Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ. ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยังคงรอคอยความยุติธรรมของในพื้นที่ เพราะการสลายการชุมนุมในวันนั้นของเจ้าหน้าที่ทำให้มีคนต้องเสียชีวิตมากถึง 78 ราย และคนถูกควบคุมตัวอีกกว่า 1,300 คน

แม้จะผ่านมา 19 ปี เหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบหลายคนยังคงไม่ลืม และมีน้ำตาเมื่อต้องพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว ภาพเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำ ยิงปืนสลายการชุมนุม จับผู้ชายที่มาหน้า สภ. ตากใบ ในวันนั้นถอดเสื้อ มัดมือไขว้หลัง และขนคนขึ้นรถไป ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นยังคงเด่นชัดในความทรงจำของหญิงชรา 2 คน ที่คนหนึ่งสูญเสียลูกชาย อีกคนเสียสามีให้กับเหตุการณ์ตากใบ

ที่สำคัญถึงเวลาจะล่วงเลยมา 19 ปี กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ สร้างบาดแผลลึกให้กับครอบครัวของเหยื่อและคนในพื้นที่

“19 ปี” ตากใบ กับแม่ที่สูญเสียลูกชายวัย “19 ปี”

19 ปีของเหตุการณ์ตากใบ หญิงชราวัย 63 ปี เธอเป็นแม่ที่สูญเสียลูกชายวัย 19 ปีไปในวันนั้นยังคงบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูกชายด้วยน้ำตา เธอจำได้ว่าวันที่เกิดเหตุเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งในช่วงเช้าเธออยู่บ้านกับลูกชาย แต่เมื่อออกไปทำธุระนอกบ้าน กลับมาอีกทีก็ไม่รู้ว่าลูกชายไปไหน ไม่รู้ว่าเขาไปกับเพื่อน หรือไปกับใคร แต่เห็นรถยนต์วิ่งผ่านหน้าบ้านมากผิดปกติ เธอจึงไปสอบถามเพื่อนบ้านทำให้ทราบว่าตอนนี้คนแห่พากันไปที่ตากใบ ไม่ทราบว่าเขาไปทำอะไร

ตอนนั้นแม่เริ่มมีความกังวลแล้วว่าลูกชายตัวเองจะไปที่ตากใบด้วย เธอเลยออกจากบ้านไปตามหาลูกชายที่ตากใบ โดยให้คนแถวบ้านขี่รถพาไปส่ง

เวลาประมาณ 10.00 น. แม่ไปตามหาลูกชายที่ สภ.ตากใบ

ในความทรงจำที่เธอเล่าไปถึงก็เห็นคนเยอะ รู้จากคนแถวนั้นว่าเจ้าหน้าที่จับตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มา 6 คน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าเอาปืนของรัฐไปให้กับผู้ก่อความไม่สงบ แต่ ชรบ. ที่ถูกจับมายืนยันว่าพวกเขาก็ถูกปล้นปืนไปเช่นกัน ชาวบ้านจึงมาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน

แม่เป็นคนหนึ่งที่อยู่หน้า สภ. ตากใบ เพื่อถามหาลูกจากคนแถวนั้น แต่ก็หาไม่เจอ

ตอนที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม เพื่อนของแม่โดนเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเข้าที่ตา เธอจึงพาเพื่อนไปล้างหน้าที่ริมน้ำ ตอนนั้นยังไม่มีใครลงไปที่ริมน้ำ แต่ขณะที่ทั้งสองคนกำลังจะเดินกลับขึ้นมามีเหตุสลายการชุลมุนเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ยิงปืนมายังทางผู้ชุมนุม ทำให้คนวิ่งหลบกระสุนมายังบริเวณริมน้ำ

แม่ที่มาตามหาลูกชายเล่าว่า ตนเองไปไหนไม่ได้แล้ว คนหนีลงไปข้างล่างตรงริมน้ำกันหมด เสื้อผ้ากับเอกสารที่อยู่ในกระเป๋าเปียกหมด ได้ยินเสียงคนร้องไห้กลัวตาย กลัวถูกยิง ตอนนั้นทหารประกาศให้ผู้หญิงขึ้นไปข้างบน แต่มีคนตะโกนว่า “จะขึ้นไปได้อย่างไร ในเมื่อเสียงปืนดังไม่หยุด”

