทกรรม ต้องกระทำโดยให้เขายอมรับด้วยความเต็มใจ—ไม่ใช่ว่าจะสอบเอาคะแนน ยิ่งทำให้เขาต่อต้านหนักเข้าไปใหญ่!!

สรุปว่า ฝ่ายชาตินิยมต่อสู้ด้วยกำลัง ขาดการต่อสู้ทางความคิด ในตัวชาตินิยมเองตอบคำถามที่สลับซับซ้อนของสังคมไทยในปัจจุบันไม่ได้ เช่น การให้สิทธิเสรีภาพพื้นฐาน การคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล ความเป็นประชาธิปไตย การจัดสวัสดิการสังคม ตลอดจนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ –สาเหตุมาจากชาตินิยมไทยไม่ประกอบสร้างทฤษฎีอื่นเข้าไปเพิ่มเหมือนชาตินิยมตะวันตก จึงขาดแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเหนือรัฐ หรืออย่างน้อยรัฐต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน และขาดองค์กรบังคับใช้สิทธิเสรีภาพอย่างจริงจัง

ย้อนมาดูชุมชนนิยม ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบของชาตินิยมไทย ปัจจุบันแนวคิดชุมชนนิยมระดับโลกไปไกลถึงยุคหลังการแยกศาสนาออกจากการเมือง (post-secular age) ซึ่งเสนอโดยนักปรัชญาการเมือง   คนสำคัญ ได้แก่ เจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) และชาร์ลส เทเลอร์ (Charles Taylor)

ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือราวทศวรรษ 2000 สังคมตะวันตกกังวลอย่างหนักกับปัญหา สุญนิยม (nihilism--กลุ่มคนที่เชื่อว่าศาสนาเป็นอคติของกลุ่ม (prejudice) และเป็นคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด) เพราะกลายเป็นว่าสังคมไม่มีอะไรจะยึดและไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น 

นักวิชาการชุมชนนิยมทางศาสนายุคปัจจุบัน เช่น จิลเลสพี (Gillespie, 2016) จึงเขียนว่า “As to the last few decades however, the term “resurgence of religion” has entered the fray of Western academic and international relations theory. Religion, religious beliefs, practices and discourses, religious individuals, NGOs, institutions, and political parties have acquired growing significance, visibility, saliency, and persuasiveness in personal and public life and appear to have begun to play an increasingly greater role in mobilizing people.”

สังคมตะวันตกและสังคมโลกยุคปัจจุบันตั้งแต่ทศวรรษ 2000 หันกลับมารื้อฟื้นหลักความเชื่อทางศาสนา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์โน้มน้าวคนทั้งในชีวิตส่วนตัวและสาธารณะและการระดมคน สาเหตุเป็นเพราะการแปรรูปศาสนาที่ผ่านมาในยุโรปตะวันตกที่ปล่อยให้เป็นกิจการของเอกชนและแยกขาดออกจากรัฐ นั้น ปรากฏว่าไปต่อไม่ได้ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล คือ ยิ่งทำให้ศาสนาเสื่อมและไม่มีความหมายต่อสังคม

ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ (2543) เขียนไว้ว่า “แนวคิดเรื่องศาสนาอย่างที่เราเข้าใจกันนั้น เป็นสิ่งที่คนอย่างโสเกรตีส โมเสส หรือแม้แต่พระคริสต์ก็ไม่รู้จัก เพราะในยุคปัจจุบัน เราแยกแยะศาสนาออกจากการเมือง ในทำนองเดียวกันที่เราแยกศาสนจักรออกจากรัฐ รัฐออกจากสังคม และสังคมออกจากการปกครอง”

ความหมายของท่านอาจารย์สมบัติ คือ การศึกษาการแยกศาสนาออกจากการเมืองเป็นเรื่องใหม่ และแน่นอนว่า เราไม่อาจแยกออกจากการศึกษากระบวนการทางสังคมได้ นอกจากนั้น จารีตและความผูกมัดของสังคมแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกัน ปัญหาของการศึกษาการแยกศาสนาออกจากการเมืองในประเทศไทย คือ เราไม่สนใจมิติกระบวนการทางสังคมและภาคประชาสังคมที่มีอยู่ในประเทศและอยู่ในขบวนการทางศาสนา โดยเฉพาะประเด็นความแตกต่างของสังคมและกระบวนการทางสังคมของเรากับต่างประเทศ 

