Skip to main content
sharethis

สื่อท้องถิ่นเผยเหตุระเบิดค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน รัฐกะฉิ่น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 ราย รวมถึงเด็กและเยาวชน ทาง KIO กำลังสอบสวนหาสาเหตุ ด้านกองทัพเมียนมาปฏิเสธอยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว

 

11 ต.ค. 2566 หลายสื่อรายงานวานนี้ (10 ต.ค.) พันเอก หน่อบุ โฆษก KIO หรือองค์การอิสรภาพกะฉิ่น ระบุเมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนอย่างน้อย 29 ราย โดยเป็นเด็กจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุเพียง 1 ขวบครึ่ง จำนวน 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 57 ราย จากเหตุระเบิดในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกะฉิ่น ติดกับชายแดนเมียนมา-จีน

"มีผู้เสียชีวิตชาย 14 ราย และผู้หญิง 15 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของเมียนมา ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี จำนวน 11 ราย" โฆษกของ KIO ให้สัมภาษณ์อิรวดี เมื่อ 10 ต.ค. 2566

หลังจากนี้ ผู้เสียชีวิตอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมีการเคลียร์พื้นที่ และยกซากปรักหักพังออกไป

สำหรับเหตุระเบิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนไม่นานของวันที่ 9 ต.ค. 2566 ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้พลัดถิ่นภายในนับร้อยราย โดยค่ายฯ ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน "โหม่งไหล่แขต" ซึ่งอยู่ห่างจากทางตอนเหนือของเมืองไลซา เป็นระยะทาง 2 ไมล์ โดยเมืองไลซา เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) หรือกองกำลังอิสรภาพกะฉิ่น (KIA) ซึ่งเป็นปีกทางการทหารของ KIO

นอกจากนี้ ค่ายดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองของ KIO หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิการปกครองตนเองมาหลายทศวรรษ และกลับมาสู้กับกองทัพเมียนมา หลังทำรัฐประหารครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเรื่องเหตุระเบิดว่ามาจากการยิงปืนใหญ่ หรือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ/โดรน จากฝั่งกองทัพเมียนมา

ด้านโฆษก KIA กล่าวว่า KIA กำลังสอบสวนเหตุระเบิดดังกล่าว เนื่องจากไม่มีใครได้ยินเสียงเครื่องบินตอนเกิดเหตุระเบิด ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า กองทัพเมียนมาอาจใช้โดรนในโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน

"การทิ้งระเบิดหมู่บ้านพลเรือน และค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม" หน่อบุ กล่าว

ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองและสงครามกลางเมืองเมียนมาขยายตัวมากขึ้นหลังจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2564 ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนำโดย พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ซึ่งมีอองซานซูจี เป็นหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารปี 2564 กองทัพเมียนมาได้มีการยกระดับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโดยมีเป้าหมายในพื้นที่เมือง หรือหมู่บ้าน ที่อยู่ในการปกครองของกลุ่มต่อต้าน  

ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วงชิงผู้นำการบริหารประเทศ และก่อตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตย ได้ประณามกองทัพเมียนมาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน และกล่าวด้วยว่าสิ่งที่กองทัพเมียนกระทำ คือ "อาชญากรสงคราม และอาญชากรรมต่อมนุษยชาติ"

ด้านโฆษกรัฐบาลสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมียนมา พลตรี ซอมินทุน ได้ออกมาปฏิเสธว่า ทางกองทัพเมียนมาไม่ได้อยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว

ซอมินทุน กล่าวอ้างว่า กองทัพเมียนมาไม่ได้มีปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าว และระบุด้วยว่าเหตุดังกล่าว "อาจ" เกิดจากวัตถุระเบิดที่สะสมไว้เกิดระเบิดขึ้นมา

ด้านกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์วานนี้ (10 ต.ค.) ต่อกรณีโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นภายในในรัฐกะฉิ่น โดยระบุว่า เรามีความกังวลอย่างยิ่งหลังมีรายงานว่ากองทัพพม่าโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) ใกล้กับหมู่บ้าน "โหม่งไหล่แขต" (Mung Lai Hkyet) ในรัฐกะฉิ่น เมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา 

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ขอประณามการโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของกองทัพเมียนมาที่เริ่มตั้งแต่หลังทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน และทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงที่สุดของภูมิภาค นอกจากนี้ ผลกระทบจากสงครามกลางเมืองทำให้ตอนนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในเมียนมาสูงถึง 1.6 ล้านคนตั้งแต่ปี 2564

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ระบุด้วยว่าขอสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมา และทุกคนที่ทำงานอย่างสันติต่อไป เพื่อสนับสนุนความปรารถนาพวกเขาที่จะสร้างสันติภาพ และประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันในเมียนมา

ความเคลื่อนไหววันนี้ (11 ต.ค.) กลุ่ม "Bright Future" ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเมียนมาในไทย จัดกิจกรรมไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตเหตุระเบิดในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะฉิ่น เวลา 17.00 น. หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก 

ทั้งนี้ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 2564 จนถึงล่าสุด (10 ต.ค.) มีผู้เสียชีวิตจากกองทัพเมียนมา อย่างน้อย 4,144 ราย ผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 25,274 ราย และยังถูกคุมขังอีก 19,677 ราย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net