Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักวิชาการที่ออกมาพูดปัญหาสังคมและการเมือง ได้ตั้งคำถามมานานแล้วว่าในกระแสความขัดแย้งทางการเมืองบ้านเรา มีการเรียกร้อง “เสรีภาพ เสมอภาค” มากขึ้น แต่ลืม “ภราดรภาพ” ไปหรือไม่ 

เมื่อเร็วๆ นี้มีการย้ำอีกว่าสังคมเรา “ขาดภราดรภาพ” ตัวอย่างการขาดภราดรภาพที่มักอ้างกันคือ บรรยากาศของการสื่อสารในโลกโซเชียลที่มีการแบ่งฝักฝ่าย และต่างไม่ฟังเหตุผลของฝ่ายอื่นๆ มีการแซะ ด่า ประณามใช้คำพูดแบบ toxic และใช้คำพูดรุนแรงสร้างความเกลียดชังหรือใช้ hate speech แพร่หลายมากขึ้น 

ผมนึกถึง “วาทกรรมการเมือง” (political discourse) ของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร (ทุกยุค), รัฐบาลสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร และรัฐบาลเพื่อไทยที่ผสมกับขั้วอำนาจเก่าที่เคยทำรัฐประหารและพรรคการเมืองนั่งร้านให้กับการสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร ต่างก็เรียกร้องว่าเราทุกคนคือ “คนไทยด้วยกัน” ควรหันหน้ามาสามัคคี ปรองดอง และสมานฉันท์กัน แต่ไม่พูดถึง “เสรีภาพ เสมอภาค” ว่าจำเป็นต้องมี ทว่าเน้น “ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด 

ดังนั้น รัฐบาลที่เรียกร้องสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์จึงยืนยันชัดเจนว่าไม่แก้ไข/ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่แตะกฎหมายใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่แตะหมวด 1, 2 หรือหมวดเกี่ยวกับสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์ 

ส่วนประชาชนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ก็ถูกศาลตัดสินให้ทะยอยติดคุกคดี 112 มากขึ้น รัฐบาลจากรัฐประหาร, รัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร และรัฐบาลเพื่อไทยที่ผสมกับขั้วอำนาจเก่า ต่างไม่พูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพวกเขาเหล่านั้น และยืนยันชัดเจนว่าไม่นิรโทษกรรมคดี 112 

เราต่างทราบกันทั่วไปว่ากระแสเรียกร้องเสรีภาพ เสมอภาค คือกระแสการต่อต้านรัฐประหารเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และคือกระแสของการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาตัวกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการใช้กฎหมายนี้กดปราบประชนที่ต้องการประชาธิปไตย รวมทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์ จนนำมาสู่กระแสเรียกร้องให้แก้ไข/ยกเลิก 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรมของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่มีหลักนิติรัฐ (rule of law) ได้จริง 

แต่รัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลปัจจุบันต่างปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ และการปฏิเสธดังกล่าว ก็คือ “รากฐาน” ของปัญหาการขาดภราดรภาพ ทว่านักวิชาการบางคนก็ยังตั้งคำถามว่า เราเรียกร้องเสรีภาพ เสมอภาค แต่ “ลืมภราดรภาพ” หรือ “ขาดภราดรภาพ” ไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะที่รัฐบาลเรียกร้องให้สังคมสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ พร้อมๆ กับปฏิเสธที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ส่วนนักวิชาการที่เรียกร้องภราดรภาพแม้จะเห็นความสำคัญของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เสมอภาค แต่ไม่ชัดเจนว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างจริงจังต่อข้อเรียกร้องให้แก้ไข/ยกเลิก 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้มีเสรีภาพและเสมอภาคได้จริง

ดูเหมือนพวกเขาจะเตือนว่าการต่อสู้เรียกร้องเช่นนั้นเป็น “อุดมคติ” และว่าแม้อุดมคติจะเป็นสิ่งที่เราควรมีเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องมองความเป็นจริงของสังคมด้วย และนักวิชาการบางคนก็ยืนยันว่าการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย “ไม่ใช่การข้ามขั้ว” และ “ไม่ผิดหลักการประชาธิปไตย” เพราะเป็นการตั้งรัฐบาลผสมเหมือนที่ทำกันหลายประเทศในโลก 

ประเด็นแรก ที่ผมอยากแลกเปลี่ยนคือ เวลาเราพูดเรื่อง “โลกความเป็นจริง” กับ “โลกอุดมคติ” เรามักแบ่งหยาบๆ ว่า โลกความเป็นจริงคือโลกที่เป็นภาววิสัยจับต้องได้ที่เห็นๆ กันอยู่ ส่วนโลกในอุดมคติ “ไม่มีอยู่จริง” เป็นโลกในความฝัน หรือโลกที่เราคาดหวังจะให้เกิดขึ้น 

ปัญหาของการแบ่งหยาบๆ เช่นนี้คือ มันอาจ “ทำให้เข้าใจผิด” ไปว่าโลกความเป็นจริงตามที่เป็นอยู่นี้ “ปลอดอุดมคติ” หรือไม่ใช่โลกที่ถูกประกอบสร้างขึ้นบนอุดมคติหรือระบบคุณค่าบางอย่าง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วโลกความเป็นจริงทางสังคมและการเมืองแบบไทยที่เป็นอยู่นี้ ก็ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2560 (เป็นต้น) ที่ยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นระบบคุณค่าสูงสุดที่กำหนดว่าศีลธรรมทางสังคมและการเมืองการปกครองของสังคมไทยต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น คือต้องทำให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ หรือมีภราดรภาพ คือมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องในฐานะที่ “เราเป็นคนไทยด้วยกัน” ที่ต้องจงรักภักดีและเทิดทูนรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การมี “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” ในความหมายแบบสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) หรือประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม (social democracy/democratic socialism) ไม่ได้ 

ดังนั้น ปัญหาจริงