Skip to main content
sharethis

สรุปความเห็น ‘ปิยบุตร’ กรณีญัตติขอให้ทำประชามติการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และคดี 112 หลายคดีล่าสุด

27 ต.ค. 2566 เวลา 12.00 น. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็น 2 ประเด็น ได้แก่ กรณีญัตติขอให้ทำประชามติการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และคดี 112 หลายคดีล่าสุด ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล 

1. สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบญัตติ ขอให้จัดประชามติเรื่องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ

ปิยบุตร ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาในการเสนอญัตติมีผลต่อการผ่านหรือไม่ผ่าน

เนื่องจากญัตติเรื่องคำถามประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคก้าวไกลเคยเสนอเมื่อปลายปีที่แล้ว ในวันที่ 3 พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของสภาฯ ชุดที่แล้ว อีกไม่ช้าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ จึงได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จาก สส. ทุกพรรคการเมืองหลัก ทำให้ สส.เหล่า ไม่กล้าทำอะไรที่ขัดใจประชาชน หลายพรรคการเมืองก็เอาจุดยืนเรื่องนี้ไปใช้หาเสียงว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ญัตติถูกปัดตกโดย สว. 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ญัตติทำนองเดียวกัน กลับถูกปัดตกตั้งแต่ชั้น สส. จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตที่ว่า พรรคก้าวไกลเสนอญัตติหลังจากที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว สส.เปลี่ยนจุดยืน ผลจึงเป็นเช่นนี้

ปิยบุตร กล่าวว่าท่าทีแบบนี้ทำให้เราเห็นว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ก็สะท้อนภาพทางการเมืองที่มี 2 กลุ่มวิธีคิดต่อสู้กัน คือกลุ่มอำนาจเดิมกับกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง 

ที่ผ่านมาในอดีต การทำรัฐธรรมนูญฉบับก็เป็นแบบทำใหม่ทั้งฉบับ กระทั่งจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 ไป 2550 ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเว้นหมวด 1 และหมวด 2 

ซึ่งในทางวิชาการและทางปฏิบัติ การแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ก็เป็นเรื่องทำได้ แต่ต้องมีการทำประชามติ

แต่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าคนบางกลุ่มกังวลตระหนกตกใจไปล่วงหน้า สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ออกมา พวกเขากลัวว่าถ้าให้ สสร. มาจากเลือกตั้งทั้งหมดแล้วจะเป็นฐานเสียงที่มีแนวคิดแบบก้าวไกล นำมาซึ่งความพยายามสกัดขัดความขวางการเปลี่ยนแปลง

สำหรับสถานการณ์ในระยะสั้น ปิยบุตรกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการตั้งคำถามประชามติให้เปิดกว้าง และสิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลคำถามประชามติอาจกลายเป็นตัวล็อกทางเลือกของประชาชน 

ตนคิดว่าประชาชนจะแบ่ง 3 กลุ่ม

  1. คง รธน.ไว้แบบเดิม ไม่ต้องทำอะไรเลย
  2. ทำรัฐธรรมนูญใหม่แต่ขอเว้นหมวด 1 และหมวด 2 โดย สสร. จะมาอย่างไรก็ได้  
  3. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ถ้ามีการลงประชามติแล้วคำถามเกิดไปล็อกอยู่แค่ว่า “ทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 และทำโดย สสร.” ถ้าเป็นเช่นนี้มีแนวโน้มว่าเสียงแตก ทำให้ ประชาชนกลุ่ม 2 กับ 3 อาจจะแพ้กลุ่มแรก เพราะโหวต yes ก็ขัดกับความต้องการ แต่ถ้าโหวต no อาจจะไม่ได้แก้เลย 

2. คดี 112 จำนวนมาก ทยอยพิพากษา มีทั้งจำคุก มีทั้งรอลงอาญา มีทั้งยกฟ้อง มีทั้งให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีทั้งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ปิยบุตร กล่าวว่า จากคดี ม.112 ที่มีกำหนดพิพากษาในช่วงเดือน ตนจัดเป็น 3 กลุ่ม

  1. กลุ่มแรก – ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย ข้อความไม่เข้าข่ายความผิด ม.112 พบข้อสังเกตประการหนึ่งคือส่วนใหญ่ศาลที่ยกฟ้องคือศาลต่างจังหวัด และอัยการมักไปอุทธรณ์ต่อ
  2. กลุ่มที่สอง – จำคุกแต่ให้รอลงอาญา
  3. กลุ่มที่สาม – จำคุกไม่รอลงอาญา และให้รอประกันตัว บ้างก็ได้ บ้างก็ไม่ได้

ปิยบุตรย้ำข้อเสนอให้มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง และรวมคดี ม.112 ด้วย แต่ด้วยบรรยากาศทางการเมืองทำให้บทสนทนาเรื่องนี้ยังไม่เกิด ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลยื่นนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมืองก็ไม่รู้จะถูกตีตกหรือไม่ ส่วนทาง ครม. มุ่งทำงานด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ แลดูไม่มีวี่แววที่จะผลักดันในเรื่องนี้

ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ตนเข้าใจข้อจำกัดของการตั้งรัฐบาลชุดนี้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร แต่ขอนำเรียนว่ารัฐบาลไม่ควรวางเฉย ขอให้พิจารณาใช้อำนาจที่มีแก้ปัญหาระยะสั้นไปพลางก่อน อาทิ ใช้มาตรการในทางบริหาร ควบคุมหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ปล่อยให้มีการฟ้องกลั่นแกล้ง หรือแก้กฎหมายมาตราอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ ม.112 ไปพลางก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net