Skip to main content
sharethis

ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา รวบรวมประเด็นที่ควรรู้นโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อนและคาร์บอนเครดิต ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ เพื่อให้เห็นแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลเศรษฐามากขึ้น เสียงสะท้อนจากสังคมชี้คาร์บอนเครดิตคือการฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอน แปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าโดยการปลูกป่าค้าคาร์บอน ระบุในช่วง 3 ไตรมาส ของปี 66 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้นทะเบียนป่าชายเลน 1.5 แสนไร่ เตรียมดิวคาร์บอนเครดิต ขณะที่นโยบายแก้โลกร้อนของไทยถูกประเมินในระดับแย่ที่สุด

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยระบุถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน”

“รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ” “รัฐบาลจะส่งเสริมแนวทางที่สร้างรายได้จากผืนดินและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่ และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล” 

คำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาดังกล่าวขาดรายละเอียดในการดำเนินการ ขาดกรอบระยะเวลา ขาดตัวชี้วัด อย่างไรก็ตามมีการระบุว่า ‘จะสานต่อ’ จากรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้น ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) จึงรวบรวมประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อน Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) และคาร์บอนเครดิต ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ เพื่อให้เห็นแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลเศรษฐา มากขึ้น รวมทั้งเสียงสะท้อนจากสังคม ดังนี้

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่ (1) “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) (2) “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink) การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ (3) “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. อธิบายว่า กรณีของประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้ โดยผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่ เป็นบริษัทหรือบุคคลที่ทำ CSR ซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองานอีเวนต์ และระดับบุคคล ส่วนผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน สาขาการผลิต/บริการใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจในการเข้าร่วมทำโครงการของผู้พัฒนาโครงการ หากไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษ

1. นโยบายแก้โลกร้อนของไทยถูกประเมินในระดับแย่ที่สุด ในขณะที่ปล่อยก๊าซอันดับที่ 19 มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอันดับ 9 ของโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 19 ของโลก คิดเป็นปริมาณ ร้อยละ 0.88 ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก โดยภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ร้อยละ 69.06 และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในระยะยาวเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ถูกประเมินนโยบายการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับแย่ที่สุด “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต” องค์กรที่ประเมินคือ “Climate Action Tracker, CAT” หรือ ผู้ติดตามการดำเนินการด้านภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่อิสระ มีการประเมิน 37 ประเทศ เพื่อติดตามการดำเนินการของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงให้มีความโปร่งใส โดยจัดระดับผลการประเมิน 5 ระดับ ได้แก่ ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต, ไม่เพียงพอขั้นสูง, ไม่เพียงพอ, เกือบจะเพียงพอ, เพียงพอตามข้อตกลงปารีส ประเทศที่ถูกประเมินในระดับเดียวกันกับไทย ได้แก่ อิหร่าน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์

ประสาท มีแต้ม สภาองค์กรของผู้บริโภค วิเคราะห์ผลประเมินนโยบายลดโลกร้อนของไทย โดยระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายที่สำคัญมากมายเพื่อมุ่งที่จะแสดงถึงความทะเยอทะยานด้านภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มันได้ออกนอกเป้าหมายดังกล่าวและมีความก้าวหน้าในทางปฏิบัติเพียงเล็กน้อย แม้มีการเลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน มาเป็น ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) จาก ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) แต่ CAT พบว่ายังไม่มีเป้าหมายใดบรรจุอยู่ในเอกสารนโยบายและกฎหมายใดๆ เลย ทาง CAT ถือว่ายังมีความกำกวม เพื่อจะให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส CAT จึงได้ประเมินให้ “นโยบายและการลงมือทำของประเทศไทย” อยู่ในระดับ “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต” จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ แผนพลังงานของไทยในช่วง 20 ปีข้างหน้าหันไปใช้ก๊าซแทนการใช้ถ่านหิน ซึ่งก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนกัน

2. นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน มีเป้าหมายภายในปี 2593 เน้นกลไก ‘เพิ่มพื้นที่ป่าดูดกลับก๊าซคาร์บอน’ และ ‘ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิต’ ประกาศเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ภายในปี  2580 

Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คืนมา สามารถใช้ 3 กลไก ได้แก่ (1) การ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (2) การ ‘ดูดกลับ’ ก๊าซคาร์บอน โดยการปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้น และการใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (3) การ ‘ชดเชย’ การปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการซื้อคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นใช้ 2 กลไก คือ เพิ่มพื้นที่ป่าดูดกลับก๊าซคาร์บอน และชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิต

วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุม COP27 ได้แถลงในที่ประชุม COP27 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ว่าประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในทุกสาขา ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ

มีการเร่งดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ดังนี้ (1) ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด (2) ภายในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ. 2580) จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมถึงดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มทำความตกลงเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส (3) ก่อนปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583)  สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ (4) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50

3. เสียงสะท้อนจากองค์กรสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตคือการฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอน แปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าโดยการปลูกป่าค้าคาร์บอน

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่หมุดหมายแรกจนถึงปลายทางของ Net Zero ไทย เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อการฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอน และติดตามตรวจสอบเพื่อรับรองว่า ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ทั้งหลายจะต้องมีภาระรับผิด (accountability) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างแท้จริง (real zero) และยุติการผลักภาระให้กับผู้คน ชุมชน สังคมและโลกใบนี้

โจทย์ของการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยเริ่มจากการนำภาคการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และภาคป่าไม้ (Land Use Land-use Change and Forestry – LULUCF) มาเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปให้ถึงศักยภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 ต้องใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติ 113.23 ล้านไร่ ป่าเศรษฐกิจ 48.52 ล้านไร่ พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท 16.17 ล้านไร่ (หรือรวมๆ กันเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ)

ตามแผน Net Zero พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีอยู่เดิมแล้ว 102.04 ล้านไร่ และ 32.65 ล้านไร่ตามลำดับ และมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564 ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งต้องการพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่ม 11.29 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจเพิ่ม 15.99 ล้านไร่ การเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 11.29 ล้านไร่ภายในปี 2580 นี้เองที่สะท้อนถึงการแปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าโดยปลูกป่าค้าขายคาร์บอน พื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งภาคธุรกิจแจ้งความจำนงเข้าร่วมมากกว่า 550,000 ไร่ ไปจนถึงโครงการปลูกป่าและการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในหลายพื้นที่ซึ่งมีชุมชนชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานมานานนับศตวรรษและจัดการป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์และทำกินแบบไร่หมุนเวียนนั้นกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ขัดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตัวอย่างเช่น การไม่ยอมรับโครงการปลูกป่าในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่จอกฟ้า

4. ในช่วง 3 ไตรมาส ของปี 66 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้นทะเบียนป่าชายเลน 1.5 แสนไร่ เตรียมดิวคาร์บอนเครดิต

รายงานการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเสนอคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 ส.ค. 65 ระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดระยะเวลา 10 ปี ใน พ.ศ. 2565-2574 มีพื้นที่เป้าหมายเนื้อที่ 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกระเบียบ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก พ.ศ. 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เนื้อที่ 44,712.99 ไร่ ในพื้นที่ 19 จังหวัดชายฝั่งทะเล ผู้พัฒนาโครงการ (บุคคลภายนอก) จะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ในสัดส่วนร้อยละ 90 หรือตามที่ตกลงกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะได้รับสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการ ร้อยละ 10 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะจัดสรรสัดส่วนคาร์บอนเครดิตจำนวนกึ่งหนึ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งแปลงโครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชุมชนชายฝั่งที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

(2) ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในพื้นที่ป่าชายเลนที่ชุมชนร่วมกันดูแล รักษา โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เนื้อที่ 44,298.95 ไร่ ในพื้นที่ 8 จังหวัดชายฝั่งทะเล ผู้พัฒนาโครงการ (ชุมชนชายฝั่ง) จะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากการดำเนินโครงการ ในสัดส่วน ร้อยละ 90 หรือตามที่ตกลงกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะได้รับสัดส่วน ร้อยละ 10   

ต่อมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่อง ขอเชิญชวนชุมชนชายฝั่ง/ชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น/ชุมชนชายฝั่ง ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน สามารถเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มี.ค. – ก.ย. 66 มีการออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งผลการอนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ ครั้งที่ 1/2566 ครั้งที่ 2/2566 ครั้งที่ 2/2566 (เพิ่มเติม) ครั้งที่ 3/2566 และ ครั้งที่ 4/2566 โดยมีชุมชนได้รับอนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน จำนวน 82 ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 149,411 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร

ดังนั้น ธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยที่เริ่มต้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ จะเติบโตในยุครัฐบาลเศรษฐาอย่างแน่นอน สำหรับในตอนต่อไปจะนำเสนอรายละเอียดพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน โปรดติดตามตอนต่อไป

แหล่งข้อมูล :

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net