Skip to main content
sharethis

ศึกษาการถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม ในชุมชน 11 แห่ง จาก 6 กลุ่ม ทั่วประเทศ ตอบคำถามแนวคิดเบื้องหลังการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน ชี้ชาวบ้าน หวัง “ความมั่นคง” ในการอยู่อาศัย-ทำกิน มุ่งยุทธศาสตร์สร้างความชอบธรรมให้ชุมชน

 
 
ภายหลังการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการให้มีโฉนดชุมชน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 2553 ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค.55 พบว่า มีชุมชนที่ยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนแล้ว 435 แห่ง เนื้อที่รวม 2.2 ล้านไร่ ครอบคลุม 47 จังหวัด 6.3 หมื่นครัวเรือน แต่จำนวนที่ขยายตัวมากขึ้นนั้นอาจไม่ได้บอกถึงความมั่นคงในการจัดการที่ดินของประชาชน
 
อีกทั้ง รูปธรรมการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมจะเป็นจริงได้หรือไม่ และไปได้ไกลแค่ไหน ยังเป็นคำถามสังคัญของสังคมในปัจจุบันซึ่งปัญหาที่ดินรุนแรงขึ้นทุกขณะ
 
การสัมมนาวิชาการเรื่อง “สังคมไทยต้องสูญเสียอะไร หากไม่ปฏิรูปที่ดิน: การจัดการโฉนดชุมชนกับการปฏิรูปที่ดินของท้องถิ่น” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.55 คือส่วนหนึ่งในการพยายามตอบคำถาม
 
 
“งานศึกษาชิ้นนี้เป็นงานศึกษาเชิงปฏิบัติการ ที่ต้องการยกระดับและตอบคำถามว่า การปฏิรูปที่ดินในสังคมไทยที่ผ่านมามันล้มเหลว แล้วการที่ชาวบ้านขึ้นมาเป็นตัวหลัก มาเป็นตัวปฏิบัติการในการปฏิรูปที่ดิน ชาวบ้านเขามีแนวคิดเบื้องหลังพื้นฐานในเรื่องการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน หรือการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง” พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” กล่าว
 
พงษ์ทิพย์ นำเสนอข้อมูลงานศึกษาโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” อันเป็นความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประทศไทยว่า เริ่มต้นตั้งแต่ขึ้นเมื่อปลายปี 53 เพื่อสำรวจสถานการณ์การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินตามนโยบายโฉนดชุมชน ว่าสร้างความเป็นธรรมในการจัดการที่ดินได้หรือไม่
 
การศึกษา เลือกชุมชน 11 แห่ง จาก 6 กลุ่ม ทั่วประเทศ ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนโฉนดชุมชนตามระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ ศึกษาชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และชุมชนหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ศึกษาชุมชนบ้านดอนฮังเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 3.สหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่ได้รับการอนุมัติและส่งมอบพื้นที่แล้ว จำนวน 1,803 ไร่
 
4.เครือข่ายสลัม 4 ภาค ศึกษาชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และชุมชนเพชรคลองจั่น เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 5.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ศึกษาชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ที่ล่าสุดมีปัญหาบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งบริษัทเอกชนบุกรุกโดยผิดกฎหมาย แล้วนำมาฟ้องขับไล้ชาวบ้าน และชุมชนไทรงามพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี สุดท้าย 6.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ศึกษาชุมชนทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง จ.ตรัง และชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
 
พงษ์ทิพย์ กล่าวถึงข้อค้นพบหลักจากพื้นที่ศึกษาว่า ประเด็นปัญหาหนึ่งของชาวบ้านที่ต้องประสบ แม้จะอยู่ในพื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่จัดการโฉนดชุมชนแล้วก็ยังถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกรังแก ขับไล่ออกจากพื้นที่ในแทบทุกแห่ง และในบางพื้นที่พบปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ที่ดินถูกทิ้งร้างจึงมีการเข้าไปทำการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่เอกชน ทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและถูกจับกุม โดยปัญหาเรื่องคดีความทุกพื้นที่วิจัย ชาวบ้านมีคดีติดตัวแทบทั้งหมด ยกเว้นที่สหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยง
 
“ชาวบ้านเป็นด่านหน้าในการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงคนที่เป็นด่านหน้าในการปฏิรูปเราก็ต้องเจอกับ บทเรียนที่เจ็บปวด และชาวบ้านก็ต้องผ่านบทเรียนอันนี้” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว พร้อมเสนอว่าอยากชวนคนในสังคมร่วมกันตอบคำถามว่า การจะผลักดันเรื่องการปฏิรูปที่ดินให้เป็นจริง ภายใต้พื้นฐานที่มีบทเรียนการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านซึ่งมีอยู่มากมายจะทำได้อย่างไร
 
