Skip to main content
sharethis

กสม.สอบกระบวนการรับฟังความเห็น ปชช. เพื่อขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จ.สระบุรี พบ ปชช. ไม่ได้ข้อมูลมากพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะทำกระบวนการรับฟังความเห็นใหม่ หน่วยงานท้องถิ่นร่วมตรวจสอบ 

 

21 ก.ย. 2566 ทีมสื่อ กสม. รายงานวันนี้ (21 ก.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์  ภัยหลีกลี้ และ ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 34/2566 โดยมีประเด็นสำคัญคือการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อประกอบการประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จ.สระบุรี

ศยามล ไกยูรวงศ์

ศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อเดือน มิ.ย. และ ก.ย. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในพื้นที่ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ได้แก่ กรณีคำขอประทานบัตรที่ 100/2558 ของบริษัทปูนซีเมนต์แห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และกรณีคำขอประทานบัตรที่ 9/2558 ของบุคคลรายหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งมีการจัดรับฟังความคิดเห็นโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 3) เมื่อวันที่ 8-17 พ.ค. 2565 และวันที่ 12 ม.ค. 2565 มีความไม่ชัดเจนและไม่โปร่งใสหลายประการ เช่น การไม่เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อให้ความเห็น เอกสารและแบบสอบถามมีข้อมูลไม่ชัดเจน การแจ้งกำหนดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกระชั้นชิด ข้อมูลสภาพพื้นที่ในเอกสารบางส่วนไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลที่รอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ 

นอกจากนี้ ผู้ร้องยังร้องเรียนว่า การทำเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของผู้ถูกร้องที่ 1 ก่อให้เกิดฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น เสียงดังรบกวน และการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในดินและแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงมาเป็นระยะเวลาหลายปี จึงขอให้มีการตรวจสอบ

กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ตลอดทั้งข้อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิของชุมชน ในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมกำหนดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอำนวยให้ชุมชนได้ใช้สิทธินั้น ในกรณีรัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบและการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด โดยบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาต

กรณีนี้มีประเด็นต้องพิจารณาว่าการรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรเหมืองแร่หิน ดำเนินการโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การรับฟังความคิดเห็นคำขอประทานบัตรที่ 9/2558 ของผู้ถูกร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 แม้จะมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด แต่เมื่อพิจารณาเอกสารข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่แนบท้ายประกาศเชิญประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นพบว่า ประกอบไปด้วยข้อมูลโดยสังเขป ไม่ลงรายละเอียดมากนัก เช่น แผนที่ตั้งไม่ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนให้สามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่ามีสถานที่หรือแปลงที่ดินใดอยู่โดยรอบ ไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่าการขนส่งแร่จะผ่านถนนที่ประชาชนใช้สัญจรในเส้นทางใดบ้าง

เช่นเดียวกับการรับฟังความคิดเห็นตามคำขอประทานบัตรที่ 100/2558 ของผู้ถูกร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ซึ่งมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด แต่เอกสารข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่แนบท้ายประกาศเชิญประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นพบว่า มีข้อมูลโครงการเพียง 3 แผ่น ที่ไม่ลงรายละเอียดมากนัก เช่น แผนที่ตั้งไม่มีระบุว่ามีสถานที่ใดหรือหมู่บ้านใดอยู่โดยรอบในตำแหน่งใดบ้าง ไม่มีข้อมูลการใช้แหล่งทรัพยากรและสาธารณูปโภคร่วมกับท้องถิ่นทั้งที่โครงการอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ที่ชุมชนอาจเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่มีรายละเอียดทิศทางของฝุ่นในโครงการที่จะกระทบต่อชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของโครงการซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ อายุประทานบัตร 30 ปี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายมิติ ตลอดจนคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ป่าเขตลุ่มน้ำชั้น 1 เอ (พื้นที่ลุ่มน้ำที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฏอยู่ในปี 2525 จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2538 ซึ่งมีสถานที่สำคัญใกล้เคียง คือ วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ และถ้ำพระโพธิสัตว์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถานด้วย จึงเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของคำขอประทานบัตรของผู้ถูกร้องทั้งสอง ดำเนินการโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอแก่ประชาชนในการที่จะศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ จึงมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนประเด็นที่ร้องเรียนว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ของผู้ถูกร้องที่ 1 มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ปรากฏว่าภายใต้การกำกับดูแลกิจการเหมืองแร่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ ยังไม่พบพยานหลักฐานผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนอย่างชัดเจน และผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ดี หากประชาชนในพื้นที่ยังเห็นว่าได้รับความเดือดร้อน หน่วยงานของรัฐย่อมมีหน้าที่ต้องค้นหาเพื่อให้ทราบถึงแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น เสียงรบกวน กลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง ที่แท้จริง นอกจากนี้ กสม. เห็นว่า เนื่องจากประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี มีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำเหมืองแร่มักใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะปรากฏเป็นโรคในภายหลัง จึงควรต้องมีการวางแผนการป้องกันและติดตามผลกระทบในระยะยาวเพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการชดเชยเยียวยาหากเกิดผลกระทบในอนาคต

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังผู้ถูกร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) มาตรการในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 9/2558 และคำขอประทานบัตรที่ 100/2558 อีกครั้ง โดยเผยแพร่ข้อมูลที่เพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วัน นับแต่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบนี้

(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มวกเหล็ก ร่วมกันตรวจสอบเพื่อค้นหาแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดผลกระทบตามข้อร้องเรียนของผู้ร้อง โดยงดเว้นการใช้สถานีตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือ และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) และ อบต.มวกเหล็ก ตรวจสอบและเฝ้าระวังค่าความกระด้างของน้ำตามที่ปรากฏในรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งหากมีความผิดปกติให้ตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ประสานภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และให้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมด้วย

ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ อบต.มวกเหล็ก ตรวจสอบกรณีสายพานลำเลียงแร่ที่อาจรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ถนน และตรวจสอบการใช้ถนนสาธารณะที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ใช้สัญจรร่วมกับประชาชน โดยอาจพิจารณาใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในการตรวจสอบ

ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) และราคากลาง สำหรับการของบประมาณศึกษาศักยภาพในการรองรับมลพิษที่เกิดจากกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยให้รวมพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ในขอบเขตการศึกษาด้วย ทั้งนี้ ควรระงับการอนุญาตคำขอประทานบัตรแปลงที่ 100/2558 และแปลงของผู้ยื่นคำขอประทานบัตรรายอื่นเอาไว้ก่อนจนกว่าจะดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้น

และให้คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ศึกษา รวบรวม และติดตามข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ขนาดใหญ่รายอื่นในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ในลักษณะที่เป็นโครงการระยะยาว ติดตามผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกร ธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนรวบรวมข้อมูลพื้นที่ป่าในพื้นที่ เพื่อจำแนกส่วนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสงวนหวงห้ามต่อไป และส่วนที่จะสามารถอนุญาตหรือผ่อนผันให้ใช้พื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ได้โดยไม่กระทบกับสิทธิของชุมชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการพิจารณาอนุญาตคำขอประทานบัตรต่อไป นอกจากนี้ ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิกถอนประทานบัตรบางแปลงหรือบางส่วนของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่สงวนไว้เป็นพื้นที่กันชน ซึ่งจะไม่มีการเปิดพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ ทั้งนี้ ให้ศึกษาปรับปรุงแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ให้ต้องจัดทำเป็นรายงานฉบับเดียวกันเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในภาพรวมทั้งหมดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net