เจ้าหน้าที่จึงหยุดยิงสักพักหนึ่ง เพื่อให้ผู้หญิงขึ้นไปจากบริเวณริมน้ำ และไปรวมตัวกันอยู่ที่อาคารใกล้กับหน้าโรงพัก รอทหารไปส่งกลับบ้าน

แม่ที่ยังตามหาลูกชายไม่เจอเล่าต่อว่า ตนเห็นตอนที่เจ้าหน้าที่ลำเลียงคนที่ถูกมัดมือไขว้หลังขึ้นรถบรรทุก แต่ไม่รู้ว่าให้นอนทับกันไป พอทราบข่าวก็รู้สึกว่า “ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงไม่มีความปราณี ไม่มีมนุษยธรรม ถ้าให้เขายืนเรียงกันไปบนรถก็คงจะไม่เกิดความสูญเสียเช่นนี้ รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำไม่ถูก”

เวลาประมาณ 20.30 น. ทหารพาแม่ที่ไม่พบตัวลูกชายกลับมาส่งที่ถนนทางเข้าบ้าน

คืนนั้นแม่ที่รอลูกชายนอนไม่หลับ เพราะลูกชายยังไม่กลับบ้าน จึงเดินไปถามข่าวจากเพื่อนบ้าน มีข่าวว่าคนที่ไปที่ถูกจับหน้า สภ.ตากใบ ถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี คนที่เสียชีวิตก็ให้ไปดูศพที่ปัตตานีเช่นกัน

แม่ไม่ได้เดินทางปัตตานีด้วยตัวเอง เพราะต้องอยู่บ้านดูแลลูกชายคนเล็ก

สามีของเธอเดินทางไปที่ปัตตานี วันแรกไม่พบชื่อลูกชายในรายชื่อผู้เสียชีวิต แต่วันที่ 2 เขาพบชื่อลูกชายตัวเองถูกระบุเป็นผู้เสียชีวิต คนเป็นพ่อจำศพลูกชายได้จากผ้าขนหนูผืนเล็กที่เหน็บอยู่ที่กระเป๋ากางเกงด้านหลัง เนื่องจากลูกชายของเขามักจะพกผ้าขนหนูเช่นนี้เป็นประจำ

แม่ที่ได้พบเพียงศพของลูกชายเล่าว่า ถ้าวันนี้ลูกชายยังอยู่เขาก็จะมีอายุ 38 ปี

ทุกวันนี้เวลาคิดถึงลูกชาย เธอจะดุอาละหมาดให้ลูกชาย 5 เวลา “ถึงจะเสียชีวิตก็ขอให้ลูกไปอยู่ในภพภูมิที่ดี สวดอัลกุรอ่านไปให้ ทุกวันศุกร์พ่อของเขาก็จะไปอ่านสวดที่กุโบร์ตลอด”

“ในพื้นที่สามจังหวัดกฎหมายไม่ได้มีความยุติธรรม ไม่ได้มีความยุติธรรมในเรื่องนี้กับคนสามจังหวัด” หญิงชราที่สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าว

เสื้อตัวโปรดของลูกชายที่จากไป

แสดงในนิทรรศการ "สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547"  ณ เดอ ลาแป อาร์ตสเปซ นราธิวาส 

 

ภรรยาที่สูญเสียสามี

วันนั้นเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ตอนประมาณ 09.00 น. ก๊ะ (แปลว่า พี่สาว ในภาษามลายูเป็นคำที่ผู้ให้สัมภาษณ์ใช้เรียกแทนตัวเอง) ออกจากพร้อมลูกชาย ด้วยความตั้งใจที่จะไปตลาดซื้อของให้ลูกชายเตรียมตัวไปเป็นทหาร ส่วนสามีของก๊ะออกจากบ้านไปกินน้ำชาตั้งแต่เช้าตรู่เหมือนทุกวัน

ขณะที่ผ่านหน้า สภ.ตากใบ ก๊ะเห็นคนจำนวนมากรวมตัวกันอยู่ที่หน้า สภ. จึงแวะเข้าไปดูเหตุการณ์ เมื่อทราบข่าวว่ามี ชรบ. ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ก๊ะเองก็อยากรู้ว่า ชรบ. จะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ถึงร่วมอยู่ดูเหตุการณ์ที่ สภ.ตากใบ อีกคนหนึ่ง