 

นักวิจัยเล่า “ประวัติศาสตร์” ปฏิรูปที่ดินไทย

 
ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิจัยหลักโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” กล่าวว่า ในอดีตการปฏิรูปที่ดินของไทยหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งใหญ่เรื่องที่ดินมีอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ 1.ในสมัย ร.5 หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398 มีการออกประกาศโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) กำหนดให้มีเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดินโดยหวังว่าประชาชนจะเป็นเจ้าของที่ดิน และใช้ที่ดินเพื่อการผลิตทางการเกษตร แต่ปรากฏว่าชนชั้นสูงกลับได้เอกสารสิทธิจำนวนมาก
 
ครั้งที่ 2.ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ปี 2503 ยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดินจากเดิมให้ถือครองไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้าถึง ครอบครอง และผูกขาดที่ดิน ทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น
 
ดร.กฤษฎา ให้ข้อมูลต่อมาว่า ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินทำกินมีมายาวนาน โดยเมื่อปี 2470 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวนาภาคกลางร้อยละ 36 มีปัญหาที่ดินไม่พอเพียงและปัญหาหนี้สิน ยิ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามระบบทุนนิยมมากขึ้น มีเรื่องกรรมสิทธิ์ มีการส่งเสริมการผลิต แต่ไม่คิดเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่คิดถึงเรื่องการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรร และไม่คิดว่าคนถือครองที่ดินต้องเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาจากรัฐ เช่น การตั้งนิคมสหกรณ์เช่าที่ดิน นำที่ดินราชพัสดุมาจัดสรรให้คนจน มี พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา ฯลฯ แต่เครื่องมือเหล่านี้ไม่อาจช่วยได้
 
ปัญหาของระบอบทุนนิยมที่ทำให้ที่ดินเป็นสินค้ารุนแรง และการใช้กลไก มาตรการทางนโยบายอยู่ที่รัฐส่วนกลางโดยขาดการมีส่วนร่วม ขาดการกระจายอำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขปมสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปที่ดินในทางบวกที่มีความเป็นธรรมและยังยืนนั้นไร้ผลมาตลอด
 
“นี่คือจุดท้าทายว่า เราจะสามารถสร้างการปฏิรูปที่ดินครั้งที่ 3 ขึ้นมาได้ไหม ให้เป็นการปฏิรูปที่ดินที่อยู่บนพื้นฐานของการกระจายอำนาจ ความเป็นธรรม และความยั่งยืน” นักวิจัยหลักโครงการฯ กล่าว
 
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาของคนทั้งสังคม ไม่ใช่แค่คนจน แต่จะทำอย่างไรให้สังคมมาร่วมกันผลักดัน เพราะที่ผ่านมาขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปที่ดินมักไม่เป็นวาระทางสังคม แม้จะมีความพยายามอย่างมากเพราะแรงเสียดทานทางโครงสร้าง ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการหันมาสนใจการปฏิรูปที่ดินของท้องถิ่นในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่ขณะนี้
 

ประมวลผลการศึกษา “โฉนดชุมชน” ความพยายามปฏิรูปที่ดินจากล่างขึ้นบน

 
ดร.กฤษฎา กล่าวว่า “โฉนดชุมชน” คือการจัดการที่ดินรูปแบบที่ชาวบ้านพยายามทดลองปฏิบัติขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม ความยั่งยืน และประสิทธิภาพ ซึ่งโจทย์ของการศึกษาคือจะจัดการโฉนดชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่ อย่างไร เงื่อนไขความเข้มแข็งอยู่ที่ตรงไหน และจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป โดยมีพื้นที่ศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันใน 4 รูปแบบ คือ 1.ชุมชนเกษตรกรรมพึ่งพาฐานทรัพยากรท้องถิ่น 2.ชุมชนเกษตรกรรมพึ่งทรัพยากรที่จัดการใหม่ 3.ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท และ 4.ชุมชนเมือง
 
