Skip to main content
sharethis

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ อนุมัติอย่างเป็นทางการแล้ว ภาคประชาชน เดินหน้าล่าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ หวังให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้แบบรายเดือนเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปที่เพียงพอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐานและไม่ต้องสงเคราะห์หรือพิสูจน์ความจน


 

18 ต.ค.2566 จากกรณีเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่าย We Fair ประสานเสียงภาคประชาสังคม สลัม แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ชนเผ่า สื่อมวลชน คนพิการ คนรุ่นใหม่ พีมูฟ ผู้บริโภค นักวิชาการ ยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมเตรียมเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ผลักดันบำนาญถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุทุกคนช่วงเปิดสมัยประชุม กลางเดือนธันวาคม 2566 นั้น

ล่าสุดวานนี้ (17 ต.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'บำนาญแห่งชาติ' โพสต์แจ้งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติอย่างเป็นทางการแล้ว ได้เวลาล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ ตอนนี้ทางภาคประชาชนได้รับหนังสือตอบกลับจากรัฐสภามาแล้วว่าเรื่องที่เราขอริเริ่มเข้าเกณฑ์ในการเสนอกฎหมายตามหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาร่วมกันลงลายมือเสนอกฎหมายได้

"ใครสนใจอยากร่วมกันเสนอกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้แบบรายเดือนเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปที่เพียงพอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐานและไม่ต้องสงเคราะห์หรือพิสูจน์ความจน" เพจ 'บำนาญแห่งชาติ' โพสต์พร้อมชวนอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

สาระสำคัญคร่าวๆ ของกฎหมายฉบับนี้ คือ

"พระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” (เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ผู้สูงอายุฯ) เพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจาก “เบี้ยยังชีพ” เป็น “บำนาญ” ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนจากรัฐ

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็น “สิทธิ” ที่รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้บุคคล ทุกคน ที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยจ่ายเป็นบำนาญที่เป็นรายได้แบบรายเดือนอย่างถ้วนหน้า ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งอัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์สภาพัฒน์ฯ กำหนด และต้องจัดทําแผนบํานาญพื้นฐานแห่งชาติทุกสามปี

บริหารจัดการระบบมี “คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐและผู้แทนองค์กรเอกชน เข้ามาช่วยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการจ่ายบํานาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม

แหล่งที่มาของเงิน  จะมีการจัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ มาจาก 14 แหล่ง เช่น เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ ภาษีสรรพสามิต สลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งค่าสัมปทานคลื่นความถี่ ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เงินบํารุงภาษีรถยนต์ ส่วนแบ่งกฎหมายว่าด้วยการพนัน ส่วนแบ่งรายได้ขุดเจาะน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) ภาษีเงินได้จากการยกเลิกบีโอไอ หรือสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่และอํานาจในการช่วยลงทะเบียนรายชื่อของผู้สูงอายุที่มีความประสงค์จะรับสิทธิดังกล่าว (เหมือนที่ขึ้นทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ทำในตอนนี้)

การลงลายมือชื่อเพื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่ที่ 10,000 รายชื่อ เพื่อความชัวร์ว่ารายชื่อของประชาชนที่สนใจสนับสนุนร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ จะใช้งานได้ไม่มีปัญหาเชิงเทคนิค อาจต้องขอแรงให้พิมพ์แบบฟอร์มออกมาตามคิวอาร์โค้ดในรูป หรือโหลดแบบฟอร์มตามนี้  https://shorturl.asia/KnmXQ หรือตามนี้  https://shorturl.asia/qWwDS

แล้วเขียนลายมือชื่อพร้อมเซ็นกำกับให้ชัดเจน

กรอกครบตามเอกสารแล้วส่งไปรษณีย์มาที่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 48/282 ซ.รามคำแหง104 ถ.รามคำแหง แขวง/เขต สะพานสูง กรุงเทพฯ 10240

รายละเอียดผู้ริเริ่มและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้นเว็บรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว https://shorturl.asia/cDATN

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net