นักวิชาการและนิสิตนักศึกษาไทยมองจากมุมมองทฤษฎีการแยกศาสนาออกจากการเมือง (secularism) ตั้งแต่สมัยหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ส่วนใหญ่มองแบบกลไก คิดว่า “เครื่องจักร” แบบไหนดี ก็อยากเอามาติดตั้งลงที่ประเทศไทย เช่น การวิเคราะห์ความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐไทยในวิทยานิพนธ์สาขานิติศาสตร์บางชิ้น ซึ่งจบลงด้วยข้อเสนอให้ออกกฎหมายฉบับใหม่ ไม่ต่างจากการเสนอให้ออกกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไม่มีทางทำได้จริง 

ส่วนทฤษฎีที่ยึดกัน คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ศาสนา (religious economics) ของร็อดนี สต๊าร์ก และคณะ (Rodney Stark, Stark & Iannaconne, 1994; Stark, 1999; Finke & Stark, 2005) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าให้ศาสนาในยุโรปตะวันตกแข่งขันกัน โดยรัฐไม่ให้เงินอุดหนุน ศาสนาจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ ทฤษฎีสต๊าร์กเกิดในทศวรรษ 1980 แต่ปัจจุบันอ่อนกำลังลง เนื่องจากการเกิดทฤษฎี Post-secularism ช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากในยุโรป 

โลกเขาเลยจุดจากการเสนอให้แปรรูปศาสนา--ไปสู่การรื้อฟื้นศาสนา เพราะเห็นว่าศาสนามีผลดีมากกว่าผลเสีย ข้อสรุปของมนุษย์ในปัจจุบันเห็นว่ารัฐทุกรัฐในโลกล้วนเชื่อว่า “ศาสนาเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการปกครอง” อีกทั้งศาสนาไม่มีทางแยกไปเป็นกิจกรรมของเอกชนฝ่ายเดียว โดยไม่สัมพันธ์กับรัฐ 

ส่วนปัญหาการขาดโครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่มีศูนย์กลางหลายศูนย์ (lack of polycentric government structure) หรือการกระจายอำนาจ/การมีส่วนร่วมขององค์กรสงฆ์ไทย กับสัมพัทธ์นิยมทางศีลธรรมและพหุนิยม (moral relativism and pluralism) เป็นคนละประเด็นกัน ปัญหาที่กล่าวทั้งหมดเป็นประเด็นคุณภาพขององค์กรสงฆ์ไทย ซึ่งไม่มีใครเถียงว่าไม่มีปัญหาและไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ ด้วย หากองค์กรสงฆ์ไทยไม่ตระหนักว่ามีปัญหา เช่น ปัญหาการคิดแบบเหมารวม (stereotypes) และการรวมศูนย์ทางศีลธรรม (moral centralization) แต่ไม่ใช่แก้ไขโดยการแปรรูปศาสนา ทั้งไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าประกาศว่าตนมีนโยบายแปรรูปศาสนาอย่างไร? ตรงกันข้าม มีพรรคที่เสนอแนวคิด เหมารวมทางศาสนา เช่น พรรคพระพุทธเจ้า เป็นต้น

ที่ยกตัวอย่างมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าชาตินิยมไทยต่อสู้แบบไม่มีทฤษฎี ทั้งที่หากมีทฤษฎีจะสามารถชี้ให้เห็นว่าข้อเสนอบางอย่างของฝ่ายหนุ่มสาว--เป็นความเข้าใจไม่ถูกต้องทีเดียว ดังกรณีการเสนอให้แปรรูปศาสนาในประเทศไทย ทั้งเป็นความคิดที่อ่อนกำลังไปแล้วและเป็นข้อเสนอที่ไม่มีทางทำได้จริง

กล่าวได้ว่า ชาตินิยมไทยเน้นการต่อสู้ทางวาทศิลป์ (rhetoric) มากกว่าการรื้อสร้าง (deconstruction) ความคิด โดยเฉพาะการเขย่าหลักเหตุผลของฝ่ายตรงกันข้าม