จากการศึกษาพบว่า ความไม่เป็นธรรมที่ชุมชนเผชิญ คือ 1.ชุมชนถูกแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรไปโดยรัฐ เช่นกรณีชุมชนในเขตป่า หรือชุมชนในพื้นที่สาธารณะที่ประกาศโดยรัฐ ทำให้กลายเป็นคนไร้สิทธิโดยกฎหมาย 2.ชุมชนถูกข่มขู่คุกคาม จับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชน 3.ชุมชนถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐ 4.ชุมชนเผชิญความรุนแรงหรือความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง เช่น ความยากจน การเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาสทางสังคมต่างๆ 5.รัฐไม่ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรให้คนยากจน ทั้งที่มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลแทบทุกรัฐบาลมีนโยบายเรื่องนี้ และ 6.ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ จากกรณีที่ชาวบ้านจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เป็นคนที่เอาแต่ได้ ถูกมองด้วยอคติ
 
ดร.กฤษฎา กล่าวต่อมาถึงการอ้างสิทธิและความเป็นธรรมในการจัดการโฉนดชุมชนว่า 1.หลายพื้นที่อ้างสิทธิในฐานะผู้บุกเบิกทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินมานาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชนบทแต่ร่วมถึงชุมชนเมืองด้วย 2.สิทธิการเป็นพลเมือง ในฐานะเป็นประชาชนเท่าเทียมกัน ซึ่งควรต้องมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง มั่นคง และมีศักดิ์ศรี ตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ถูกสนับสนุนและปฏิบัติเช่นนั้น 3.สิทธิของผู้ที่อยู่อาศัยทำกินมาต่อเนื่องและมีส่วนร่วมในชุมชน การจัดการโฉนดชุมชนในหลายพื้นที่สะท้อนว่า คนที่ร่วมจัดการชุมชน ร่วมต่อสู้ ฝ่าฟันมาด้วยกัน สิทธิของคนเหล่านี้ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น มากกว่าคนที่มีสิทธิแต่ในนาม
 
และ 4.โฉนดชุมชนเป็นการรับรองสิทธิแบบปัจเจกภายใต้ระบบสิทธิชุมชน ไม่ใช่การยึดที่ดินและแรงงานไปเป็นของส่วนรวม แต่ให้ปัจเจกชนในชุมชนมีที่ดินของตนเอง โดยอยู่ใต้กติกาที่ตกลงร่วมกันตามหลักความยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งปัจเจกต่อรองได้ตามความเหมาะสมไม่ใช้การบีบบังคับ มีพลวัต
 
 

 

ชาวบ้านหวังอยู่อาศัย-ทำกิน “ความมั่นคง” มุ่งยุทธศาสตร์สร้างความชอบธรรมให้ชุมชน

 
สำหรับเหตุผลที่ชุมชนเลือกจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน คือ 1.ชาวบ้านต้องการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกิน เพราะเล็งเห็นว่าการไม่สู้เป็นชุมชนร่วมกันจะเกิดปัญหาตามมา 2.การป้องกันที่ดินหลุดมือ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ชาวบ้านห่วงใยมาก 3.ชุมชนสามารถร่วมกันออกแบบการจัดการที่ดินให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม 4.สร้างพลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกัน ชาวบ้านมีการระดมทุน มีกองทุนที่ดิน มีการช่วยเหลือทรัพยากร มีการช่วยแรงงานกัน ซึ่งระบบที่เกื้อหนุนกันตรงนี้ตอบคำถามที่ว่า ทำไมประสิทธิภาพของชาวบ้านที่จัดการโฉนดชุมชนจึงเพิ่มขึ้น นั่นเพราะไม่ได้สู้ด้วยบุคคลเดี่ยวๆ และ 5.หวังว่าจะเอื้อต่อการสนับสนุนทรัพยากรและสาธารณูปโภคจากรัฐ
 
ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โฉนดชุมชน ข้อแรกคือการต่อรองสร้างความชอบธรรมให้กับชุมชน ตรงนี้คือหัวใจสำคัญ จากการศึกษาประเด็นชาวบ้านสนใจคือเรื่องความเป็นธรรมเป็นเรื่องแรก อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและความยั่งยืน ข้อต่อมาคือการสร้างขีดความสามารถในการจัดการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และยุทธศาสตร์สุดท้ายการสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
กติกาในการจัดการโฉนดชุมชน 1.มีการแบ่งประเภทพื้นที่ออกเป็นที่สาธารณะร่วม ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย 2.มีการจัดสรรที่ดินมีทั้งแบบให้เท่าเทียมกัน หรือรับรองสิทธิเดิมที่มีอยู่ และกรณีชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิกที่มีที่ดินน้อยที่สุด จะเห็นว่าวิธีการมีความยืดหยุ่นหลากหลาย 3.มีกติกาห้ามซื้อขายที่ดินกับคนภายนอก หากจะมีการขายที่ดินก็ขายในกลุ่ม ในกรณีชุมชนเพชรคลองจั่น มีกฎห้ามแสวงประโยชน์ต่อที่ดินเชิงทรัพย์สิน เช่น ห้ามให้เช่าที่ดินกับคนภายนอก
 
