Skip to main content
sharethis

'ไต้หวัน' ฉลอง 112 ปี วันชาติ มุ่งมั่นปกป้องอธิปไตยและประชาธิปไตยของชาติ ป้องกันการขยายตัวของลัทธิเผด็จการ ย้ำ 'นโยบายมุ่งใต้ใหม่' ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญมาเป็นเวลานานทั้งด้านเศรษฐกิจและการค้า การแพทย์และสุขภาพ, การเกษตรและการประมง, แรงงาน, การท่องเที่ยว, วัฒนธรรมและการศึกษา 

12 ต.ค.2566 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย จัดงานฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในงาน เซีย ซิ่ว เม่ย รองผู้แทนรัฐบาล กล่าวบทสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติไต้หวัน ครบรอบ 112 ปี โดยย้ำถึงความต้องการพัฒนาความเข้มแข็งของประเทศและขีดความสามารถในการป้องกันตนเองโดยรวม ความแน่วแน่ที่จะปกป้องอธิปไตยและประชาธิปไตยของชาติและจะพยายามให้ดีที่สุดในการรักษาสันติภาพอย่างที่เป็นอยู่ระหว่างช่องแคบไต้หวัน เพื่อให้ไต้หวันกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค รวมทั้งป้องกันการขยายตัวของลัทธิเผด็จการ 

รองผู้แทนรัฐบาลไต้หวัน ยังย้ำถึงการส่งเสริม "นโยบายมุ่งใต้ใหม่" ของไต้หวันได้เข้าสู่ปีที่ 8 แล้วว่า มีไทยเป็นพันธมิตรสำคัญของไต้หวันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมุ่งมั่นกระชับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านเศรษฐกิจและการค้า, การแพทย์และสุขภาพ, การเกษตรและการประมง, แรงงาน, การท่องเที่ยว, วัฒนธรรมและการศึกษา เป็นต้น

รายละเอียดบทสุนทรพจน์ เซีย ซิ่ว เม่ย รองผู้แทนรัฐบาล ในงานวันชาติไต้หวันประจำประเทศไทย มีดังนี้ 

แขกผู้มีเกียรติจากประเทศไทย ผู้แทนคณะทูตานุทูต ผู้นำชาวจีนโพ้นทะเล ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี สวัสดีค่ะ

อันดับแรก ดิฉัน ในนามของรัฐบาลและประชาชนแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและสหายทุกท่านที่มาร่วม “งานวันชาติฉลองครบรอบ 112 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)” และขอขอบคุณทุกท่านให้การสนับสนุนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (สำนักงานฯ ) มาโดยตลอด ดิฉันขอแสดงความขอบคุณและความเคารพอย่างสุดซึ้ง

หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ระหว่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานกำลังถูกคุกคามโดยลัทธิเผด็จการ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเกิดสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย และจีนดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารครั้งใหม่รอบเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไต้หวันซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแปซิฟิกตะวันตกในสายโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรก, อุตสาหกรรมการขนส่งทั่วโลกและห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์

สันติภาพและเสถียรภาพระหว่างช่องแคบไต้หวันสัมพันธ์กับระเบียบระหว่างประเทศ, ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลกเป็นอย่างยิ่ง ไต้หวันจะมุ่งพัฒนาตนให้เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของประเทศที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และข้อได้เปรียบของไต้หวัน ช่วยร่วมกันป้องกันการขยายตัวของลัทธิเผด็จการ ไต้หวันถือครองสติและความสงบอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในระดับสูง ทำให้ประชาคมโลกมองเห็นว่าไต้หวันมีความสำคัญอย่างยิ่ง(Taiwan Matters) พร้อมถ่ายทอด "วงจรแห่งความดี" ไปทั่วโลก

ภายใต้ความท้าทายอันมากมาย เช่น ภัยคุกคามจากโรคระบาด, สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย, อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกและวิกฤตพลังงาน เศรษฐกิจของไต้หวันมีเสถียรภาพและความเข้มแข็งในระดับสูง มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เดือนมิถุนายนปีนี้ สถาบันบริหารธุรกิจโลซาน (IMD) ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโลก IMD ประจำปี 2023(World Competitiveness Yearbook)ไต้หวันอยู่ในอันดับ 6 มีอันดับดีขึ้นต่อเนื่องถึง 5 ปีซ้อน

มูลนิธิเดอะ เฮอริเทจ (The Heritage Foundation) สถาบันแหล่งข้อมูลคลังสมองสหรัฐฯ ประกาศข้อมูลดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประจำปี 2023 (2023 Index of Economic Freedom) ไต้หวันได้อันดับที่ 4 ในบรรดา 184 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไต้หวันมีทั้งข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีและการผลิต มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ชิปของโลก 60% และชิประดับไฮเอนด์ 92% มาจากไต้หวัน กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และระบบนิเวศน์เซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันมีความสมบูรณ์ที่ล้ำหน้าในโลก

รัฐบาลไต้หวันยังได้ตอบรับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างแข็งขัน ในปีนี้ ไต้หวันยกฐานะทบวงสิ่งแวดล้อม สภาบริหารเป็น “กระทรวงสิ่งแวดล้อม” และผ่าน "รัฐบัญญัติรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" กลายเป็นประเทศที่ 18 ในโลกที่วางเป้าหมาย "การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050" ให้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายดังกล่าวนอกจากจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก ยังผลักดันการลงทุนและช่วยสร้างห่วงโซ่อุปทานหลัก 4 ประเภทของไต้หวัน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, ยานยนต์ไฟฟ้าและการอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน

การส่งเสริม "นโยบายมุ่งใต้ใหม่" ของไต้หวันได้เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยมีไทยเป็นพันธมิตรสำคัญของไต้หวันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวันและไทยมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยาวนาน ใกล้ชิด และมีพลวัตในด้านต่างๆ ชาวไต้หวันพำนักอยู่ในประเทศไทยราว 150,000 คน โดยมีชาวจีนโพ้นทะเลเป็นรากฐานสำคัญของมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างไต้หวันและไทย เราจะมุ่งมั่นกระชับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านเศรษฐกิจและการค้า, การแพทย์และสุขภาพ, การเกษตรและการประมง, แรงงาน, การท่องเที่ยว, วัฒนธรรมและการศึกษา

ด้านเศรษฐกิจการค้า นักธุรกิจชาวไต้หวันมีความสนใจลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อรับมือกับการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก สถิติทางการเปิดเผยว่าในปี 2022 นักธุรกิจชาวไต้หวันที่ลงทุนในไทยจะสูงถึง 1.33 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 152% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ไต้หวันเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแผงวงจร (PCB) เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไต้หวันรองจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในบรรดาผู้ผลิตแผงวงจรที่ใหญ่ที่สุด 20 รายแรกของไต้หวัน มี 9 รายที่กำลังลงทุนหรือสนใจลงทุนในประเทศไทย พื้นที่รอบกรุงเทพฯ มีโอกาสที่จะกลายเป็นกลุ่มการผลิตแผงวงจร (PCB) ของนักธุรกิจไต้หวัน ในขณะที่นักธุรกิจชาวไต้หวันมุ่งมั่นหันมาลงทุนในไทย ไต้หวันก็ได้เพิ่มมูลค่าส่งออกมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้การส่งออกของไต้หวันไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 25.54% สถิติตัวเลขต่างๆ แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไต้หวัน – ไทยที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไต้หวันมาโดยตลอด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนไต้หวันทะลุ 217,000 คน ฟื้นตัวขึ้น 93% จากจำนวนช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดโรคระบาด ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางต่างประเทศยอดนิยมของชาวไต้หวัน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันมาเยือนประเทศไทยสูงถึง 418,000 คน ฟื้นตัวขึ้น 87% จากจำนวนช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดโรคระบาด แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั้งสองฝ่ายเป็นที่น่าประทับใจ

ด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไต้หวันและไทยมีการแลกเปลี่ยนกันในระดับผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์, ทัศนศิลป์, ศิลปะการแสดง, การตีพิมพ์วรรณกรรม ฯลฯ ทำให้คนไทยมีความเข้าใจศิลปะและวัฒนธรรมของไต้หวันมากยิ่งขึ้น และช่วยแสดงให้เห็นถึง ซอฟต์ พาวเวอร์ของไต้หวัน นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาและการกีฬาระหว่างไทย-ไต้หวัน มีผลลัพธ์ในหลายปีที่ผ่านมานี้เช่นกัน ปีที่แล้ว มีนักเรียนไทยไปเรียนที่ไต้หวัน 4,047 คน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ มีอัตราการเติบโต 41.4% ต่อปี ไต้หวันยังได้พยายามช่วยกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในการจัดกิจกรรมต่างๆ, ส่งเสริมความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลและส่งเสริมให้นักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลไปศึกษาต่อที่ไต้หวัน ในปีนี้ ไต้หวันได้สนับสนุนนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลทั้งหมด 239 คนได้กลับไปศึกษาต่อที่ไต้หวัน เพิ่มขึ้น 60.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังโรคโควิด-19 ระบาด การเติบโตอย่างมั่นคงและความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยไต้หวัน ชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไต้หวันในการเปลี่ยนแปลงทางภูมิยุทธศาสตร์และการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมทั่วโลก ประชาธิปไตยของไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีที่ขาดมิได้ในการรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก จีนดำเนินการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ไต้หวันในฐานะหนึ่งในสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมโลก ได้ยืนหยัดอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่าสันติภาพคือเป้าหมายหนึ่งเดียว ไต้หวันจะไม่เพิ่มความขัดแย้งและไม่ก่อให้เกิดข้อพิพาท ดังที่ประธานาธิบดีไช่ได้กล่าวไว้ว่า เราจะใจเย็นและไม่ก้าวร้าว, มีเหตุผลและไม่ยั่วยุ แต่เราจะมีความมั่นคงไม่ถดถอย พัฒนาความเข้มแข็งของประเทศและขีดความสามารถในการป้องกันตนเองโดยรวม รัฐบาลไต้หวันมีความแน่วแน่ที่จะปกป้องอธิปไตยและประชาธิปไตยของชาติและจะพยายามให้ดีที่สุดในการรักษาสันติภาพอย่างที่เป็นอยู่ระหว่างช่องแคบไต้หวัน เพื่อให้ไต้หวันกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค

สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันดื่มถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีทรงพระเกษมสำราญ ดื่มเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และขอให้มิตรภาพระหว่างเราทั้งสองฝ่ายจงยั่งยืนสถาพรชั่วกาลนาน และขอให้แขกผู้มีเกียรติทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง สมความปรารถนาทุกประการ ขอบคุณค่ะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net