Skip to main content
sharethis

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ให้ “ไชยันต์ ไชยพร” งานวิจัยตอบโจทย์สังคมและการเมืองการปกครอง ไชยันต์ แนะนักวิจัยรุ่นใหม่ “ต้องมีใจรัก มีอุตสาหะ ขยัน มีวินัย ซื่อสัตย์และไม่ย่อท้อ”

 

3 พ.ย. 2566 ข่าวสารจุฬาฯ รายงาน ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กับงานวิจัยที่ตอบโจทย์ทางสังคมและการเมืองการปกครอง

ไชยันต์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่สนใจทำงานวิจัยว่า ตนเป็นคนชอบคิดชอบเขียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ กึ่งวิชาการ หรืองานที่ไม่เป็นวิชาการ ความสำเร็จในการทำงานวิจัยจึงเกิดจากความชอบ และความขยันหมั่นเพียร สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะพิจารณาจากงานวิจัยในภาพรวมตั้งแต่งานชิ้นแรกจนถึงล่าสุด 

ผลงานที่คัดสรรมาเป็นพิเศษจากงานวิจัยทั้งหมด ได้แก่

-Postmodern: ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Openbooks, 2550.

-ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทซ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Openbooks, 2551

-นิธิ เอียวศรีวงศ์ใน/กับวิกฤตการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2557 ได้รับรางวัลวิจัย ระดับดี สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประจำปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

-จอน เอลสเตอร์กับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Way of Book, 2557

-ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข: บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองทางรัฐศาสตร์). กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560. ได้รับรางวัลงานวิจัย ระดับดี สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประจำปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

-ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์คบไฟ, 2561

ไชยันต์ ไชยพร

ผลงานวิจัยเรื่อง “ผลจากการศึกษาหลักว่าด้วยสัมพันธภาพทางอำนาจสำหรับจัดการปกครองและหลักนิติรัฐ-นิติธรรม โดยเฉพาะต่อกรณีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์” เป็นงานวิจัยที่สะท้อนถึงลักษณะเฉพาะของการปกครองแบบ Constitutional Monarchy ที่มีพัฒนาการแตกต่างกันตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละสังคม ซึ่งทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อบทบาทและความสำคัญของสถาบันพระกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักของสังคมไทยบนหลักการและเหตุผลอย่างแท้จริง เป็นการลดความขัดแย้งของคนในสังคมที่มีสาเหตุมาจากการขาดความเข้าใจหรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์

สุดท้าย ไชยันต์ฝากข้อคิดสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จว่า “ต้องมีใจรัก มีอุตสาหะ ขยัน มีวินัย ซื่อสัตย์และไม่ย่อท้อ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net