Skip to main content
sharethis

'ต่อศักดิ์' ผบ.ตร. เผยเหตุกราดยิง 'พารากอน' มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวจีน อายุ 34 ปี และชาวเมียนมา อายุ 31 ปี บาดเจ็บ 5 ราย เตรียมชง 'มหาดไทย' ขึ้นปืน 'แบลงก์กัน' ซึ่งภายหลังถูกดัดแปลงใช้เป็นอาวุธก่อเหตุ เป็นสิ่งผิด กม.

 

4 ต.ค. 2566 สื่อบีบีซีไทย รายงานวันนี้ (4 ต.ค.) สืบเนื่องจากเหตุกราดยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) เมื่อเวลา 21.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2 คน โดยเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 1 ราย ที่ชั้น G และชาวเมียนมา ซึ่งทำงานภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากกระสุนถูกจุดสำคัญหลายจุด 

สื่อหลายสำนักรายงานว่า ผู้เสียชีวิต 2 ราย ประกอบด้วย 1. จ้าว จินหนาน อายุ 34 ปี นักท่องเที่ยวชาวจีน และ 2. โมมยิ้ด (Moe Myint) อายุ 31 ปี ชาวเมียนมา ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างภายในร้านค้าแห่งหนึ่งในสยามพารากอน โดยช่วงเกิดเหตุ เธอกำลังนำเงินไปฝากธนาคารแห่งหนึ่งภายในห้างฯ เมื่อฝากเงินเสร็จได้แวะเข้าห้องน้ำในห้างฯ และถูกยิงระหว่างเดินออกมา

ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวน 5 ราย โดยแบ่งเป็น 1 รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ 3 รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ 1 รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตืยน โดยผู้บาดเจ็บ 3 รายเป็นคนไทย (ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย) ชาวจีน 1 ราย และชาวลาว 1 ราย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ผู้บาดเจ็บ 3 คน ที่ส่งมาที่ รพ.จุฬาฯ ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล โดย 2 คน ยังคงอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤต และอีก 1 คนสามารถนำตัวมาพักฟื้นในห้องผู้ป่วยทั่วไปได้แล้ว

อาวุธใช้ก่อเหตุ

ต่อศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย" วันนี้ (4 ต.ค.) ระบุว่า ผู้ก่อเหตุมีลักษณะหูแว่ว เพราะขณะเกิดเหตุ ตัวของผู้ก่อเหตุได้ยินเสียงคนบอกให้เขายิงคนนู้นคนนี้ และขณะควบคุมตัวสอบสวน ผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปี ก็ได้ยินเสียงคนคุยกับเขาอยู่ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงมีการชะลอการสอบสวนออกไปก่อน ประกอบกับ การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน ต้องมีสหวิชาชีพ และบุคคลอื่นๆ เช่น จิตแพทย์ เข้าร่วมด้วย

ต่อศักดิ์ ระบุต่อว่า สิ่งที่น่าเสียดายคือ ผู้ปกครองไม่ทราบว่าลูกมีการสะสมกระสุนปืน หรืออาวุธปืนเลย จึงอาจจะต้องให้ผู้ปกครองช่วยกันเฝ้าสังเกตพฤติกรรมบุตรให้ละเอียด

ขั้นตอนหลังจากนี้ ต่อศักดิ์ ระบุว่า จะมีการสอบสวนของเพื่อนที่เล่นเกมกับผู้ก่อเหตุรายดังกล่าว เพื่อดูว่าปกติผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อนำมาสู่การป้องกันเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว แต่เท่าที่ประเมินนั้น ต่อศักดิ์ ระบุว่า ผู้ก่อเหตุมีลักษณะเข้าข่าย "Active shooter" เต็มรูปแบบ คือเจอใครผ่านไปผ่านมาก็ยิง

ต่อศักดิ์ ระบุต่อว่า อาวุธที่ผู้ก่อเหตุให้เป็นปืน "Blank Gun" (แบลงก์กัน) ที่ใช้ตอนปล่อยตัวนักกีฬา เวลาใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ และมักพบในการก่อเหตุทะเลาะวิวาทและใช้ปืนยิงกันของนักศึกษา 

ต่อศักดิ์ ระบุว่า ตอนนี้มีการประสานงานกับทางกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าต้องให้ปืนแบลงก์กันผิดกฎหมาย หรือถือว่าเป็นอาวุธ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ซื้อไม่ผิดกฎหมาย แต่นำเข้าประเทศต้องแจ้ง เวลาตำรวจตรวจยึดปืนประเภทนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากไม่ใช่อาวุธผิดกฎหมาย และมีการนำเข้ามาเยอะมากช่วงที่ผ่านมา 

