Skip to main content
sharethis

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นำเสนอรายงาน ระบุ ทางการจีนใช้งบหลายพันล้านดอลลาร์ สร้างโฆษณาชวนเชื่อ ปรับภาพลักษณ์ให้กับประเทศและพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยการชักใยหรือปั่นข้อมูลข่าวสารต่างประเทศ ไม่ว่าจะในประเด็นไต้หวัน, กรณีสิทธิมนุษยชน หรือเศรษฐกิจในจีน รวมถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ ขณะที่จีนโต้ตอบว่าสหรัฐฯ สร้าง "ข้อมูลเท็จ" เพื่อใส่ร้ายจีน

 

10 ต.ค. 2566 เว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐฯ นำเสนอรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องที่ทางการจีนพยายามปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลข่าวสารโลกในแบบที่ใช้วิธีการ "หลอกลวง" และ "บีบบังคับ" รวมถึงมีการ "โฆษณาชวนเชื่อ, ใส่ร้ายป้ายสี และการเซนเซอร์" ด้วย

ในรายงานที่ชื่อ "Global Engagement Center Special Report: How the People’s Republic of China Seeks to Reshape the Global Information Environment" (รายงานพิเศษศูนย์พันธกิจสัมพันธ์โลก : สาธารณรัฐประชาชนจีนมุ่งปรับภูมิทัศน์ทางข้อมูลข่าวสารโลกได้อย่างไร) ระบุว่า ถึงแม้ทุกประเทศควรจะมีความสามารถในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้กับโลก แต่ว่าชุดคำอธิบายตัวเองของประเทศต่างๆ ควรจะตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงไม่ใช่วิธีการชักใยข้อมูลข่าวสารแบบที่ระบุไว้ข้างต้น

รายงานของสหรัฐฯ มีการยกตัวอย่างปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่เกิดขึ้นกับบัญชีกลุ่มสิทธิมนุษยชน Safeguard Defender โดยระบุว่ามีบัญชีผู้ใช้งานที่ต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีปลอมจากจีนทำการรุมวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มสิทธิมนุษยชนในแบบที่มีกการวางแผนร่วมมือกันโจมตี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างปฏิบัติการชักใยข้อมูลข่าวสารของจีน

ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้าหากไม่มีการถ่วงดุลความพยายามของรัฐบาลจีนในการปรับภูมิทัศน์ทางข้อมูลข่าวสารโลก ก็จะทำให้เกิดการสร้างอคติและสร้างช่องว่างที่อาจจะนำประเทศต่างๆ ไปสู่การตัดสินใจในแบบที่เป็นรองจีนในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางความมั่นคง

 

การชักใยข้อมูลข่าวสารโดยทางการจีน

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า จีนใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีในความพยายามชักใยข้อมูลข่าวสารในต่างประเทศ ทางการจีนได้ใช้ข้อมูลเท็จและมีอคติในการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในเวลาเดียวกันก็มีความพยายามปิดกั้นข้อมูลข่าวสารสำคัญที่ขัดแย้งกับชุดคำอธิบายของพวกเขาเกี่ยวกับไต้หวัน, การปฏิบัติในเรื่องสิทธิมนุษยชนของทางการจีน, ประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้, ประเด็นเศรษฐกิจภายในประเทศ และปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ

ในระดับกว้างๆ นั้น ทางการจีนพยายามปลูกฝังและรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างการให้ผลตอบแทนแก่กลุ่มคนต่างๆ ที่สนับสนุนจีน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้รัฐบาลประเทศอื่นๆ, กลุ่มชนชั้นนำ, นักข่าว, ภาคประชาสังคม ยอมรับชุดคำอธิบายที่ทางการจีนต้องการและหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของทางการจีน

ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยในรายงานว่า วิธีการที่ทางการจีนใช้ในการชักใยข้อมูลข่าวสารนั้นก็ด้วยวิธีเช่น การใช้ประโยชน์จากโฆษณาชวนเชื่อและการเซนเซอร์ ส่งเสริมให้มีลัทธิอำนาจนิยมดิจิทัล, หลอกใช้องค์กรนานาชาติและความสัมพันธ์สองทาง, ใช้วิธีการคัดเลือกเข้าเป็นพวกและวิธีการกดดันควบคู่กันไป และการใช้อำนาจควบคุมสื่อภาษาจี

รายงานจากสหรัฐฯ ระบุอีกว่า ทางการจีนได้อาศัยปัจจัยทั้ง 5 อย่างนี้ร่วมกันในการทำให้พวกเขาสามารถปรับภูมิทัศน์ทางข้อมูลข่าวสารโลกได้ รวมถึงมีการใช้วิธีการต่างๆ เช่น

