Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'พชร' สมาชิก P-move ที่มาปักหลักหน้าทำเนียบตั้งแต่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งความคืบหน้าการหารือกับรัฐบาล ทบทวนข้อเรียกร้อง 10 ด้าน เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมภาคผนวกที่ไขทุกข้อข้องใจ ข้อครหาม็อบรับจ้าง และทำไมไม่ไปทำงาน มาโทษรัฐบาลทำไมกันเล่า

 

11 ต.ค. 2566 พชร คำชำนาญ สมาชิกขวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อ 9 ต.ค. 2566 ในหลายประเด็นทั้งความคืบหน้าการหารือกับรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้อง 10 ด้านของพีมูฟที่มีการเพิ่มเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัย ข้อห่วงกังวลเรื่องการสลายการชุมนุม 

พชร ระบุว่า ข้อเรียกร้องของเราคือการเจอนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพื่อพูดคุยถึงปัญหาของเราอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากเรากังวลนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย หลายอย่างที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในระดับพื้นที่ ส่วนที่ไปศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อไปขอพบเศรษฐา ทวีสิน สรุปคือไม่ได้พบ จึงเอารถเครื่องเสียงไปเปิดเวทีไฮปาร์กขนาดย่อมที่หน้าศูนย์ประชุมฯ แทน 

พชร คำชำนาญ

สำหรับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เป็นการรวมตัวของประชาชนคนยากคนจนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องกฎหมาย นโยบาย การจัดการป่าไม้ ประชาชนชาวชาติพันธุ์ และได้รับผลกระทบจากบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นเผด็จการ และประชาชนเหล่านี้มีอยู่ทั่วประเทศ 

ส่วนวันนี้มีการเปิดประชุมเพื่อเจรจากับรัฐบาลครั้งแรก เพื่อดันเรื่องข้อเรียกร้อง 10 ประเด็น รวมถึงข้อเรียกร้องเร่งด่วน และในรายกรณีเข้าไปด้วย ซึ่งเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เมื่อเช้า ในส่วนของความคืบหน้านั้น พชร กล่าวว่า มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานการประชุม 

พชร ระบุว่า การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และจะเอาผลการประชุมเข้าสู่การประชุม ครม. พรุ่งนี้ (10 ต.ค.) ซึ่งมีการเจรจา และนำเสนอข้อเสนอทั้ง 10 ด้าน เป็นไปตามข้อเรียกร้องคือ ร.อ.ธรรมนัส รับข้อเสนอทุกเรื่อง และชงเข้า ครม.พรุ่งนี้ (10 ต.ค.)

พชร กล่าวว่า ที่ต้องเสนอให้ตั้งกลไกคณะกรรมการฯ เนื่องจากข้อเสนอ 10 ด้านผูกพันกับหลายกระทรวง จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการทำงาน ส่วนที่ต้องให้มีเป็นมติ ครม.นั้น เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลมีหลักประกันที่จะเดินหน้านโยบายนี้ ดังนั้น การประชุม ครม.จึงมีความหมาย เพราะว่าทุกกระทรวง ต้องทราบเรื่องนี้ 

ไม่กลับจนกว่าจะมีการประชุมนัดแรกของ คกก.

พชร กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือ เรายังไม่กลับ แม้ว่าจะมีมคิ ครม. ในวันที่ 10 ต.ค. 2566 เพราะว่าเราต้องการมากกว่านั้น เรากลับไปรอบนี้ต้องไม่มีใครโดนดำเนินคดีในที่ดินของตัวเอง ถูกไล่รื้อ ถูกแย่งยึดที่ดินอีก เราเรียกร้องให้เปิดประชุมคณะกรรมการทันที หลังมีการแต่งตั้ง

สมาชิกพีมูฟ ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันที่ 16 ต.ค. 2566 นั่นหมายความว่าเราจะเข้า ครม.อย่างเร็ววันที่ 17 ต.ค. 2566 ดังนั้น พีมูฟ จะรอจนกว่าเรื่องจะเข้าประชุม ครม.สัปดาห์หน้า

ส่วนที่ประชุมกับภูมิธรรม เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 แม้จะมีการเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานในคราแรก และพีมูฟ ยังไม่ตกลง 