4.ให้สิทธิแก่สมาชิกชุมชนที่ทำการเกษตรหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนแออัด และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน แต่จะไม่ให้สิทธิกับคนภายนอก คนที่มาเช่าก่อนหน้าทำโฉนดชุมชน สมาชิกชุมชนแต่ไม่มีที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชน ไม่ร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน หรือไม่ร่วมผลักดันโฉนดชุมชน 5.มีการจัดการทรัพยากร จัดการภูมิทัศน์ร่วมของชุมชน และการพัฒนาชุมชนร่วมกัน โดยสมาชิกจะต้องมาร่วมประชุม ปรึกษาหารือ และร่วมกิจกรรมการพัฒนาชุมชน
 
 

บอกไม่ได้ “โฉนดชุมชุม” จะสร้างความมั่นคง เหตุเงื่อนไขทางนโยบาย-การเมือง

 
ดร.กฤษฎา กล่าวถึงความเป็นธรรมของโฉนดชุมชนว่า สำหรับชุมชนที่มีระบบการจัดการร่วมอยู่แล้ว ความเป็นธรรมของพวกเขาก็คือการรับรองสิทธิต่อที่ดินที่พวกเขามีอยู่ แม้สิทธิเหล่านั้นจะไม่มีกฎหมายมารองรับก็ตาม ส่วนชุมชนที่ออกแบบจัดการใหม่นั้น ส่วนมากความเป็นธรรมเกิดจากการจัดสรรที่ดินให้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีความเป็นธรรมเพื่อคนชายขอบ มีการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินมากที่สุดก่อน และความเป็นธรรมโดยการให้สิทธิอันดับแรกแก่สมาชิกชุมชนที่มีบทบาทต่อส่วนรวม มีการอยู่อาศัย และทำกินจริงเพื่อประโยชน์ร่วมแก่ชุมชน
 
สำหรับผลของการจัดการโฉนดชุมชน คือ 1.การปกป้องสิทธิชุมชนในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน และ 3.การสร้างความชอบธรรมของชุมชนต่อรัฐและสังคม
 
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าปัญหาในขณะนี้คือ แม้ชาวบ้านจะจัดการอย่างไร กลับไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐเท่าที่ควร ยังมีการใช้อำนาจและความรุนแรง ดังนั้นการจัดการโดยชุมชนในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสร้างความมั่นคงได้แล้วเพราะยังมีเงื่อนไขทางนโยบายและทางการเมืองที่ส่งผลกระทบ ส่วนในทางเศรษฐกิจกำลังก่อร่างสร้างตัว แต่ก็สัมพันธ์กับทางการเมือง เพราะบางชุมชนอยู่ในภาวะถูกข่มขู่คุกคาม ความมั่นใจในการลงทุนทางการผลิตก็มีน้อย รวมทั้งความชอบธรรมของชุมชนต่อสายตาคนรอบข้าง
 
ส่วนปัจจัยท้าทายสำหรับโฉนดชุมชน คือ 1.การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิสาธารณะ สิทธิชุมชน และสิทธิปัจเจกให้ลงตัว 2.การพัฒนาโฉนดชุมชนต้องตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความยั่งยืนของทรัพยากร และ 3.นโยบายรับรองสิทธิชุมชนของรัฐ
 
 

 

ตัวแทนชาวบ้าน ชี้ข้อดีการจัดทำ “โฉนดชุมชน” เร่งรัฐผลักดันเป็นกฎหมาย

 
กันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินที่ชาวบ้านประสบไม่ว่าเรื่องกฎหมายหรือนโยบาย ล้วนเป็นเรื่องของการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน ขณะที่ชุมชนไม่มีอำนาจ ทำอะไรก็ผิด แม้แต่การอาศัยในที่ดินเดิมที่บรรพบุรุษทำมาหากินมานับร้อยปี แต่กลายเป็นคนที่ผิดกฎหมาย ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ถูกดำเนินคดีไม่ว่าทางแพ่งในคดีโลกร้อนหรือทางอาญา และเราทำเรื่องนี้มานานเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้ทนไม่ไหวและเกิดการรวมตัวกันเรียกร้องนับตั้งแต่ความขัดแย้งประเด็นที่ดินในพื้นที่ป่าเมื่อปี 2543
 