วิธีที่ 1 คือ การส่งอิทธิพลอย่างลับๆ และอย่างล้นเกินต่อเนื้อหาและแพล็ตฟอร์มเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ

ทางการจีนมุ่งเน้นทำให้เนื้อหาสนับสนุนที่จีนในแบบที่อคติและไม่เป็นความจริงให้มีผู้เข้าชมสูงสุด ด้วยอาศัยวิธีการพวกเขาได้เข้าไปมีผลประโยชน์ร่วมกันกับสื่อต่างประเทศทั้งจากวิธีที่เป็นสาธารณะและไม่เป็นสาธารณะ รวมถึงทำการอุปถัมภ์อินฟลูเอนเซอร์ในอินเทอร์เน็ตด้วย

นอกจากนี้ในบางครั้งทางการจีนยังสามารถทำข้อตกลงกับสื่อในประเทศต่างๆ ในการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกจำกัดไม่ให้เผยแพร่ได้ด้วย เรื่องนี้ส่งผลให้คนที่เป็นหัวเรือใหญ่ผู้มีความน่าเชื่อถือของสื่อนั้นๆ ทำการช่วยปกปิดว่าเนื้อหาที่พวกเขานำเสนอนั้น เป็นเนื้อหาที่มาจากรัฐบาลจีน

อีกอย่างหนึ่งที่ทางการจีนทำ คือการตีซี้กับคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงข้อมูลข่าวสารนานาชาติเพื่อเอาพวกเขามาเป็นพวก เช่น นักการเมืองระดับสูงของต่างชาติและนักข่าว นอกเหนือจากการส่งอิทธิพลต่อผู้ผลิตเนื้อหาแล้ว ทางการจีนยังตั้งเป้าเข้าไปมีอิทธิพลต่อพื้นที่แพล็ตฟอร์มเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ เช่น ช่องโทรทัศน์ในแอฟริกาทั้งดิจิทัลและช่องที่เผยแพร่ดาวเทียม อีกด้วย

วิธีที่ 2 ที่ทางการจีนใช้คือ การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับโลก

ในประเด็นที่ทางการจีนเห็นว่าอ่อนไหว พวกเขาก็จะใช้วิธีการข่มขู่คุกคามทั้งทางออนไลน์และในโลกจริงเพื่อปิดปากเสียงที่ต่อต้านและเอื้อให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเอง นอกจากนี้ทางการจีนยังใช้มาตรการต่อบรรษัทต่างๆ ในสถานการณ์ที่พวกเขาถูกมองว่าทำการท้าทายชุดคำอธิบายของทางการจีนในประเด็นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นซินเจียง

ในประเทศประชาธิปไตย ทางการจีนก็อาศัยข้อได้เปรียบของสังคมที่เปิดกว้างในการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จีน บนแอพฯ WeChat ที่มีชุมชนคนพูดภาษาจีนนอกประเทศจีนใช้งานอยู่เป็นจำนวนมากก็มีการปิดกั้นและการคุกคามผู้ใช้งานเกิดขึ้นจากรัฐบาลจีน มีเรื่องอื้อฉาวที่เป็นข่าวคือเรื่องที่บริษัทสัญชาติจีนที่มีฐานอยู่นอกประเทศทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจนทำให้ทางการจีนสามารถปรับปรุงการเซนเซอร์นอกประเทศโดยตั้งเป้าหมายไปที่ตัวบุคคลและองค์กรต่างๆ ได้

วิธีที่ 3 ที่ทางการจีนใช้คือการส่งเสริมให้เกิดชุมชนอำนาจนิยมดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทางการจีนได้ส่งเสริมเรื่องนี้ด้วยการอาศัยโครงสร้างระบบดิจิทัลในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เซนเซอร์สื่ออิสระ ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และปฏิเสธสิทธิมนุษยชนของผู้อื่

