Skip to main content
sharethis

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผยแพร่ผลประเมินธนาคารไทยประจำปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 6 แล้ว ชี้ธนาคารไทยให้ความสำคัญกับการประเมินมากขึ้น โดยมีธนาคารเข้าร่วมหารือในช่วงรับฟังความเห็นครบทั้ง 11 แห่ง 7 ก.พ.นี้เตรียมเปิดวงคุยเรื่องธนาคารกับสิทธิมนุษยชน ชี้ถึงแม้คะแนนหมวดนี้จะยังค่อนข้างน้อย แต่เห็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องของธนาคารไทย 

25 ม.ค. 2567 ทีมสื่อแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดทำการประเมินนโยบายของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินการธนาคารของไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง 

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 แล้ว และเป็นโครงการที่ประเมินผลประกอบการด้าน ESG ที่เฉพาะเจาะจง รอบด้าน และละเอียดที่สุดในประเทศไทย โดยการประเมินธนาคารในปีที่ 6 นี้เป็นปีแรกที่แนวร่วมฯ สามารถเข้าพบธนาคารไทยเพื่อหารือในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ครบทั้ง 11 แห่ง ซึ่งก็คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารทิสโก้ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

สฤณีประเมินว่า ความสำเร็จนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง การทำงานมาอย่างต่อเนื่องของแนวร่วมฯ ทำให้ธนาคารหลายแห่งเริ่มคุ้นเคยกับการประเมินของแนวร่วมฯ และมองว่าเป็นประโยชน์กับพวกเขา โดยมีบางแห่งให้ข้อมูลว่า เกณฑ์ที่แนวร่วมฯ ใช้นั้นช่วยในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของธนาคาร สอง การประเมินนี้สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า Race to the Top หรือการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ โดยมีข้อสังเกตว่า ในการหารือ ธนาคารหลายแห่งจะถามถึงคู่แข่งของตัวเอง แสดงว่าธนาคารพยายามจะ benchmark หรือเปรียบเทียบการทำงานของตัวเองกับธนาคารที่เขามองว่าเป็นคู่แข่ง จึงเป็นสาเหตุในการเข้าร่วมมากขึ้น และสาม กระแสของ ESG (การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน) 

“นโยบายหรือเกณฑ์ที่แนวร่วมฯ นำมาใช้ประเมินคะแนนไม่ได้คิดมาลอยๆ แต่คิดบนพื้นฐานของประเด็น ESG ที่สำคัญในระดับโลกและประชาคมโลกจับตา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นเหล่านี้มีพัฒนาการในแต่ละปี และเริ่มเป็นประเด็นที่สำคัญในไทย ภาคธุรกิจหรือลูกค้าธนาคารก็ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐก็มีแนวทางให้การสนับสนุนมากขึ้น กระแส ESG ที่เข้มข้นนี้จึงอาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธนาคารหลายแห่งให้ความสำคัญกับการประเมินคะแนนมากขึ้น” 

สำหรับผลการประเมินธนาคาร ปี 2566 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (39.20%) ธนาคารกสิกรไทย (33.14%) ธนาคารกรุงไทย (30.79%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (29.85%) และ ธนาคารกรุงเทพ (29.49%) โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผลการประเมินปี 2565 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพขยับจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 5 แทนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (27.64%) 

โดยในปีนี้ คณะวิจัยฯ ได้พิจารณามอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย รางวัลคะแนนสูงสุด หมวดธนาคารพาณิชย์ แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต และรางวัลคะแนนสูงสุด หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก่ ธนาคารออมสิน

สำหรับนโยบายเด่นของธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1– 5 และมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในปี    พ.ศ. 2566 รายหมวด อาทิ 

หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ มีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนกับบริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) แห่งใหม่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมถึงไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนกับบริษัทที่มีธุรกิจการสกัดน้ำมันจากทรายน้ำมัน (tar sands) 

หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย รายงานว่าไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้ ทำให้ได้คะแนนข้อนี้เป็นปีแรก

หมวดสิทธิมนุษยชน ธนาคารไทยพาณิชย์มีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ทั้งบนฐานของ เพศสภาวะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และสมรรถภาพทางกาย ทำให้ได้คะแนนข้อนี้เป็นปีแรก

หมวดสิทธิแรงงาน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนเต็มจากการประกาศนโยบายคุ้มครองความเป็นมารดา เนื่องจากมีนโยบายสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินครบทุกเงื่อนไข ได้แก่ การให้สิทธิพนักงานหญิงที่ลาคลอดได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนในช่วงก่อนและหลังคลอดรวมกันสูงสุด 98 วัน โดยได้สิทธิในการกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม และการจัดให้มีพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานที่เป็นคุณแม่สำหรับปั๊มน้ำนม

