Skip to main content
sharethis

Fair Finance Thailand ร่วมกับ RE100 จัดสัมมนาในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย: ทำไมต้อง ‘ยุติธรรม’ Thai Energy Transition: Why It Must be ‘Just’” นำเสนอผลการศึกษางานวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจเขียวตามนิยามเดียวกัน (Thailand Taxonomy) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม (Just Energy Transition)” พร้อมจัดเวทีเสวนาเสนอแนะทิศทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยุติธรรม 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ที่ห้องประชุม HILL CREST ชั้น 5 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ลาดพร้าว บาย ยูเอชจี, กรุงเทพ, แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (แนวร่วมฯ, Fair Finance Thailand) ร่วมกับ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ การเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย: ทำไมต้อง "ยุติธรรม" Thai Energy Transition: Why It Must be "Just"  ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัย “แนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจเขียวตามนิยามเดียวกัน (Thailand Taxonomy) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม (Just Energy Transition)” โดยได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และการเสวนาในหัวข้อ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมในประเทศไทย “เปลี่ยนอย่างไรให้ยั่งยืน” 

วีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) ให้เกียรติร่วมเปิดงานโดยกล่าวว่าสภาวะโลกร้อนทำให้หลายประเทศประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานหลักจากพลังงานฟอสซิลกลายเป็นพลังงานสะอาด และให้ความเห็นต่อ Thailand Taxonomy ว่านอกจากจะมีการจัดกลุ่มธุรกิจตามแต่ละสีแล้ว เพื่อให้ Thailand Taxonomy มีผลอย่างจริงจัง น่าจะมีมาตรการเชิงสนับสนุนกึ่งบังคับ เช่น การมีดอกเบี้ยถูกระยะยาว (soft loan) สำหรับธุรกิจสีเขียว และการตั้งสำรองหนี้สูญสำหรับธุรกิจสีแดงขึ้นมาด้วย 

ร่างผลรายงานวิจัยระบุว่า “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม” ถือเป็นกรอบคิดในการออกแบบและจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากการผลิตและใช้พลังงานคาร์บอนสูง เป็นคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ของแต่ละประเทศ ที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่ม และป้องกันการซ้ำเติมความอยุติธรรมในระบบพลังงาน ซึ่งแนวร่วมฯ มองว่าหลักการดังกล่าวควรนำมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุง การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบัน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและขนส่ง เพื่อให้ Thailand Taxonomy เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมในประเทศไทย

แนวร่วมฯ จึงได้หยิบยกมาพัฒนาเป็นงานวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม และ Taxonomy ในต่างประเทศ พร้อมสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน ถึงความเห็นต่อความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม กับ Thailand Taxonomy ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการพัฒนา Thailand Taxonomy ที่สอดคล้องกับหลักการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม 

จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 6 กลุ่ม 22 ราย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบกิจการพลังงาน สถาบันการเงิน ตัวแทนแรงงานในอุตสาหกรรมฟอสซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นในด้านโอกาสและความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทย แนวร่วมฯ พบว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายหลายประการ ทั้งในด้านการทยอยยกเลิกโครงการฟอสซิลในภาคพลังงานไทย ที่ยังมีความท้าทายในด้านความไม่ชัดเจนของนโยบายยกเลิกโครงการฟอสซิล ปัญหาด้านความมั่นคงทางพลังงาน และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมฟอสซิล ขณะที่แนวทางในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ก็ยังพบความท้าทายเช่นกัน ทั้งปัญหาเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียน การขาดการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และผลกระทบที่มีต่อกลุ่มเปราะบางที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน นอกจากนี้ ยังพบความไม่ยุติธรรมในโครงสร้างพลังงานไทยในอีกหลายแง่มุม ทั้งความไม่เป็นธรรมของค่าไฟฟ้า การขาดกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพลังงาน และการผูกขาดด้านพลังงาน

นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังมีข้อกังวลและความคาดหวังต่อ Thailand Taxonomy ทั้งความกังวลต่อ Thailand Taxonomy ที่อ้างอิงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ที่มีการกำหนดแนวทางการลดคาร์บอนที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของนานาประเทศ ความกังวลต่อช่องว่างของ Thailand Taxonomy ที่อาจนำไปสู่การฟอกเขียว ตลอดจนความคาดหวังให้มีการสร้างการรับรู้และการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมพลังงานมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ แนวร่วมฯ ได้รวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ การชดเชยเยียวยาผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมฟอสซิล ที่จะได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนผ่าน การส่งเสริมการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ทั้งเรื่องการพัฒนานวัตกรรม สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ การปรับปรุงนโยบายและแผนพลังงานชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงโครงสร้างราคาไฟฟ้าเพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม การส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมพลังงาน ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีพื้นที่ในตลาด การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงไฟฟ้า ในพื้นที่ชนบทที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง การส่งเสริมการเข้าถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน และความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ต้องพัฒนาเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาระบบกักเก็บและสำรองไฟ

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนา Thailand Taxonomy ที่สอดคล้องกับหลักการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม หรือ Just Energy Transition (JET) แนวร่วมฯ ได้จำแนกข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเป็น 2 ประเด็นได้แก่ 1) การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานให้มีความยุติธรรมมากขึ้น เช่น คณะทำงาน Thailand Taxonomy ควรมีกลไกทบทวนนิยามกิจกรรมในภาคพลังงานให้สอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหาภาวะโลกรวน การระบุเกณฑ์ “สีเขียว” สำหรับบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ซึ่งเป็นตัวเชื่อมสำคัญของสถาบันการเงินและภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงการอ้างอิง หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ในข้อกำหนด MSS เนื่องจากมีแนวปฏิบัติว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน และ 2) การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น คณะทำงาน Thailand Taxonomy ควรมีกลไกทบทวนและประเมินผลการทำตามหลักเกณฑ์ “การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ” (DNSH) และข้อกำหนด “มาตรการขั้นต่ำในการป้องกันผลกระทบทางสังคม” (MSS) เป็นระยะ ๆ สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ Thailand Taxonomy ตลอดจนการเน้นย้ำและรณรงค์ให้ผู้ดำเนินโครงการเห็นความสาคัญของการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ DNSH และข้อกำหนด MSS

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net