ที่ผ่านมา ปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ทั้งในเรื่องที่ดินกระจุกตัว ไม่กระจายไปสู่เกษตรกรจริง รัฐและทุนมองว่าที่ดินเป็นสินค้า ไม่ใช่ปัจจัยในการผลิตอาหาร พยายามแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน ขณะที่เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินเนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต โดยไม่มีโครงสร้างมารองรับ ทำให้ปัญหาลุกลามมาเรื่อยๆ และเมื่อรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ชาวบ้านจึงต้องรวมกันเป็นองค์กรภาคประชาชนเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา ซึ่ง คปท.ก็มีการเสนอเรื่องแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยใช้โฉนดชุมชน ภาษีที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดิน และอาจรวมถึงการจำกัดการถือครองที่ดินในอนาคต
 
เรื่องโฉนดชุมชน กันยา กล่าวว่า ช่วยแก้ปัญหาที่ดินเปลี่ยนมือจากเกษตรกรและการใช้งานที่ดินผิดประเภท เนื่องจากที่ดินเป็นของชุมชน มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการชุมชนหากจะมีการเปลี่ยนมือที่ดิน โดยแต่ละชุมชนจะมีกติกา มีแผนการจัดการ และการตรวจสอบ นอกจากนั้นยังมีกองทุนธนาคารที่ดินมาช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนด้วย ส่วนปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา การมีแนวทางนโยบายของรัฐเรื่องโฉนดชุมชน และมีมติ ครม. มีการทำข้อตกลง รวมไปถึงการมีคำสั่งอัยการสูง ช่วยให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำอยู่ทำกินในพื้นที่ของตนเองได้ใน ถือเป็นการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง เนื่องจากยังเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนปัญหาการบุกรุกทำลายป่าก็บรรเทาลง เพราะพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชนมีกติกา มีแผนการจัดการทรัพยากร และทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
 
นอกจากนั้น ในเรื่องภัยพิบัติ การทำเกษตรแบบโฉนดชุมชนเป็นการทำการเกษตรที่สมดุลและยั่งยืน ลดละเลิกการใช้สารเคมี มีการปลูกพืช 4 ระดับ ไม่ทำลายโครงสร้างของหน้าดิน ซึ่งตรงนี้ช่วยลดการเกิดภัยพิบัติได้ ส่วนด้านเศรษฐกิจ จากเดิมที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ได้ ตอนนี้เข้าไปโค่นต้นยางของตนเองเพื่อปลูกใหม่ได้ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตนเอง สามารถผลผลิตอย่างเต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้น
 
“ทางออกเหล่านี้รัฐจะเอาหรือไม่เอา จะแก้หรือไม่แก้ แต่ในนามของภาคประชาชนต้องใช้อำนาจของตัวเองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ผลักดันต่อ แม้ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเอาหรือไม่เอา แต่เรายังต้องเดินต่อเรื่องโฉนดชุมชนให้เป็นกฎหมาย และเสนอเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงด้วย” กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าว
 
กันยา กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดอีกอันหนึ่งทีสำคัญคือ นักวิชาการและราชการในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้น แสดงถึงการยอมรับในทางสังคม ทั้งนี้เพราะเห็นถึงความก้าวหน้าในการเดินหน้าของประชาชนที่ประสบผลจริง
 
 

 

“อดีตกรรมการปฏิรูป” ชี้นักการเมืองเจ้าที่ดินกำแพงปิดกัน “การปฏิรูปที่ดิน”

 
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าวว่า การผลักดันเรื่องการปฏิรูปที่ดินของไทยเหมือนเดินหน้าพุงชนกำแพง ซึ่งกำแพงนี้คือฝ่ายการเมือง จากการลงพื้นที่ติดตามปัญหาเรื่องที่ดินทั่วประเทศจะเห็นว่านักการเมืองมีที่ดินเป็นจำนวนมากอยู่ในแทบทุกพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่ติดเขตชายแดน ตรงนี้จึงกลายเป็นกำแพงที่ทำให้นักการเมืองไม่สนใจข้อเสนอของภาคประชาชน นักวิชาการ รวมทั้งของคณะกรรมการปฏิรูป ที่เสนอมายาวนานว่า ประเทศไทยจะถึงทางตีบตัน พัฒนาต่อยอดไปไม่ไกล ถ้าโครงสร้างพื้นฐานคือที่ดินซึ่งเป็นฐานของการผลิตในสังคมไทยอันเป็นสังคมเกษตรกรรมไม่มีความมั่นคง
 
อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวต่อมาว่า ปัญหาที่ดินในสังคมไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นจากปัญหาการจัดการที่ดิน และคดีที่ดินทั้งที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินคดี รวมทั้งที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในที่ดินของรัฐรอถูกฟ้องร้องดำเนินคดีซึ่งตรงนี้มีเป็นล้านครอบครัวในพื้นที่ 30-40 ล้านไร่ การที่ชาวบ้านต้องคดีถูกพิพากษาจำคุกนั้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อครอบครัว ญาติพี่น้อง และสังคมกระทบเชื่อมโยงกัน รวมทั้งกระทบสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และชุมชนถูกละเมิดสิทธิ์
 
2.ปัญหาระยะยาว เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2502 ซึ่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และการใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับศักยภาพ เช่น กรณีความขัดแย้งประเด็นที่ดินรัฐบนภูเขา ขณะที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ด้านล่างกับใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้างมีถึง 30-40 ล้านไร่ และกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีที่ดิน NPL ถึง 39 ล้านไร่
 
 

“รวบอำนาจที่ส่วนกลาง” การจัดการที่ดินที่ผิดพลาด

 
อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าวต่อมาว่า ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาในเชิงระบบ ทำให้ชีวิตของคนในสังคมไทยเสื่อมโทรมและบางส่วนต้องล่มสลาย เกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ นี่คือผลกระทบที่มีต่อสังคมชนบท ส่วนผลกระทบที่มีต่อสังคมเมือง เห็นได้จากตัวเลขชุมชนแออัดจำนวนมากในกรุงเทพฯ เพราะชีวิตในชนบทและชีวิตในเมืองที่เชื่อมโยงกัน เมื่อชีวิตในชนบทล่มสลายคนก็หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมือง ในชุมชนที่ครอบครัวหนึ่งๆ มีที่อยู่อาศัยขนาดไม่กี่ตารางเมตร ตรงนี้คือผลกระทบต่อสังคมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่หลายปีที่ผ่านมาผู้บริหารบ้านเมืองกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ
 
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่การรวมโครงสร้างอำนาจการตัดสินใจมาอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ตัดการกระจายอำนาจ เอาระบบจำกัดการถือครองออก มีการทำที่ดินให้เป็นสินค้า ใช้กลไกลการตลาดมาบริหารจัดการที่ดิน ทำให้เข้าสู่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนหลัง 40 ทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลมาซื้อที่ดิน ทำให้ประเทศไทยสูญเสียที่ดินมากที่สุดและเร็วที่สุดในช่วงนั้น และแม้จะมีโครงการของรัฐเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นกลไกลบริหารจัดการโดยราชการขาดการมีส่วนร่วม สุดท้ายล้มเหลว
 
 

เสนอเปิดข้อมูลการถือครองที่ดินให้สาธารณะร่วมตรวจสอบ

 
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ปัญหาที่มีอยู่เนื่องจากประชาชนไทยยังไม่ลุกขึ้นมาเพราะไม่รู้ข้อมูล ดังนั้นควรทำข้อมูลการกระจุกตัวของที่ดินและผลกระทบจากการจัดการที่ดินให้เข้าใจง่าย เป็นข้อมูลสาธารณะและเข้าถึงง่าย เพื่อให้คนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ถึงวันนั้นประชาชนจะลุกขึ้นมาถามรัฐบาลว่าทำไมไม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสำคัญของชาติอย่างปัญหาที่ดิน และ 2.การปฏิรูปที่ดินต้องทำพร้อมกับการกระจายอำนาจ คือ อำนาจในการตัดสินใจเพื่อจัดการฐานทรัพยากร การกระจายที่ดิน ทั้งการจำกัดการถือครอง การคุ้มครองเกษตรกร การเก็บภาษี ฯลฯ ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมของท้องถิ่น และชุมชน
 
“ราษฎร เกษตรกรจะต้องมีทำกิน ประชาชนในทองถิ่นต้องมีอำนาจ ถ้าประเทศชาติมีการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรม” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว
 
 

 

“สุนี” ชี้ 3 โจทย์สำคัญปฏิรูปที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรม-ชุมชนเมือง-ที่ดินในมือรัฐ