ต่อศักดิ์ ระบุต่อว่ามีคดีที่ก่อเหตุจากปืนแบลงก์กันเกิดขึ้นเยอะมาก สำหรับความอันตรายของแบลงก์กันนั้นหากยิงแนบกับศีรษะก็อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ปืนที่ผู้ก่อเหตุใช้นั้นมีการดัดแปลงแมกกาซีน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโลกออนไลน์ เมื่อดัดแปลงแล้วก็สามารถยิงกระสุนจริงได้ 

สำหรับการป้องกันการเข้าถึงสื่อออนไลน์นั้น ผบ.ตร. ระบุว่า ทำได้ยากมาก เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้มาจากต่างประเทศ และประเทศไทยไม่ได้ใช้ระบบซิงเกิลเกตเวย์ หรือระบบกึ่งซิงเกิลเกตเวย์ จึงไม่สามารถคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ หรือป้องกันภัยความมั่นคงหรือความปลอดภัยประชาชนได้ เพราะว่าติดเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การแก้ไขต้องหารือพูดคุยกันกับรัฐบาล

ต่อศักดิ์ หวังว่า การศึกษาเคสนี้จะนำมาสู่การป้องกันและการเฝ้าระวังการเกิดเหตุกราดยิงในอนาคต เนื่องจากในต่างประเทศผู้ก่อเหตุมักถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุทั้งสิ้น

สตช. เตรียมยกระดับการป้องกันเหตุกราดยิง

ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 18.27 น. เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. รายงานวันนี้ ระบุว่า พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกตำรวจ เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  กำหนดมาตรการในการป้องกันเหตุกราดยิง หลังเกิดเหตุคนร้ายกราดยิงที่ห้างพารากอนเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.)

ผบ.ตร.ได้ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี และสั่งการทันที กำชับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในมาตรการป้องกันการก่อเหตุในทุกพื้นที่ โดยให้ดำเนินการฯ ดังนี้

1. ให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน อาวุธสงคราม และเครื่องกระสุนอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง โดยให้รายงานผลการปฏิบัติทุกๆ 15 วัน ในกรณีที่มีการจับกุมให้สืบสวนขยายผล ดำเนินการผู้เกี่ยวข้อง

2. ประสานความร่วมมือ บูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า จำหน่าย รวมทั้งการออกใบอนุญาตอาวุธปืน ที่ยังพบว่ามีสถิติการถือครองอาวุธปืนและใบอนุญาตโดยง่าย โดยเฉพาะประเด็นแบลงก์กัน (Blank Gun) ซึ่งสามารถนำเข้าได้ พบสถิตินำเข้ากว่าหมื่นกระบอก จะได้ร่วมกับกรมศุลกากรชะลอ หรืองดการนำเข้า เพื่อไม่ให้คนร้าย หรือกลุ่มมิจฉาชีพนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธปืนผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ หากพบว่ากฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง เกี่ยวกับอาวุธปืนที่ยังล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ ให้ร่วมกันพิจารณาปรับปรุง แก้ไข เพื่อควบคุมการใช้อาวุธปืนในการกระทำผิดทุกรูปแบบ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

3. ให้ฝ่ายสืบสวนทุกหน่วยทั่วประเทศ จัดทำและตรวจสอบข้อมูลการจำหน่ายอาวุธปืนในพื้นที่ และให้ บช.สอท. เป็นหน่วยรับผิดชอบในการตัดวงจรการจำหน่ายและการสืบสวนขยายผล การนำซื้อขายอาวุธออนไลน์ การนำแบลงค์กัน (Blank Gun) ไปดัดแปลงเป็นอาวุธ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เพื่อตัดองค์ประกอบในการกระทำความผิด

4. จัดชุดวิทยากรฯ ต่อยอดการฝึกอบรมการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ฝึกปฏิบัติในการรับมือกับสถานการณ์ฯ ในพื้นที่โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลและพื้นที่ต่างๆ (Soft Target)

5. ขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็ก เยาวชน บุตรหลาน เกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนหรือความรุนแรงต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ หรือเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ในสังคม 

งดแชร์ งดเผยแพร่ภาพ คลิป หรือข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า ผบ.ตร. ได้ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีความห่วงใยต่อสถานการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะอยู่นี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ทุกประเด็น ทุกมิติ ทั้งนี้ ตำรวจขอความร่วมมือในการงดแชร์ งดเผยแพร่ภาพ คลิป หรือข้อมูลในกรณีดังกล่าว เพื่อป้องกันพฤติกรรมลอกเลียนแบบ อีกทั้งกระทบต่อจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย และสังคมวงกว้าง 

พร้อมขอประชาสัมพันธ์ คลิปการรับมือเหตุกราดยิง หนี-ซ่อน-สู้ 3 กลยุทธ์สากล การเอาชีวิตรอดจากกรณีมือปืนกราดยิง ที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีพื้นฐานแนวทางในการเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ สามารถลดจำนวนทั้งผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net