Skip to main content
sharethis
  • คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ตั้งวงถกประเด็น 'เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า' สส.เพื่อไทย ย้ำนโยบายรัฐยังให้ความสำคัญกับเด็ก ด้านรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามเหตุใดที่รัฐบาลถึงไม่ให้สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ทั้งที่รัฐบาลมีงบประมาณที่จะทำได้ และเรื่องสัญชาติก็ไม่ใช่เรื่องจำกัด 
  • พม.เมืองกาญจน์ ชี้ ผู้ดูแลเด็กไม่ได้เป็นผู้ได้รับเงินสวัสดิการ เทศบาลปากแพรก ย้ำเด็กในพื้นที่ไม่มีตกหล่น พอช. ปรับป้าหมาย พัฒนาเด็กเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ขณะที่เครือข่ายประชาชน ย้ำชัด เด็กในผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับการดูแลแบบถ้วนหน้า เครือข่ายคนไร้บ้าน ขอให้หน่วยงานรัฐหันมองเด็กไร้บ้าน

30 ต.ค.2566 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้จัดเวที ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ในประเด็น "เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า" ที่ห้องประชุมบุศราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยในช่วงแรกเป็นการนำเสนอข้อมูลจากพื้นที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในการทำงานเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งบ้านปรังเผลนั้นมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และในพื้นที่จะมีพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านอาศัยอยู่ด้วย และเด็กที่เกิดจากพ่อแม่เหล่านี้จะเป็นเด็กที่ไร้สัญชาติ นอกจากนี้จากสภาพพื้นที่ที่กว้างใหญ่ แต่มีประชาชนอยู่อย่างเบาบาง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขา โดยมีนายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้เกียรติในการกล่าวเปิดงาน ซึ่ง สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวรายงานและนำเสนอข้อมูลการผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งมีการขับเคลื่อนมากว่า 9 ปี ร่วมกับเครือข่ายฯ 400 องค์กรทั่วประเทศ

ชุมพล แสงวรรณ ในฐานะผู้ประสานงานหน่วยจัดการฯจังหวัดกาญจนบุรี  กล่าวว่า พื้นที่บ้านปรังเผล  ในอำเภอสังขละบุรี มีภูมิประเทศติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จากการสำรวจข้อมูลเด็กเล็กเล็ก 0-6 ปี มีจำนวน 441 คน เป็นเด็กไทย 323 คนเด็กไร้สัญชาติ 118 คน มีเด็กได้รับเงินอุดหนุน 226 ราย มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพียง 2 ศูนย์ในพื้นที่ และรับเด็กได้เพียง 105 คน มีเด็กไม่ได้อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 300 กว่าคน

ธวัลรัตน์ คล้อยเอี่ยม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี ยอมรับว่ายังมีเด็กที่ขาดโอกาสยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศพื้นที่ อบต.ใช้วิธีลงสำรวจในพื้นที่เพื่อดูความต้องการของเด็ก ทั้งนี้ปัญหาที่ประชาชนเข้าไม่ถึง มาจากสภาพพื้นที่ในปรังเผล ประชาชนอยู่แบบกระจัดกระจาย การคมนาคมไม่สะดวก รวมถึงเด็กที่พ่อแม่มาจากประเทศเพื่อนบ้านไม่มีรหัส G อบต.เราจะแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กๆ ได้กินอาหารกับพี่ๆ กินไปด้วยกัน

“ในส่วนพื้นที่หากรัฐให้งบประมาณเพิ่ม เราสามารถที่จะสนับสนุนเด็กให้ได้มากกว่านี้” ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี  กล่าว

สำหรับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่อย่างที่ทราบว่าค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น เงินจำนวน 600 บาทไม่เพียงพอ และยังไม่ได้รับแบบถ้วนหน้าอีกด้วย

ศิริรัตน์ เช็งเส็ง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี ในฐานะสถาบันการศึกษา ได้ทำงานวิจัยกับเด็กนอกระบบในพื้นที่ปรังเผล โดยสำรวจเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบ ถึง 22 ปี โดยมีงบประมาณบางส่วนให้กับเด็กผ่านทาง อบต.ปรังเผล ได้ประมาณหัวละ 4,000  บาท โดยงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่จะสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ซึ่งมีทั้งเด็กไทยและเด็กไร้สัญชาติ  ซึ่งสามารถช่วยเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบ จนไปถึงเด็กโตที่สามารถไปเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรีได้

ส่วนในช่วงที่ 2  เป็นเวทีเสวนา ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม "เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า"  โดยมีวิทยกรในภาครัฐ และกรรคการเมืองได้ร่วมให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว นั้น

'เพื่อไทย' ย้ำนโยบายรัฐยังให้ความสำคัญกับเด็ก           

พนม โพธิ์แก้ว สส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเด็ก ซึ่งทุกอย่างต้องใช้งบประมาณ และรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น เพื่อจะนำงบประมาณดังกล่าวมาดำเนินการ รัฐบาลจะพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายในทุกด้านไปพร้อมๆกัน

'ก้าวไกล' ยืนยันรัฐมีงบประมาณพอสำหรับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

ณัฐวุฒิ บัวประทุม  รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามว่า มีเหตุผลใดที่รัฐบาลถึงไม่ให้สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ทั้งที่รัฐบาลมีงบประมาณที่จะทำได้ และเรื่องสัญชาติก็ไม่ใช่เรื่องจำกัด ส่วนกรณีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่ต้องไปไกลถึงต่างจังหวัด แค่เฉพาะในกรุงเทพมหานครยังมีปัญหาในเรื่องนี้ที่ต้องมีการดูแลเด็กให้มากกว่านี้ และส่วนงบประมาณของเด็ก ต้องให้กับผู้ดูแลเด็กจริง ๆ  สำหรับจำนวนเงิน ตามที่คณะทำงานฯ เสนอ 3,000 บาท มีพอหรือไม่อย่างไร แต่แน่นอนว่า 600 บาท มีเสียงสะท้อนว่าไม่เพียงพอ