ธรรมนัส พรหมเผ่า (ที่มา: P-move)

ทวนข้อเรียกร้อง 10 ด้านเพื่อคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ

พชร ระบุว่า สำหรับข้อเรียกร้องของพีมูฟ ได้นำเอาปัญหาของประชาชนคนยากคนจนทั่วประเทศไทย มาจำแนกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมด 10 ด้าน ประกอบด้วย 1. เรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนใหม่ทั้งฉบับ และเลือกตั้ง สสร. 100% 2. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายที่ดินสู่ชุมชน เน้นการจัดการสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 

3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และนิรโทษกรรมทั้งหมด เน้นเรื่องคดีจากนโยบายเรื่องที่ดินป่าไม้ ซึ่งคนจนได้รับผลกระทบ 4. นโยบายเรื่องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมของทุกคน เราเรียกร้องให้มีการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม และอยู่ในมือของเกษตรกร หรือคนที่จำเป็นต้องใช้ทำกินจริงๆ 

5. หยุดมรดก คสช. ทวงคืนผืนป่า ค้าคาร์บอนเครดิต คืนสิทธิชุมชน เป็นนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรเรื่องที่ดินป่าไม้ 6. เท่าทันภัยพิบัติ ปลดล็อกข้อจำกัดภัยพิบัติโดยชุมชน เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติไปยังชุมชน 7. กฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ คืนสิทธิคนเท่ากัน อย่างเท่าเทียม เราเรียกร้องในด้านกฎหมายคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ

8. สถานะบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องการพิสูจน์สิทธืและสัญชาติ ฐานแรกในการพาประชาชนกลุ่มนี้เข้าสู่การสวัสดิการพื้นฐานของภาครัฐ 9. สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างประชาธิปไตย สู่สังคมไทยเสมอหน้า และ 10. สิทธิในที่อยู่อาศัย ยืนยันว่า ประชาชนทุกคนควรมีที่อยู่อาศัย และติดขัดเรื่องไหนรัฐบาลต้องช่วย เพราะสิทธิที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชน

หวั่นใจกลัวถูกสลายการชุมนุม

สมาชิกพีมูฟ ระบุต่อว่า ความห่วงกังวลมากที่สุดคือภาพเดิมมันย้อนกลับมาเหมือนในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะว่าเวลาที่อยู่ที่นี่พีมูฟ ถูกตำรวจกดดันตลอด ตั้งแต่วันแรกมีตำรวจ สน.ดุสิต มาอ่านหมายยุติการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล หรือสั่งให้แก้ไขการชุมนุมตลอดเวลา ต้องการให้พีมูฟ กลับไปหน้าสหประชาชาติ (UN) 

พชร ชี้แจงว่า ทางพีมูฟ ขออนุญาตชุมนุมหน้า UN จริง แต่พวกเขาเคลื่อนมาปักหลักชุมนุมที่หน้าประตู 5 ของทำเนียบรัฐบาล เพื่อยอมเอาขาข้างหนึ่งออกไปจากกรอบของกฎหมาย โดยแลกกับข้อเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม การมาชุมนุมไม่ว่าจะที่ใดก็ตามเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ 

พชร ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้กำกับ สน.ดุสิต ไปยื่นคำร้องต่อศาลให้พีมูฟ ยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้กังวลว่าอาจจะมีการสลายการชุมนุมตั้งแต่ต้นสมัยรัฐบาลนี้ แต่ว่ายังไม่มีความกระจ่างชัดใดๆ และถ้าจำกันได้อีกครั้งหนึ่ง เเมื่อ 7 ต.ค. 2566 มีประกาศจาก บช.น.ออกมาว่า พื้นที่ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม 

"การเป็นประชาชนคนยากคนจนมันน่ารังเกียจขนาดนั้นเลยเหรอ ไม่สามารถเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุดด้วยซ้ำ" พชร กล่าว และระบุว่า ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลด้วยว่า หมายศาลยกเลิกไปแล้ว ซึ่งทำให้เขามองว่า สรุปคือมีหมายศาลจริงๆ ใช่หรือไม่ และทำให้ย้อนคิดถึงเรื่องเดิมในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเหมือนรัฐบาลเผด็จการสมัยที่แล้ว 

