Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมติดตามข่าวสารกรณีปัญหาการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรกเกล้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยความสนใจยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองหลักประกันสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยอยากจะทราบว่าท้ายที่สุดแล้วผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่กระนั้นก็ตามขณะรอการเข้าถวายสัตย์และปฏิญาณเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในฐานะรัฐมนตรี ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า ดร.นลินี ทวีสิน ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือ blacklist จากหน่วยงานหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ติดต่อทำธุรกิจกับสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ดร.นลินี ให้การสนับสนุนด้านการเงินทำธุรกิจกับภรรยาผู้นำซิบบับเว นายโรเบริ์ต บูกาเบ้ ต่อมา ดร.นลินี ได้ออกมาปฏิเสธทันทีว่าเป็นความเข้าใจผิดไม่เป็นความจริงว่าตนไม่ได้ทำธุรกิจอย่างที่สหรัฐอเมริกากล่าวหา ขณะเดียวกันกับมี ส.ส.จากพรรคการเมืองเก่าแก่ พรรคประชาธิปัตย์รวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน ออกมาแสดงความคิดเห็นทักท้วงให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการแต่งตั้ง ดร.นลินี บางคนเสนอว่าให้ลาออกภายหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งยังมี ส.ว. บางคนบอกว่าควรทบทวนเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ เป็นสมาชิกถาวรสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บางกลุ่มถึงกับยื่นเรื่องร้องขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยว่าการแต่งตั้ง ดร.นลินี นั้นมีปัญหาด้านจริยธรรม ขณะที่มี ส.ส. บางกลุ่มบอกว่าการตั้ง ดร.นลินี ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่สง่างาม เพราะเหตุแห่ง “ข้อกล่าวหา” ดังกล่าว.. ไม่ว่าข้อทักท้วงหรือการขยายผลให้เป็น “ปัญหาทางการเมือง” เพื่อหวังผลสืบเนื่องต่อไปอย่างไรก็สุดแล้วแต่ กรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ที่เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในเวลานี้ จริง ๆ ไม่ได้เป็น “ปัญหา” แต่มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้เป็น “ปัญหา” ถ้าหากเป็นปัญหาจริงจึงเป็นปัญหาที่ต้องใคร่ควรต่อไปว่า ระหว่างปัญหาจากหน่วยงานหนึ่งในสหรัฐที่กล่าวหา กับ ปัญหาจากสังคมการเมืองฝั่งของประเทศไทยนั้น อย่างไหนเป็น “ปัญหาที่แท้จริง” ที่สมควรพิจารณาทบทวนมากกว่ากัน ผมฟันธงได้เลยว่าเมื่อได้สำรวจตรวจสอบ ทัศนคติข้อคิดความเห็นต่อเรื่องนี้จาก ส.ส. ส.ว. หรือกลุ่มการเมืองที่ออกมาเรียกร้องในเวลานี้แล้ว ปัญหาจากฝั่งของประเทศไทยหรือปัญหาทางสังคมวิทยาทางการเมืองไทยต่างหากที่เป็นปัญหามากสุด ๆ ในสายตาผมปัญหาที่ว่านี้ยิ่งใหญ่มากถึงขนาดว่าหากสังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์นี้ไปไม่ได้ ไม่มีแม้บรรทัดฐานที่ถูกต้อง ประเทศไทยจัดว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failure state) จริง ๆ ทั้งนี้หากจะต้องพิเคราะห์ให้ถึงที่สุดมองจากทางฝั่งหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เขาย่อมดำเนินการทุกวิถีทางที่จะรักษาผลประโยชน์ของเขาในทุก ๆ กรณี โดยเฉพาะต่อนโยบายระหว่างประเทศ รวมถึงหน้าตาประเทศด้วย ไม่ว่าจะมองผ่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ความมั่นคง หรือ การเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ก็ตาม เขาย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ “ผลประโยชน์” ของชาติเขาเป็นหลักใหญ่ใจความ ดูกรณีตัวอย่างการก่อสงครามในตะวันออกกลางเพื่อ น้ำมัน แม้แต่การผลักดันให้มีการลงโทษพม่าด้วยการบอยคอต (boycott) ไม่ให้ทำมาค้าขายกับพม่าจากปัญหาประชาธิปไตยในพม่า แต่กลับมีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกามิใช่หรือ ที่แพ้คดีในศาลสูงสหรัฐอเมริกาที่ต้องจ่ายเงินให้ชาวกระเหรี่ยงในจำนวนมากมายมหาศาล จากการถูกลงโทษโดยคำพิพากษาศาลในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการถูกกล่าวหามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวกระเหรี่ยงในประเทศพม่า ผมเองโดยส่วนตัวเคยมีประสบการณ์เล็กๆ กรณีคล้ายๆ ไม่แตกต่างจากรณี ดร.นลินี มากนักเหตุเกิดราวปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ขณะที่ผมและคณะช่วยกระทรวงสาธารณะสุข ริเริ่มกฎหมาย (Law Initiative) พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กฎหมายซึ่งสร้างหน่วยงานสำคัญในกระทรวงสาธารณะสุขที่รู้จักในนาม สถาบันการแพทย์แผนไทย ปัญหาเกิดขึ้นโดยมีหน่วยงานหนึ่ง ของสหรัฐอเมริกาไม่พอใจที่ประเทศไทยจะมีการตรากฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับ คงเป็นเพราะหน่วยงานดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาเกรงว่าจะกระทบกระเทือนสร้างผลกระทบต่อนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐพยายามผลักดันอยู่ในองค์การการค้าโลก โดยมีจดหมายโดยตรงมาทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาและสถานทูตสหรัฐอเมริกา ได้ส่งจดหมายดังกล่าวต่อรัฐบาลไทยเพื่อขัดขวางการจัดทำกฎหมายดังกล่าว โชคดีที่คุณหมอเพ็ญนภา ลาภเจริญทรัพย์ รมต. กระทรวงสาธารณะสุข รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมาถึงสองรัฐบาลคือ รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ และ รัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ที่สืบต่อมาไม่ยอมทำตามแรงกดดันจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้พวกผมในฐานะกลุ่มที่ริเริ่มได้รณรงค์เผยแพร่การแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐอเมริกาสู่สากล ผลปรากฏว่ามีองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า ๒๐๐ องค์กร สนับสนุนข้อริเริ่มร่างกฎหมายที่สหรัฐอเมริกาคัดค้านไทย เรื่องไปไกลถึงเวทีองค์การการค้าโลก WTO (World Trade Organization) สมาชิกในองค์การการค้าโลกต่างสนับสนุนจุดยืนของไทยในการมีกฎหมายดังกล่าวในทุกทวีป จนยกย่องข้อริเริ่มกฎหมายของไทยเป็นตัวอย่างในการปกป้องทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เหตุผลเบื้องหลังความยุ่งยากและความยากลำบากในการทำให้มี พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ ที่กล่าวมา ซึ่งถูกหน่วยงานของสหรัฐอมริกามากดดันรัฐบาลไทยไม่ให้ทำนั้น มีท่าทีท่วงทำนองไม่ต่างจากกรณีการขึ้นบัญชีดำ ดร.นลินี นั่นก็คือ การบริหารประเทศ รัฐบาลต้องฟังและระมัดระวังไม่ทำอะไรที่สวนทางกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลในอดีตได้สร้างบรรทัดฐานที่ดี ในการดำรงรักษาความถูกต้อง การดำรงรักษาอิสรภาพอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ผลที่ตามมาคือประเทศได้กฎหมายปกป้องทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และเป็นข้อริเริ่มที่ประเทศต่าง ๆ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ ความต่างอาจจะมีบ้างเมื่อครั้งสหรัฐกดดันรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลไทยกรณีการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ ไม่มีคนไทย ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนกลุ่มการเมืองใดพยายามปกป้องให้ยอมทำตามที่หน่วยงานสหรัฐอเมริกาต้องการ แต่กรณีบัญชีดำ ดร.นลินี กลับมี ส.ส. จากพรรคการเมืองเก่าแก่ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ว. ออกมาแสดงออกในเชิงให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ดร.นลินี ยอมและถือเอาข้อกล่าวอ้างและการขึ้นบัญชีดำจากหน่วยงานสหรัฐอเมริกามาเป็นหลักเกณฑ์ ยกเว้นไม่ต้องคำนึงถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ในปัจจุบัน แม้ไม่มีมูลเหตุใด ๆ อันเข้าลักษณะขัดจากคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ผมยังเชื่อต่อไปอีกว่าคงมีมาตรการทางการเมืองตามมาอีกหลากหลายอย่างแน่ โดยมิพักต้องพิจารณาใคร่ครวญถึง หลักการความถูกต้องตามกฎหมาย บรรทัดฐาน และ นิติธรรมระหว่างประเทศ (International Rule of Law) ดังนั้นผมจึงขอสรุปฟันธงเลยว่าปัญหา หากจะเป็นปัญหาจริง ๆ นั้นเป็นปัญหาของเราเอง ที่ไม่ช่วยกันสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง หลักการที่ถูกต้อง เพื่อนำไทยสู่การเผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันยิ่งสลับซับซ้อน หลงใหลวกวนอยู่แต่การเล่นการเมืองไปวัน ๆ และดีแต่พูดคำที่สวยหรูหลอกคนไทยไปวัน ๆ ผมอยากให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอากรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี เป็นการแสดงภาวะผู้นำ (leadership) ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในทางบริหาร ที่จะเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อการนี้ ขอให้เข้าใจและพึงระลึกอยู่เสมอว่าประเทศไทยเป็นรัฐที่มีเอกราชอธิปไตย (sovereign state) มีความเป็นอิสระ (Independence) และ มีความสามรถในการใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous State) ในการดำเนินการใด ๆ ตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ ถูกต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ (International Rule of Law)ในประการสำคัญการที่หน่วยงานหนึ่งในรัฐ ๆ หนึ่งประกาศขึ้นบัญชีดำใด ๆ ออกมา จะไปสร้างข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International legal binding) กับรัฐอีกรัฐหนึ่งให้ปฏิบัติตาม หรือไปมีผลบังคับเหนือบุคคลหรือยับยั้งสิทธิของพลเมืองของรัฐอีกรัฐหนึ่งมิให้ใช้สิทธิหรือยกเลิกเพิกถอนสิทธิใด ๆ ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญต้องเสียไปนั้น ยังไม่มีรัฐประเทศใดในโลกใช้หลักการนี้ให้มีผลการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์บังคับใช้ หรือแม้จะเป็นกรณีจารีตธรรมเนียมระหว่างประเทศ (International Norms) ในทางตรงกันข้ามกรณีของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดลักษณะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร บัญญัติไว้ความว่า มาตรา ๑๑๙ “ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร ตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต” สุดท้าย ดร.นลินี ในฐานะที่ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ก็อย่าหลีกหนีถอดใจลาออกตามข้อเรียกร้อง เพราะเท่ากับท่านมีส่วนในการทำลายอธิปไตยที่รัฐทุกรัฐมีเท่าเสมอกันตามกฎบัตรสหประชาชาติ อีกทั้งการเดินตามหนทางเสียงเรียกร้องดังกล่าวนั้นมาจากความคิดที่ป่วยหนัก....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net