Skip to main content
sharethis

เริ่มล่ารายชื่อเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ยอดทะลุ 4 พันคน เปลี่ยน 'เบี้ยยังชีพ' ให้เป็น 'บำนาญแห่งชาติ' ที่เป็นบำนาญรายเดือนจากรัฐให้คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทุกคน อย่างถ้วนหน้า ทั่วถึง และเป็นธรรม

14 พ.ย.2566 ภายหลังจาก เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'บำนาญแห่งชาติ' โพสต์แจ้งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติอย่างเป็นทางการแล้ว ได้เวลาล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ ตอนนี้ทางภาคประชาชนได้รับหนังสือตอบกลับจากรัฐสภามาแล้วว่าเรื่องที่เราขอริเริ่มเข้าเกณฑ์ในการเสนอกฎหมายตามหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาร่วมกันลงลายมือเสนอกฎหมายได้นั้น

ล่าสุดวานนี้ (11 พ.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'บำนาญแห่งชาติ' โพสต์เผยแพร่ลิงก์สำหรับล่ารายชื่อ https://pension-4all.com  พร้อมข้อความเชิญชวนว่า

"มาร่วมกันเปลี่ยน “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็น “บำนาญแห่งชาติ” ที่เป็นหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนให้กับผู้สูงอายุกัน

(ร่าง) พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พรบ.ผู้สูงอายุฯ มีหลักการสำคัญๆ คือ

เป็นบำนาญรายเดือนจากรัฐให้คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป #ทุกคน อย่างถ้วนหน้า ทั่วถึง และเป็นธรรม

อัตราไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ตามเกณฑ์สภาพัฒน์ฯ พร้อมจัดทําแผนบํานาญพื้นฐานแห่งชาติทุก 3 ปี

ตั้ง "กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ" โดยหางบมาบริหารจัดการจากภาษี 14 แหล่ง เช่น ทุนประเดิมจากรัฐ ภาษีสรรพสามิต สลากกินแบ่งรัฐบาล สัมปทานคลื่นความถี่ สัมปทานแร่ น้ำมัน/แก๊ส ภาษีจากกำไรซื้อขายหุ้น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ยกเลิกบีโอไอ เป็นต้น

ใครที่เสนอร่างกฎหมายได้บ้าง คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก, อายุครบ 18 ปีขึ้นไป และไปใช้สิทธิเลือกตั้งรอบล่าสุด (ใครพึ่งอายุ 18 ปียังไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งก็ลงชื่อได้)

ไม่ต้องรีบ...ค่อยๆ อ่าน... ถ้าเห็นด้วยตามนี้ มาร่วมกันลงลายมือชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนแบบออนไลน์ได้ที่ https://pension-4all.com หรือสแกนคิวอาร์โค้ดตามสะดวก (เนื้อหาเพิ่มเติมอยู่ในเว็บไซต์)

หรือใครอยากส่งแบบเป็นกระดาษอาจขอแรงพิมพ์แบบฟอร์ม โดยโหลดตามนี้ https://shorturl.asia/KnmXQ หรือตามนี้ https://shorturl.asia/qWwDS

"เราไม่ใช่มิจฉาชีพแน่นอน เลขบัตรประชาชนแต่ละท่านใช้ในการเสนอกฎหมายเท่านั้น รักษาความลับไว้ดุจไข่ในหิน มาช่วยกันสร้าง #รัฐสวัสดิการ #บำนาญแห่งชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศนี้ไม่ใช่แค่รอดตาย แต่ต้องอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เพจบำนาญแห่งชาติ ระบุ

โดยล่าสุดวันนี้ (14 พ.ย.) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 4,431 รายชื่อ เปิดรับถึง 10 ธ.ค.นี้

สาระสำคัญคร่าวๆ ของกฎหมายฉบับนี้ :

"พระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” (เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ผู้สูงอายุฯ) เพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจาก “เบี้ยยังชีพ” เป็น “บำนาญ” ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนจากรัฐ 

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็น “สิทธิ” ที่รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้บุคคล ทุกคน ที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยจ่ายเป็นบำนาญที่เป็นรายได้แบบรายเดือนอย่างถ้วนหน้า ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งอัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์สภาพัฒน์ฯ กำหนด และต้องจัดทําแผนบํานาญพื้นฐานแห่งชาติทุกสามปี

บริหารจัดการระบบมี “คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐและผู้แทนองค์กรเอกชน เข้ามาช่วยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการจ่ายบํานาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม

แหล่งที่มาของเงิน  จะมีการจัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ มาจาก 14 แหล่ง เช่น เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ ภาษีสรรพสามิต สลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งค่าสัมปทานคลื่นความถี่ ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เงินบํารุงภาษีรถยนต์ ส่วนแบ่งกฎหมายว่าด้วยการพนัน ส่วนแบ่งรายได้ขุดเจาะน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) ภาษีเงินได้จากการยกเลิกบีโอไอ หรือสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่และอํานาจในการช่วยลงทะเบียนรายชื่อของผู้สูงอายุที่มีความประสงค์จะรับสิทธิดังกล่าว (เหมือนที่ขึ้นทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ทำในตอนนี้)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net