จากความทรงจำของก๊ะ สักระยะหนึ่งเจ้าหน้าที่มีการยิงปืนขึ้นฟ้าเตือนให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ตอนนั้นก๊ะแยกกันกับลูกชายแล้ว แต่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยิงปืนสลายการชุมนุมอย่างจริงจังก๊ะได้เจอกับสามี เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มยิงปืนสามีของก๊ะก็บอกให้เธอหมอบตัวลง “เขาบอกให้ก๊ะขึ้นอยู่บนหลังยอ และคลานไปอยู่ที่ริมน้ำ ตอนนั้นมีทหารมาบอกว่า ผู้หญิงขึ้นมา (จากบริเวณริมน้ำ) ผู้ชายถอดเสื้อ” ตอนนั้นสามีของก๊ะถอดเสื้อตัวนอกของตัวเองมอบให้ก๊ะถือกลับขึ้นไปด้วย และนำเสื้อตัวในถอดมัดมือตัวเองตามที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่ง

หลังจากนั้นก๊ะก็ถือเสื้อของสามีเดินแยกไปอยู่กับกลุ่มผู้หญิง โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะเจอกับสามี

การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ. ตากใบ ยังทำให้น้องชายของก๊ะถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี ส่วนลูกชายถูกจับกุม โดยลูกชายเอาเบอร์โทรศัพท์ของแม่ให้กับเจ้าหน้าที่และโทรติดต่อกลับมาแจ้งว่า “พ่อไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่มีพ่ออยู่ตรงนั้น” ก๊ะจึงไปตรวจสอบรายชื่อผู้เสียชีวิต ปรากฎว่ามีชื่อสามีตัวเองรวมอยู่ด้วย

ญาติของก๊ะที่เข้าไปดูศพคนที่เสียชีวิตโทรมาถามก๊ะว่าสามีของเธอแต่งกายด้วยชุดอย่างไรในวันเกิดเหตุ

“ก๊ะก็บอกว่าสามีใส่ผ้าโสร่งสีเทา กางเกงในสีเขียว ศพคนตายก็มีแบบชุดนั้น” ภรรยาที่สูญเสียสามีเล่า

นอกจากต้องสูญเสียสามีแล้ว ก๊ะยังต้องกังวลว่าลูกชายจะได้รับการปล่อยตัวออกมาหรือไม่

19 ปีที่แล้ว สามีของก๊ะมีอายุ 44 ปี ทั้งสองคนมีลูกด้วยกัน 3 คน

ก๊ะเล่าว่า หลังจากที่สามีเสียชีวิตเธอไปที่กรงนกที่สามีเลี้ยงไว้ “ก๊ะพูดกับนกว่า จากนี้ต่างคนต่างมีชีวิต เจ้าของของเธอไม่อยู่แล้ว” ก่อนที่จะเปิดกรงทั้งหมด ปล่อยนกทุกตัวออกไป เธอไม่อยากได้ยินเสียงนกร้อง เสียงที่จะทำให้เธอคิดถึงสามีที่จากไป

กรงนกของสามีที่จากไป

แสดงในนิทรรศการ "สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547"  ณ เดอ ลาแป อาร์ตสเปซ นราธิวาส 

 

ท้ายที่สุดของความตายผู้หญิงทั้งสองคนนำศพสามีและลูกชายตัวเองกลับมาทำพิธีพร้อมกัน และฝังที่สุสานเดียวกัน

 

  • วันศุกร์ (Jum'ah อ่านว่า ญุมอะฮฺ หรือ ญุมอัต) ชายมุสลิมจะถูกกำหนดให้ไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดเป็นประจำ ช่วงละหมาดคือเวลาเที่ยงๆ วันศุกร์ในความเชื่อของมุสลิมถือเป็นวันที่ดี มีศิริมงคลกว่าวันอื่นๆ ชาวบ้านในพื้นที่มักใช้เวลาเย็นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ตก (เรียกว่า มัฆริบ, ชาวบ้านจะออกเสียงว่า "งอและ") ในการเยี่ยมกุโบรฺ (หลุมฝังศพ) .จากนั้นมักจะอ่านกุรอ่าน เเล้วก็ดุอาอฺให้ญาติที่ตายไป
  • คำว่า "ยอ" ในบริบทนี้ แปลว่า สามี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net