สหรัฐฯ ระบุว่า ทางการจีนพยายามแพร่กระจายเทคโนโลยีการสอดแนมและเซนเซอร์โดยมักจะรวมอยู่ในโครงการที่เรียกว่า "สมาร์ท" หรือ "เซฟ" ซิตี้ โดยที่ทางการจีนนำเอาบางแง่มุมของโครงการในประเทศเหล่านี้มาใช้กับที่อื่นๆ ในโลก นอกจากนี้ทางการจีนยังได้ใช้ยุทธวิธีควบคุมข้อมูลข่าวสารโดยเน้นที่ภูมิภาคแอฟริกา, เอเชีย และลาตินอเมริกา โดยมีการส่งเสริมบรรทัดฐานแบบอำนาจนิยมดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน ซึ่งประเทศอื่นๆ ได้รับเอาบรรทัดฐานของจีนที่ว่านี้ไปทำตาม พอพวกเขามีสภาพแวดล้อมทางข้อมูลข่าวสารแบบเดียวกับจีนแล้ว ก็ทำให้รับเอาโฆษณาชวนเชื่อ, ข้อมูลบิดเบือน และการร้องขอให้เซนเซอร์จากจีนได้ง่ายๆ

 

ผลกระทบต่ออนาคต

สหรัฐฯ ระบุว่า การบิดเบือนข้อมูลโลกโดยทางการจีนนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการทูตสาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นการท้าทายบูรณภาพของพื้นที่ข้อมูลข่าวสารโลกด้วย ถ้าหากยังปล่อยให้จีนทำแบบนี้ ก็อาจจะทำให้ในอนาคตจีนจะใช้เทคโนโลยีที่พวกเขาส่งออกไปในการแทรกซึมรัฐบาลในประเทศหนึ่งๆ ทำให้มาเป็นพวกเดียวกับจีนได้ และความกลัวการโต้ตอบโดยตรงจากจีนก็จะส่งผลให้มีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของโลก

อาจทำให้ทางการจีนสามารถเล่นบทที่มักจะเป็นไปอย่างลับๆ ในการที่จะตัดสินว่าข้อมูลไหนที่ผู้รับสารในประเทศกำลังพัฒนาควรจะได้รับ การจัดประชุมแบบพหุภาคีและความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนกันแบบทวิภาคี อาจจะทำให้จีนเน้นย้ำชุดคำอธิบายของตัวเองได้มากขึ้นในประเด็นอย่างไต้หวันและเศรษฐกิจโลก

การที่จีนเข้าถึงข้อมูลโลกได้รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้รัฐบาลจีนเจาะจงเป้าหมายส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและความมั่นคงให้เป็นประโยชน์กับรัฐบาลจีนได้ สุดท้ายแล้วการพยายามเซนเซอร์ในระดับโลกอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะที่ข้อมูลข่าวสารถูกควบคุมคัดสรรอย่างหนัก

สหรัฐฯ เตือนว่าข้อมูลข่าวสารที่เปิดต่อสาธารณะให้กับสื่อ, ภาคประชาสังคม, ภาคส่วนวิชาการ และรัฐบาลต่างๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กับจีน อาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนโดยโฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลที่ผิด และข้อมูลที่ถูกตัดบางส่วนออกผ่านการเซนเซอร์ได้

อย่างไรก็ตามทางการสหรัฐฯ ก็ระบุว่า อนาคตอาจจะไม่ได้มืดมนขนาดนั้น เพราะว่าการโฆษณาชวนเชื่อและการเซนเซอร์ของจีนก็ถูกโต้ตอบกลับโดยภาคประชาสังคมและสื่อในท้องถิ่นของประเทศประชาธิปไตยทำให้ผลการโฆษณาชวนเชื่อได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ซึ่งทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนเลิกบิดเบือนและขอให้มีการแข่งขันด้านข้อมูล ข่าวสาร ค่านิยมต่างๆ อย่างยุติธรรม

 

จีนโต้ สหรัฐฯ เองที่ "บิดเบือน" ข้อมูล

ทางการจีนโต้ตอบรายงานดังกล่าวของสหรัฐฯ อ้างว่าตัวรายงานเองเป็น "การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอแบบไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและความเป็นจริง"

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนโต้ตอบอีกว่า "สหรัฐฯ เองนั่นแหละที่คิดค้นวิธีการหลอกใช้พื้นที่ข้อมูลข่าวสารโลก" และระบุอีกว่า "เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างทะลุปรุโปร่งอีกครั้งว่าสหรัฐฯ นั้นเป็น 'จักรวรรดิแห่งการลวงหลอก' "

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Global Engagement Center Special Report: How the People’s Republic of China Seeks to Reshape the Global Information Environment, U.S. Department of State, 28-09-2023

https://www.state.gov/gec-special-report-how-the-peoples-republic-of-china-seeks-to-reshape-the-global-information-environment/

China rejects State Dep’t report claiming Beijing spends billions to spread disinformation globally, HKFP, 01-10-2023

https://hongkongfp.com/2023/10/01/china-rejects-state-dept-report-claiming-beijing-spends-billions-to-spread-disinformation-globally/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net