“ผมคิดว่าจำนวนเงินนั้น คงต้องถกเถียงกันว่าเท่าใดถึงจะพอและเหมาะสม” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว พร้อมย้ำว่าอย่างไรก็ตาม นอกจากเงินอุดหนุนเด็ก คงต้องมองไปถึงสวัสดิการคุ้มครองเด็ก เพราะเราไม่มั่นใจว่านโยบายการคุ้มครองสวัสดิการเด็กของรัฐบาลจะครอบคลุมหรือไม่อย่างไร        

พม.เมืองกาญจน์ ชี้ ผู้ดูแลเด็กไม่ได้เป็นผู้ได้รับเงินสวัสดิการ

จันทร์จิรา พัฒนศิริ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี  สวัสดิการด้านเด็กที่พัฒนาสังคมฯ จังหวัดกาญจนบุรีทำคือ สวัสดิการเด็กแรกเกิด ซึ่งในจังหวัดมีเด็กอายุตั้งแต่ 0-6 ปี ประมาณ  6 หมื่นกว่าคน มาขึ้นทะเบียนสวัสดิการเด็กแรกเกิดประมาณ 4 หมื่นคน ไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 700 คน เนื่องจากขาดคุณสมบัติเรื่องรายได้ และยอมรับว่ากระบวนการในการขอค่อนข้างยุ่งยากสำหรับประชาชน หากคนในครอบครัวของเด็กมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เด็กจะได้รับสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า แต่หากมีไม่ครบทุกคนอาจจะต้องมีผู้รับรอง

อย่างไรก็ตาม พม.จังหวัดกาญจนบุรียังได้กล่าวถึงปัญหาของเงินสวัสดิการที่ไปไม่ถึงเด็ก เพราะพ่อแม่แยกทางหรือไปทำงานที่อื่น และผู้สูงอายุเป็นคนเลี้ยงดูเด็กแต่พ่อแม่เป็นผู้รับเงิน

เทศบาลปากแพรก ย้ำเด็กในพื้นที่ไม่มีตกหล่น

จันทนา มั่นคง ปลัดเทศมนตรีเมืองปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี  กล่าวว่า สำหรับสวัสดิการที่จะดูแลเด็กในพื้นที่จะมี กองทุนดูแลสุขภาพ โดยร่วมกับ รพสต. อสม.ในการดำเนินการ ส่วนในการดูแลเด็กตั้งแต่ 0-6 ปี เราจะมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2  แห่ง และเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์กับผู้ใหญ่บ้าน ให้เด็กที่ถึงเกณฑ์มาสมัครเรียน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีศูนย์ดูแลเด็กของเอกชน

“การดูแลเด็กต้องหาหน่วยงานร่วมในการทำงาน พื้นที่ปากแพรกเราให้ความสำคัญกับเด็ก ที่จะไม่ให้เด็กไปวิ่งเล่นโดยไม่มีสถานที่รองรับ หรือไม่มีใครดูแล เราพยายามให้เด็กๆในพื้นที่ได้รับการดูแล” ปลัดเทศมนตรีเมืองปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี  กล่าว

พอช. ปรับป้าหมาย พัฒนาเด็กเพื่อชุมชนเข้มแข็ง

เฉลิมศรี ระดากูล  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า  โจทย์ใหม่ของ พอช.ประธานกรรมการสถาบัน บอกว่า จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งต้องพัฒนาเด็ก จึงเกิดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ในการทำพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ 60 แห่ง โดยเน้นว่าท้องถิ่น ศูนย์เด็กเล็ก ครู ต้องลงมือทำด้วย โดยการปรับสภาพแวดล้อมในศูนย์เด็กเล็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ เน้นการสอนให้เด็กลงมือทำ

เครือข่ายประชาชน ย้ำชัด เด็กในผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับการดูแลแบบถ้วนหน้า   

สุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาเด็กไม่ใช่เป็นเรื่องของสวัสดิการ แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เพื่อให้เด็กได้เติบโตขึ้นและมีชีวิตได้อย่างดี เราคงต้องมาดูว่าจะพัฒนาเด็กร่วมกันได้อย่างไร ทั้งด้านการเรียน สุขภาพ อาหารของเด็กเรื่องนี้เป็นเรื่องถ้วนหน้าที่เด็กทุกคนต้องได้  ซึ่งรัฐบังคับด้วยว่าเด็กต้องเรียนหนังสือภาคบังคับ

ทั้งนี้ การให้สวัสดิการเด็กต้องมีระบบ เด็กทุกคนในแผ่นดินไทย ต้องได้อย่างถ้วนหน้า ใครเป็นผู้ดูแลเด็กคนนั้นต้องเป็นผู้ได้เงิน  เด็กที่ไร้สัญชาติรัฐต้องยิ่งเข้าไปดูมากขึ้น เพราะการลงทุนเพื่อเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด

ในขณะที่ผู้เข้าร่วมเวที จากเครือข่ายคนไร้บ้าน เสนอต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้เด็กที่ไม่ได้รับสิทธิใดๆเลยคือเด็กจากพ่อแม่ที่ไร้บ้าน ต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลให้การดูแลเด็กไร้บ้านเหล่านี้ด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net