 
สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดินต้องยอมรับโจทย์ที่ว่าที่ดินมีจำกัด ขณะที่ทุกคนต่างก็อยากได้ อีกทั้งต้องกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ป่าด้วย จากการพูดคุยที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่รัฐบาลผ่านมาแทบทุกชุดพูดถึงความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของมนุษย์เป็นทฤษฎี ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นจริงหากคนไม่มีที่ดิน โจทย์ตรงนี้คือต้องยอมรับแนวคิดที่ว่าเกษตรกรต้องมีที่ดินทำกิน หากรัฐต้องการให้มีความมั่นคงทางอาหาร อยากให้ผู้คนอยู่ได้ เข้าถึงสิ่งดีๆ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคม
 
นอกจากนั้นยังมีโจทย์ใหญ่ของชุมชนซึ่งต้องมีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในเมืองด้วย ตรงนี้สังคมไทยโดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลต้องทำความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปฏิรูปที่ดินได้ เพราะประชาชนจะต้องกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายทั้งหมด เมื่อที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่วนโจทย์ที่สาม รัฐได้ตั้งตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าของที่ดินมหาศาล ในวันนี้หากนับเป็นตัวเลขกลมๆ พบว่ามี 1 ล้านครอบครัวอยู่พื้นที่ของรัฐ ซึ่งเป็นที่ป่า ที่ราชพัสดุ ที่ทหาร ที่ป่าชายเลน ฯลฯ ที่รัฐถือครองแล้วเปิดให้รัฐเองฉวยโอกาสใช้ประโยชน์โดยโครงสร้างและนโยบาย
 
 

งัดข้อเสนอเดิม กสม.จี้สางปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐกว่า 1 ล้านครอบครัว

 
รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิฯ เคยได้มีการเสนอว่า หากจะปฏิรูปที่ดิน รัฐเพียงสะสางปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐกว่า 1 ล้านครอบครัว เพราะหลายเรื่องมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าชาวบ้านเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดิน แต่ไม่มีใครลงไปแก้ไข ทำให้ชาวบ้านอยู่ในสถานะผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และพร้อมที่จะถูกจับได้ตลอดเวลา ตรงนี้สามารถแก้ไขได้เลย เพียงแต่รัฐต้องลงมาจัดการ โดยยอมรับความเป็นจริงของการไม่มีเอกสารสิทธิของชาวบ้าน และเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีข้อมูลมากมายที่จะบอกว่าชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ควรได้รับสิทธิในที่ดิน อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับว่าการเกิดมาเป็นคนต้องมีที่อยู่อาศัย การไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไม่ใช่การยุติปัญหา
 
ในส่วนการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายนั้น คปก.มีหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ โดยต้องพัฒนาองค์ความรู้และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนบนฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งยุทธศาสตร์ 4 ข้อเร่งด่วน ของ คปก.มีเรื่องเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักเรื่องที่หนึ่ง 2.การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.กระบวนการยุติธรรม และ 4.สวัสดิการสังคม ทั้งนี้ เรื่องที่ดินสิ่งที่ คปก.จะขับเคลื่อน คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน ทำให้กฎหมายนี้เป็นที่ยอมรับ แต่ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล 2.ออกกฎหมายสิทธิชุมชน 3.การกระจายอำนาจ เพราะปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เพียงจัดสรรที่ดิน แต่หมายถึงการจัดการที่ดินซึ่งจะมีผลกระทบในหลายๆ ด้าน
 
 

 

นักวิชาการชี้ “โฉนดชุมชน” แนวคิดใหม่ แต่อย่าทิ้ง “ส.ป.ก.”

 
ศ.ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ ประธานสถาบันทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า เขามีความแน่ใจมากว่านโยบายที่สำคัญที่สุดของประเทศคือนโยบายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นนโยบายที่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และจากงานวิจัยที่ได้ทำมาก็ชี้ไปในแนวทางนี้ เมื่อมี พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ขึ้นมาจึงรู้สึกดีใจมาก โดยไม่รู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะคิดว่าอนาคตของเกษตรกรและประเทศจะดีขึ้น แต่จากการติดตามเรื่องนี้กลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลในสมัยต่อๆ มาไม่ให้การสนับสนุน ไม่ให้งบประมาณ
 
