Skip to main content
sharethis

อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เผย 3 มุมมอง “สันติภาพ-ความมั่นคง-ปั่นกระแสการเมือง” กรณีขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เคลื่อนไหวเรื่อง RSD “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ จัดประชามติจำลอง ยืนยันเสรีภาพทางความคิด พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย

หลังการเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ Pelajar Bangsa และจัดสำรวจความเห็นว่า เห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย ? เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา กระทั่งถูกฝ่ายความมั่นคงมองว่า เป็นการทำประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดน

ล่าสุด พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการให้ดำเนินคดีนั้น เพราะการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ

ขณะที่ตัวแทนคณะทำงานขบวนนักศึกษาแห่งชาติชี้แจงผ่านทาง The Reporters เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ผ่านมาว่า เป็นการนำเสนอแนวคิด RSD เพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรม โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านการทำประชามติจำลอง

พร้อมระบุว่า คำถามในบัตร ที่ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการทำประชามติในการกำหนดชะตากรรมตนเองที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ไม่ได้ถามถึงเห็นด้วยหรือไม่กับการเป็นเอกราช แต่สังคมตีตราว่ามีเจตนาแบ่งแยกดินแดน ยิ่งสื่อบางสำนักรายงานว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลังด้วย ขอยืนยันว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ด้าน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้สัมภาษณ์ ThaiPBS ว่า กิจกรรมนี้เป็นแค่จำลองประชามติ ยังห่างไกลและซับซ้อนอีกมากจากการประชามติจริงและการแยกดินแดน

ส่วนในทางการเมืองนั้น ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติและพรรคเป็นธรรม ต่างก็ออกมายืนยันถึงการไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ได้แถลงผลการหารือของคณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังยืนยันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวไปตั้งรัฐปาตานี แต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น เพราะนี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง และต้องการความกล้าหาญทางการเมืองในการแก้ปัญหา

ฮาฟิซ สาและ อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

สัญญาณดีในการต่อรองสันติภาพ

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ฮาฟิซ สาและ อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า ได้เกิด 3 มุมมองขึ้นมา คือ

มุมมองแรก มองจากนักสันติภาพหรือสันติศึกษาว่า วิธีการใดก็ตามที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และใช้ทางออกทางการเมืองถือเป็นสัญญาณเชิงบวก ที่นักศึกษา กลุ่มเยาวชนหรือกลุ่มไหนก็ตามที่เชื่อในอุดมการณ์ของตัวเองแล้วอยากจะใช้วิธีการทางสันติวิธีในการต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้หรือว่าความฝันหรือว่าที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี

“เป็นสัญญาณที่ดีที่นำไปสู่การพูดคุยต่อรองกัน เป็นการโยนไอเดียให้สังคมได้พูดคุยถกเถียงว่าเห็นด้วยไหมกับการทำประชามติ ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงว่าว่าจะแยกหรือไม่แยกดินแดน แต่เบื้องต้นก็คือเรื่องของการทำประชามติ”

ข้อกังวลแบ่งแยกดินแดน-ปั่นกระแสทางการเมือง

มุมมองที่สอง ฮาฟิซ กล่าวว่า เป็นมุมของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งเข้าใจได้ถึงข้อกังวลว่า อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนและขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มันก็เป็นสัญญาณเตือนภัย และมองว่าเป็นภัยคุกคามได้

“แต่ใน 2 มุมมองนี้ยังไม่ได้น่ากังวลเท่ากับมุมมองที่ 3 ก็คือ การทำให้เรื่องนี้เป็นการขยายผลทางการเมืองหรือทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง หรือ politicize จะเรียกว่าปั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับชาตินิยมมักถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองอยู่ตลอดอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลสะเทือนในสังคมเยอะ” อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.อ.ปัตตานี กกล่าว

ยืนยันเสรีภาพทางความคิด – พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย

ฮาฟิซ กล่าวว่า ทางออกของเรื่องนี้ก็คือจะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย โดยเฉพาะแนวความคิดของเยาวชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เราพยายามเรียกร้องมาตลอดว่า จะมีพื้นที่ให้เยาวชนได้พูดคุยอย่างปลอดภัยจริงๆ ไม่ใช่แค่บอกว่าเปิดพื้นที่ปลอดภัย แต่สุดท้ายก็พยายามจำกัดความคิดให้ต้องคิดเหมือนรัฐ ถ้าคิดไม่เหมือนคือผิด

ฮาฟิซ กล่าวด้วยว่า สำหรับคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมาใช้สถานที่ได้โดยไม่จำกัดฝ่าย แต่ไม่ได้แปลว่าคณะจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่จัดขึ้น และเป็นหน้าที่ของคณะและอาจารย์ที่จะต้องปกป้องนักศึกษา ขณะเดียวกันต้องมีจุดยืนเรื่องเสรีภาพทางความคิดและทางวิชาการ ตราบใดที่ไม่ได้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์

“ไม่ว่าใครจะมีอุดมการณ์ชาตินิยมหรือจะใช้วิธีการทางการเมืองอย่างไร สามารถมาถกเถียง สร้างการเรียนรู้ นำเสนอประเด็นอย่างสร้างสรรค์ได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ แม้ประเด็นจะล่อแหลมก็ตาม” อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.อ.ปัตตานี กล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net