Skip to main content
sharethis

นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย หารือเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ประจำประเทศไทย หวังทำความตกลง FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนสู่ตลาดใหม่ๆ และยังมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

27 ต.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงาน นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ประจำประเทศไทย ประกอบด้วยซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม แพทริก เฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก และเร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแนวทางยกระดับความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำความตกลง FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น (ไม่รวมอาเซียน) โดยการค้ารวมมีมูลค่า 41,038.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 6.95% ของการค้าไทยในตลาดโลก

ผู้แทนการค้าไทยกล่าวว่า การเจรจาความตกลง FTA ไทย-สหภาพยุโรป หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 และเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจา FTA อย่างเป็นทางการ โดยวางแผนว่าจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง และตั้งเป้าเบื้องต้นเพื่อหาข้อสรุปการเจรจาภายใน 2 ปี โดยเริ่มเจรจารอบแรก ณ กรุงบรัสเซลล์ เมื่อวันที่ 18 - 22 ก.ย. 2566 และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจารอบต่อไปในเดือนมกราคม 2567 โดยการเจรจารอบแรกเป็นไปด้วยดี ผู้แทนการค้าไทยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนการเจรจา FTA เพื่อให้สามารถสรุปผลและบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ด้วย

"ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำว่ารัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และยังมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย EU Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเขาตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ส่วนไทยก็คาดหวังว่าจะมีการพูดคุยและร่วมมือเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป" นลินี กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net