สน.ดุสิต อ่านประกาศ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ (ที่มา: P-move)

ตำรวจตั้งแนวรั้วที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ (ที่มา: P-move)

ขับเคลื่อนมาตลอดตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์-เศรษฐา

สมาชิกพีมูฟ ระบุว่า เขารู้สึกผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปยื่นหนังสือให้พรรคเพื่อไทย ก็รับข้อเสนอและข้อร้องเรียนจากเรา และมีการจัดเวทีหาเสียงเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคเพื่อไทยก็ส่งตัวแทนมา และเขารู้สึกว่านโยบายของพรรคเพื่อไทย และภาคประชาชนน่าจะไปด้วยกันได้ ถ้าทำงานร่วมกัน แต่พอเป็นรัฐบาลการเข้าถึงมันยากยิ่งขึ้น และมีท่าทีปิดกั้นการแสดงออกมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล

พชร ระบุว่า เราได้พยายามส่งเสียงของเราไปที่พรรคเพื่อไทย ไปหาถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อพบนายกรัฐมนตรี เพราะว่าเราอยากให้คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน หรือ ครม. เศรษฐา 1 มีแนวนโยบายของเราบรรจุ ขนาดสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ยังมีคำว่าการกระจายการถือครองที่ดินอยู่ในคำแถลงนโยบาย มีเรื่องสิทธิแปลงรวมอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ของรัฐบาลเศรษฐาไม่มี ขนาดเราไปยื่นถึงมือตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ตอนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ๆ แม้แต่วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เรายังไปยื่น แม้ว่าจะไม่ทันแล้ว แต่เราทุกวิถีทางแล้ว ดังนั้น ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องมาทวงถามว่า แม้ว่านโยบายจะออกมาแล้ว ไม่มีเรื่องของเรา แต่เป็นคำถามของพวกเราว่า ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของประเทศแบบใดบ้างหลังจากนี้

นอกจากนี้ พชร ระบุว่า เขาไม่ได้เพิ่งมาเรียกร้องในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลประยุทธ์ 1-2 ดังนั้น ไม่ได้เลือกปฏิบัติแน่นอน 

ภาคผนวก: ไขทุกข้อข้องใจกับ 'พีมูฟ' 

ม็อบรับจ้าง-เห็นตัวเองดีกว่าคนอื่น (?)

ต่อประเด็นที่มีผู้วิจารณ์ว่า กลุ่มพีมูฟ “เห็นแก่ตัว เอาปัญหาของตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นเสมอ” พชร ระบุว่า พีมูฟ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือ 99% และถ้าดูจากแนวนโยบายของพีมูฟ จะเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และอยากอธิบายว่าแม้ว่าเราเป็นคนหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบ และคนอื่นๆ อาจจะมองว่าเป็นส่วนน้อยมาก และต่อให้เราเป็นคนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล เราก็มีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้องอยู่ดี 

สำหรับผู้ที่วิจารณ์ว่า ทำไมไม่ไปตั้งพรรคการเมืองเอง และอย่าอ้างว่าไม่มีทุน ไม่งั้นมาชุมนุมเอาทุนมาจากที่ไหนนั้น พชร กล่าวว่า ประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้ง ประชาชนมีสิทธิเสนอนโยบายสาธารณะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลได้ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีโอกาส มีกลไกในการดำเนินการ เราเลยทำได้เพียงอย่างเดียว คือออกมาเรียกร้องชุมนุม ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล และเราไม่มีกลไกทำงานร่วมกัน หรือออกแบบรัฐบาล ส่วนเรื่องทุน เราไม่มี คือทุนในการชุมนุมคือประชาชนคนยากจนเขารวบรวมระดมกันมาเอง เพราะเขาคิดว่าเป็นการเรียกร้องแก้ไขปัญหาของตัวเขาเอง เขาก็ต้องแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

(ที่มา: P-move)

พชร ตอบว่า เรื่องสร้างความแตกแยกที่คนติงมานั้น เขาไม่เข้าใจว่า การเคลื่อนไหวของพีมูฟสร้างความแตกแยกตรงไหน และคนเพียงนำเสนอนโยบายของเราเพื่อแก้ปัญหาของเราเอง และคนอื่นๆ ของประเทศนี้