ส่วน “โฉนดชุมชน” เป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งจากที่ได้ศึกษามาเมื่อไม่นาน เห็นว่าข้อเสนอล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่ในแง่มุมทางวิชาการส่วนตัวยังไม่มีความมั่นใจ ยังไม่มีความชัดเจนว่าแนวนโยบายดังกล่าวจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่เราประสงค์กัน และหากใช้วิธีโฉนดชุมชนแล้วจะเอา ส.ป.ก.ไปไว้ที่ไหน ในเมื่อนั่นคือสิ่งที่มีอยู่แล้วและก็ต่อสู่กันมาตลอดในการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
 
ศ.ดร.ทองโรจน์ กล่าวแสดงความเห็นว่า นโยบายที่ดินเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงว่านโยบายของ ส.ป.ก.ที่ทำมา ที่บอกว่าล้มเหลวนี้จะอยู่ตรงไหน มันหยุดไม่ได้และจะต้องทำต่อไป อาจต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่านโยบายโฉนดชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่สำคัญและมุ่งแก้ปัญหาในประเด็นปัญหาที่มีความเฉพาะ มีความพิเศษ ดังนั้นจึงควรต้องมีการเชื่อมกันของ ส.ป.ก.กับนโยบายนี้ และจะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาของประเทศไทย คือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ แล้วกลไกที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมานี้ถึงจะเขียนเป็นกฎหมายดีอย่างไรก็ตาม แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ประสบผล
 
“ปัญหาในเรื่องการปฏิรูปของประเทศไทยมันลึกซึ้ง มันมากมายกว่าที่เราจะมองเห็นปัญหาแต่เฉพาะจุด เราจะต้องมองทั้งประเทศ มองภาพรวม แล้วก็มองดูว่าอะไรซึ่งมันสามารถที่จะออกมาเป็นระบบที่ชัดเจน แล้วก็มีแนวทางปฏิบัติที่สามารถติดตามได้ ถ้าทำไม่ได้จะต้องรับผิดชอบ เป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ ใครรับผิดชอบในกระทรวงไหนก็ต้องให้เด่นชัด ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าในสังคมไทยจะต้องมี ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องมานั่งพูดเรื่องนี้กันไปอีก 40 ปี” ศ.ดร.ทองโรจน์ กล่าว
 
 

ปธ.สภาเกษตรกร เสนอร่วมเกษตรกร 20 ล้านคน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน

 
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว่า เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าเกษตรกรรายย่อยเป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบเศรษฐกิจโดยรวม ยิ่งแข่งขันยิ่งสูญเสียที่ดิน ตอนนี้สิ่งที่คิด คือ 1.คนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่รอดได้อย่างไรในสังคม ไม่ใช่จะแข่งขันอย่างไร
 
2.สังคมหากจะแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกิน ในระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ไม่สามารถแก้เรื่องคุณภาพได้ เนื่องจากฝ่ายการเมืองไม่ยอมรับ จากที่ได้มีการพยายามในสภามาหลายปีมีคนจำนวนน้อยมากที่คิดเหมือนกันในเรื่องนี้ ดังนั้นการจะปฏิรูปที่ดินใหม่ทั้งระบบโดยพลิกฝ่ามือเป็นเรื่องเพ้อผัน สิ่งที่จะทำได้ในขณะนี้ อาจเป็นเรื่องการผลักดันโฉนดชุมชนให้ออกมาเป็นกฎหมาย ตรงนี้อาจสามารถเป็นไปได้ เรื่องกองทุนพัฒนาที่ดิน หรือเรื่องกฎหมายป่าไม้ที่เป็นปัญหาอาจผลักดันไปทางรัฐบาลให้มีมติ ครม.อนุญาตให้คนทำอยู่ทำกินในที่ทำกินเดิม โดยไม่มีการจับกุมชาวบ้าน อย่างไหนทำได้ทำก่อน สิ่งไหนทำยากคงต้องรอเวลา
 
3.การเตรียมการ ซักซ้อม เพิ่มปริมาณคนที่คิดเหมือนกัน เกษตรกรรายย่อยที่เข้าตาจนอยู่ขณะนี้รู้ข้อมูลเท่าเราหรือเปล่า หรือคนหนึ่งล้านครอบครัวที่ทำกินอยู่ในเขตป่ารู้ผู้ในแนวทางการแก้ปัญหาเดียวกับเราหรือเปล่า คนเหล่านี้จะมาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนได้ ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นองค์กรใหม่ที่มีพลังของเกษตรกร 20 ล้านคน มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งต่างประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เสนอทำงานร่วมกัน จัดเวที ให้ข้อมูล ส่งข่าวสาร ร่วมกันขับเคลื่อน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net