สฤณี กล่าวถึงข้อสังเกตจากการประเมิน 6 ปีที่ผ่านมาว่า ปีนี้เริ่มเห็นความชัดเจนในแง่กระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น โดยยกตัวอย่าง หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีนี้ธนาคารหลายแห่งเริ่มใช้มาตรฐาน เช่น Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ที่พูดถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ climate chage พอธนาคารเริ่มประกาศรับมาตรฐานเหล่านี้ ถัดมา ธนาคารก็ต้องคิดว่าแล้วจะแปลงมาตรฐานมาเป็นแผนปฏิบัติการของธนาคารได้อย่างไร ธนาคารหลายแห่งจึงเริ่มพัฒนารายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ที่ระบุว่า ธุรกิจประเภทใดที่มองว่ามีความเสี่ยงสูงหรือร้ายแรงที่จะไม่สนับสนุนแล้ว เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือประกาศเกณฑ์ที่เข้มข้นมากขึ้นในโครงการที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงเรื่อง ESG สูงว่าลูกค้าของธนาคารจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง 

ทั้งนี้ ในการแถลงผลการประเมินในปีนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ นอกจากจะมีพิธีมอบรางวัลให้กับธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละหมวดธนาคารแล้ว จะมีการเสวนาในหัวข้อ ธนาคารไทยกับสิทธิมนุษยชน : จากคำมั่นสัญญาสู่การลงมือทำ ด้วย โดยสฤณี อธิบายว่า 

“หมวดสิทธิมนุษยชนเป็นหมวดหนึ่งที่สังเกตเห็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องของธนาคารไทย ถึงแม้คะแนนจะยังค่อนข้างน้อยอยู่ก็ตาม แต่มองว่าภาคธนาคารเองให้ความสำคัญกันมากขึ้น หากดูจากปีแรกๆ ที่ประเมินแทบไม่มีธนาคารไหนที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนเลย แต่มาวันนี้ธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งประกาศรับหลักการชี้แนะของ UN (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) เป็นหลักการสำคัญในการทำงานเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

“สอง ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนในบริบทการทำธุรกิจเป็นประเด็นร้อนและความเสี่ยง ESG ในสังคมไทย เราเห็นการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นในหลายบริบท เช่น ชาวบ้านถูกฟ้องไล่ที่ทำกิน แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ถูกกดขี่ หรือตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมถูกฟ้องปิดปาก เมื่อหลายกรณีเหล่านี้เกิดในบริบทการทำธุรกิจ ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้หรือผู้สนับสนุนทางการเงินก็ต้องมีบทบาทว่าจะกำกับหรือดูแลอย่างไรไม่ให้ลูกค้าของธนาคารมีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

“นอกจากนี้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น บางกรณีเกิดในต่างประเทศ โดยการลงทุนจากบริษัทไทยและที่ใช้เงินกู้จากธนาคารไทย ธนาคารจึงปฏิเสธความรับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ ดังนั้น ความเสี่ยงด้านสิทธิ ไม่ใช่แค่ปัญหาของประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่ธุรกิจไทยและเจ้าหนี้ไทยมีส่วนในการสร้างปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตราบใดที่เรื่องนี้ยังเป็นปัญหา จึงอยากเห็นการพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น 

“แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่ธนาคารเองทยอยประกาศรับหลักการชี้แนะและเริ่มคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่ก็อยากเห็นการแปลงหลักการไปเป็นกระบวนการทำงานของธนาคารที่มากขึ้น ในเกณฑ์ของแนวร่วมฯ หมวดสิทธิมนุษยชนก็มีเรื่องที่ทำตามได้ เช่น เมื่อธนาคารประกาศรับหลักการชี้แนะก็จะได้คะแนนพื้นฐาน แต่ถ้ามีการกำชับให้ลูกค้าธนาคารรับหลักการชี้แนะด้วย ก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น และถ้าธนาคารทำช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของลูกค้าของธนาคารที่อาจได้รับผลกระทบ ไม่ใช่รับเรื่องร้องเรียนเฉพาะจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคารเท่านั้น ก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีก  จึงคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้คุยกันเรื่องนี้” 

อนึ่ง เวทีสาธารณะ เรื่อง “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 6 : โอกาสและความท้าทายสำคัญ” จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. เวลา 13:30 – 16:30 น. ณ ห้อง Chamber1 ชั้น B โรงแรม S31 สุขุมวิท เพื่อแถลงผลการประเมินธนาคาร ประจำปี 2566 โดยจะมีพิธีมอบรางวัลแก่ธนาคารที่ได้รับรางวัล และมีการเสวนาในหัวข้อ ธนาคารไทยกับสิทธิมนุษยชน : จากคำมั่นสัญญาสู่การลงมือทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net