"คัดค้านทุกอย่างจริงที่มีผลกระทบต่อประชาชน

"อาจมองพวกเราเป็นติ่งพรรคส้ม แต่อยากจะนำเรียนว่า ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พีมูฟ ก็เป็นหนึ่งในขบวนที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกล ในนโยบายบางเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน หนึ่งในนั้นคือคาร์บอนเครดิต พีมูฟเป็นหนึ่งในประชาชนเพียงไม่กี่เครือข่ายที่ออกมา วิพากษ์วิจารณ์เรื่องคาร์บอนเครดิตของพรรคก้าวไกล

"แต่สิ่งที่แตกต่างคือพรรคก้าวไกล เปิดพื้นที่ให้เข้าไปนำเสนอถึงข้อมูลปัญหา และปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ว่าทางฝั่งรัฐบาลยังไม่มีท่าทีเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ และก็ยังไม่มีพื้นที่ให้เข้าไปอธิบายใดๆ" พชร ระบุ

ทำไมไม่ไปทำงาน หาเลี้ยงชีพ ไม่ต้องมาโทษรัฐบาล

พชร ระบุว่า ทำไมมองคนกลุ่มนี้ไม่ทำมาหากิน เป็นคนขี้เกียจ เป็นคนที่จะต้องคอยรับการสงเคราะห์ ต้องขยันกว่าคนอื่นๆ บางคนเกิดมามีมรดกจากพ่อ-แม่ แต่ประชาชนส่วนมากเขาไม่ได้เกิดมาพร้อมต้นทุนชีวิตมากขนาดนั้น ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินที่จะมีดีๆ สักแปลงหนึ่ง โอกาสที่เข้าถึงงานดีๆ หรือโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี ยังไม่มี และเราจะทำมาหากินอย่างไร เพื่อให้ชีวิตตัวเองมีค่า 

ส่วนที่สอง ไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือรายได้ที่จะทำให้เรามีค่า ในขบวนการเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของคนจน เราก็ต้องการการยอมรับ และเราต้องการทวงคืนสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเราเหมือนกัน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราไม่ได้อยู่แบบร้องขอ หรือจะต้องทำงานหลังขดหลังแข็งไม่มีสิทธิที่จะฝันถึงชีวิตที่ดี คือคนทุกคนอยากมีสิทธิที่อยากจะมีชีวิตที่ดี เราเกิดมาไม่มีอะไรแตกต่าง เราต่างกันแค่คุณเกิดมามีมรดก เราเกิดมาเป็นคนจน และเราจะต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ขณะที่สวัสดิการต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ในประเทศที่บริหารด้วยงบประมาณจากภาษีประชาชน และก็หลายคนได้รับคะแนนเสียงประชาชนเข้าไปเป็นรัฐบาล เราจำเป็นต้องส่งเสียงถึงผู้ที่มีอำนาจ ที่จะกำหนดว่าจะใช้เงินภาษีของเราในทิศทางไหน หรือว่าตอนนี้ใช้เพื่อเอื้อกลุ่มพวกพ้องของตัวเอง หรือเอื้อกลุ่มทุน ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของคนส่วนมากของประเทศ และดูจะรังเกียจเสียด้วยซ้ำ ถ้าดูจากสิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอดเวลาที่พีมูฟ มาชุมนุม 

สถานการณ์ล่าสุดของการชุมนุมพีมูฟ เมื่อ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้มาคุยกับผู้ชุมนุมพีมูฟ ที่หน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมแจ้งข่าวดีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการแล้ว ส่วนสาระสำคัญของการประชุมเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา คือการผลักดันข้อเรียกร้องของพีมูฟ 10 ด้าน ทาง ครม.ได้อนุมัติ และให้ความเห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ ธรรมนัส ระบุด้วยว่าจะมีการเร่งนัดหมายการประชุมครั้งแรกของ คกก. เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.วันที่ 16 ต.ค. 2566 

สำหรับสัดส่วนของคณะกรรมการนั้น จะมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรองประธาน และมีตัวแทนสมาชิกพีมูฟเข้าร่วมเป็นกรรมการจำนวน 21 ราย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net