Skip to main content
sharethis

2 สว.ค้านแก้ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 ที่ล็อก 2 ชั้นให้ประชามติต้องมีคนมาใช้ถึง 26 ล้านคนและยังต้องได้เสียงกึ่งหนึ่ง เพราะเห็นว่าจะทำให้ประชามติมีความชอบธรรมและกฎหมายก็ผ่านมาโดยได้เสียงท้วมท้น หลังจากก่อนหน้านี้กรรมการประชามติมีข้อเสนอแก้เพราะเห็นว่าคนมาใช้สิทธิไม่ได้ตามเกณฑ์และอาจทำให้การทำประชามติแก้ รธน.ไม่ผ่าน

21 พ.ย.2566 สมาชิกวุฒิสภา 2 ราย ได้แก่ คำนูณ สิทธิสมาน และ วันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน แสดงความเห็นคัดค้านต่อข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 13 ซึ่งเดิมทีกำหนดให้ต้องมีผู้มีสิทธิออกเสียงออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งคือ 26 ล้านคน และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากผู้มาใช้สิทธิ

‘นิกร’ ชี้ กม.ประชามติเสียงข้างมากชั้น 2 ทําเดดล็อกแก้ รธน.ยาก ชงให้ตัดทิ้ง

ข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ประชามาติ ดังกล่าว นิกร จํานง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ศึกษา แนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมาเนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขเดิมอาจทำให้การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ยากเพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัวและทำประชาสัมพันธ์ให้คนออกมาใช้สิทธิได้ถึง 26 ล้านคนได้ยากและหากประชามติไม่ผ่านก็จะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้

นอกจากนั้นนิกรได้แสดงความด้วยว่า เขาเห็นว่าการต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้นนี้ไม่ควรมีอย่างยิ่งและควรใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวเพราะมีการออกมาใช้สิทธิทำประชามติแล้วบางคนอาจงดออกเสียงทำให้รวมเสียงกันแล้วมีเสียงเห็นชอบไม่ได้เกินกึ่งหนึ่ง ถ้าแก้โดยตัดชั้นที่ 2 ทิ้งให้เป็นเสียงข้างมากปกติก็แค่แก้มาตรา 13 อย่างเดียวและทำให้แก้ได้เร็วขึ้น แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปจะต้องผ่านความเห็นของทั้ง 2 สภา จึงต้องทำความเข้าใจกับ สว.ให้ดีเพราะมีความไม่เห็นด้วยอยู่

คำนูณแสดงความเห็นว่าผ่านทางเฟซบุ๊กของตนไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื่องจากที่ผ่านมากฎเกณฑ์เรื่องนี้ยังไม่เคยถูกใช้ ไม่มีตัวอย่างใดๆ ให้เอามาพิจารณา และกระบวนการในรัฐสภาเองเมื่อต้องลงมติสำคัญก็ยังกำหนดให้ใช้เงื่อนไขเกินกึ่งหนึ่งเป็นปกติ

คำนูณระบุอีกว่า นอกจากนั้นเนื้อหาของมาตรา 13 ในพ.ร.บ.ดังกล่าวในกระบวนการพิจารณาในสภาที่ผ่านมาแม้จะมีการอภิปรายกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้ง อีกทั้งกระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับเสียงจากทั้งสองสภาท่วมท้นและไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยจนมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 15 ก.ย.2564

อย่างไรก็ตาม คำนูณระบุในตอนท้ายว่ายังต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเสนอแก้มาตราดังกล่าวด้วยเหตุผลอย่างไรและจะแก้อย่างไร

ผู้จัดการออนไลน์ส่วนวันชัยแสดงความเห็นในฐานะที่เป็นผู้ร่วมร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยว่า เขาไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 13 นี้ถูกพิจารณามาด้วยความรอบคอบแล้ว และเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การทำประชามติเรื่องใดๆ ได้รับการยอมรับ เช่น กรณีที่มีการทำประชามติสอบถามถึงการเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศ จำเป็นต้องได้รับเสียงเห็นชอบที่ได้รับการยอมรับ จึงจะถือว่าชอบธรรม

วันชัยระบุอีกว่าเกณฑ์ตามมาตรา 13 นี้จะไม่เป็นเดดล็อกที่ทำให้ประชามติไม่ผ่าน เพราะหากรณรงคือย่างกว้างขวางเพียงพอก็เชื่อว่าจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิได้ตามเกณฑ์ และหากคิดจะแก้ พ.ร.บ.ประชามตินี้ตนเกรงว่าจะทำให้เป็นประเด็นปลีกย่อยที่ทำให้ประชามติไม่เกิดขึ้นและส่งผลไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญด้วย

ทั้งนี้วันชัยได้ตอบคำถามเรื่องจะมีการทำหนังสือความเห็นแย้งต่อคณะกรรมการประชามติด้วยหรือไม่ เขาตอบว่าต้องหารือในที่ประชุมกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองก่อน ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า แต่หากมีการขอความเห็นมาก็จะเสนอประเด็นตอบกลับไป

ต่อประเด็นนี้นอกจาก 2 สว.แล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาทางพรรคก้าวไกลก็มีการแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้โดยไทยโพสต์รายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของ พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคนที่ 4 กรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้กล่าวถึงข้อเสนอของนิกรว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 นี้

พงศธร ให้เหตุผลว่ามีการปรึกษาเรื่องนี้ใน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ แล้วก็เห็นด้วยในเรื่องนี้เพราะเงื่อนไขตามมาตราดังกล่าวนี้ทำให้การทำประชามติผ่านได้ยาก เพราะอาจเกิดกรณีมีคนไม่เห็นด้วยแล้วรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิเกินร้อยละ 50 แต่ถ้าหากทุกฝ่ายเห็นพ้องและให้แก้ไขเป็นให้มีผู้ที่เห็นชอบมากกว่าร้อยละ 25 ของผู้มีสิทธิก็ถือว่าผ่านก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญราบรื่นมากขึ้น

ส่วนเรื่องจะทำให้ประชามติล้าช้าออกไปหรือไม่นั้น พงศธรระบุว่าถ้าหากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันยื่นเรื่องเข้าสู่สภาฯ ก็จะใช้เวลาไม่นาน และเห็นด้วยว่าหากคณะรัฐมนตรียื่นเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมขณะที่ฝ่ายดำเนินการยื่นเรื่องประกบร่วมด้วยก็จะทำเรื่องเดินเร็วขึ้นและไม่น่ามีปัญหาเกิดตามมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net