Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานในไต้หวันประท้วง ASUSTeK ปล่อยให้บริษัทลูกกดดันแรงงานลาออกเอง ไม่จ่ายค่าให้ออกจากงาน แรงงานไทยเป็นร้อย เหลือ 2 คน นอกนั้นย้ายงานใหม่หมด

Radio Taiwan International รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2566 ว่าสหภาพแรงงานในเครือบริษัท ASUSTeK Computer Inc. และ Askey Computer Corp. เดินทางไปชุมนุมที่ศูนย์รวมอุปกรณ์ไอที Syntrend Creative Park ในกรุงไทเป ประท้วงบริษัท ASUSTeK ปล่อยปละละเลยให้ Askey Computer Corp. บริษัทในเครือกดขี่แรงงานต่างชาติ บีบให้ลาออกหรือย้ายงานใหม่ โดยไม่ยอมจ่ายค่าให้ออกจากงานตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้เจรจาในเรื่องนี้กับสหภาพแรงงานโดยด่วน

สืบเนื่องจาก Askey Computer Corp. บริษัทในเครือ ASUSTeK Computer Inc. ประสบปัญหาด้านการประกอบธุรกิจ และมีโครงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม โดยทยอยย้ายวิศวกรและเครื่องจักรไปติดตั้งในโรงงานที่เวียดนาม และประกาศให้แรงงานต่างชาติทราบว่า เนื่องจากประสบภาวะซบเซา โอกาสการทำโอทีน้อย สนับสนุนให้แรงงานต่างชาติย้ายงานไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้ออกจากงานตามกฎหมาย ส่งผลให้แรงงานฟิลิปปินส์กว่า 400 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 100 คน และแรงงานไทย ซึ่งนำเข้าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด จำนวน 99 คน ขณะนี้เหลือเพียง 2 คน แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ โดยที่นายจ้างเดิมประหยัดค่าชดเชยให้ออกจากงานได้หลายสอบล้านเหรียญ

Rochel Garais แรงงานฟิลิปปินส์และเป็นประธานสหภาพแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างชาติบริษัท Askey Computer Corp. กล่าวว่า ก่อนการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ตนและเพื่อนร่วมงานชาติเดียวกัน ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เฉลี่ยคนละ 100,000 เปโซ หรือประมาณ 56,000 เหรียญไต้หวัน เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าหัวคิวให้แก่บริษัทจัดหางาน เมื่อเดินทางถึงไต้หวันแล้ว ทยอยชำระหนี้สินโดยจ่ายผ่อนส่งเป็นรายเดือน แต่ค่อนข้างโชคร้ายที่บริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจ ไม่มีโอทีทำ งานปกติก็หยุดบ่อยมาก ไหนยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่สามารถส่งเงินไปชำระหนี้สินในแต่ละเดือนได้ จนขณะนี้ หนี้ยังบาน

ด้านสมาคมแรงงานนานาชาติไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างชาติกล่าวว่า ปีนี้เป็นต้นมา ได้รับคำร้องเรียนจากแรงงานต่างชาติจำนวนมากว่า นายจ้างใช้วิธีกดดันในทางอ้อมให้แรงงานต่างชาติลาออกเองหรือย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่ เช่นไม่ปล่อยโอที ย้ายหน้าที่ ฯลฯ จนแรงงานต่างชาติอยู่ต่อไปไม่ไหว เพราะรายได้น้อยสุดท้ายต้องย้ายงานใหม่ โดยไม่ได้รับค่าชดเชยให้ออกจากงานจากนายจ้าง จึงเรียกร้องให้บริษัท Askey Computer Corp. และบริษัทแม่ ได้แก่ ASUSTeK Computer Inc. ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มมาตรฐานหลักจรรยาบรรณแห่งพันธมิตรธุรกิจผู้มีความรับผิดชอบ หรือ RBA รีบออกมาแสดงความรับผิดชอบและแก้ปัญหา มิเช่นนั้น แนวร่วมกลุ่ม NGO จะร้องเรียนไปยังมาตรฐานหลักจรรยาบรรณแห่งพันธมิตรธุรกิจผู้มีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องรัฐบาลให้การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ด้วยการบัญญัติกฎหมายด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตามแบบประเทศในยุโรป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net