ขณะเดียวกัน ชาตินิยมไทยกลับไม่มีคำตอบให้สังคมไทยว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร เน้นการเคลื่อนไหวด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และไม่มีแก่นสารสาระ ดังการประดิษฐ์ถ้อยคำที่ไม่มีพื้นฐานทางทฤษฎี เช่น คำว่า “ชังชาติ” 

ความจริง ไม่มีใคร “ชังชาติ” มีแต่ “คนรักชาติ” (patriotism) บางทีรักจนเกินไปจนเรียกว่า “คลั่งชาติ” (chauvinism) บางคนมีอะไรแอบแฝง ยกตัวอย่าง “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” ที่นำความรักชาติไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว 

ในไทย คำว่า “ชังชาติ” เป็นการกล่าวหาแบบเหมารวม (stereotype) อาจรวมถึงคนวิพากษ์ ทั้งที่แนวคิดทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากสำนักวิพากษ์และเชื่อกันว่าเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังที่สำนักทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) ยืนยันมาตลอดว่า “ความคิดทางสังคมต้องตอบสนองต่อปัญหาและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อปลดปล่อยสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลง”

การประดิษฐ์คำว่า “ชังชาติ” จึงเป็นแนวคิดขวาจัดและไร้หลักการ จำเป็นต้องหาทฤษฎีมารองรับ ชาตินิยมต้องประกอบทฤษฎีอื่นเข้ามาเพื่อบอกได้ว่าตัวเองจะเปลี่ยนอะไร สังคมย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ ว่ากันตามจริง แนวคิดชาตินิยมเมื่อประกอบทฤษฎีอื่นเข้าไป เช่น เมื่อประกอบอนุรักษ์นิยมก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย แม้แต่สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันก็ยึดอนุรักษ์นิยมใหม่ (neoconservatism) แต่เขามีแผนและนโยบายว่าจะเปลี่ยนอะไรให้กับสังคมบ้าง เต็มไปด้วยข้อเสนอมากมาย อย่างน้อยสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนพื้นฐานต้องให้พลเมือง ไม่ใช่ปฏิเสธทุกประตูแบบบ้านเรา!!

ปัญหาของไทยปัจจุบัน ด้านหนึ่ง “อ้างสิทธิเสรีภาพล้นเกิน” ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ “ขวาเกิ๊น” --ด้านหนึ่งก็ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะแยะไปหมด ส่วนอีกด้านก็ค้านท่าเดียว ไม่มีทางออกอะไรให้กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน !!!

สุดท้าย สังคมไทยน่าจะนำแนวคิดอภิจริยศาสตร์ (metaethics) ในปัจจุบันมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันเข้าสู่ยุคสัมพัทธ์นิยม (metaethical relativism) เห็นว่าไม่มีความจริงอันเดียวหรือไม่มีหลักศีลธรรมที่ดีที่สุด ไม่ว่า “สิทธิเสรีภาพปัจเจกชนบุคคล” หรือ “ชุมชนนิยม” --เราจะเข้าใจหลักศีลธรรมได้ดีก็ต่อเมื่อมีการปรากฏตัวขึ้นของวัฒนธรรมอันหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อทั้งความร่วมมือระหว่างกันของสังคมและการเชื่อมโยงจิตใจปัจเจกบุคคล

พูดง่ายๆ ว่า ชุมชน คือ การอยู่ร่วมกัน ก็สำคัญ ส่วนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล  ก็สำคัญ ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ความจริงและหลักศีลธรรมจึงต้องเป็นพหุนิยม สามารถตอบสนองได้ทั้งสังคมและปัจเจกบุคคล

ประยุกต์กับสังคมไทยเวลานี้ คือ สังคมเดิมต้องเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของปัจเจกบุคคล รัฐบาลก็ต้องหาทางสร้างหลักประกันให้เขาและปฏิบัติให้เกิดเป็นจริง เพียงแต่ต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม 

หากไม่ทำเช่นนั้น–แต่ละฝ่ายก็ผลักดันเป้าหมายของตัวเอง แฝงด้วยความขัดแย้งที่   คุกรุ่นระหว่างเป้าหมายการควบคุมสังคมกับสิทธิเสรีภาพส่วนตัว ทว่าสังคมกลับแยกออกจากกันไปเรื่อยๆ –อย่างน้อย เราก็ไม่สามารถควบคุมจิตใจคนหนุ่มสาวในปัจจุบันที่กำลังเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต !!!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net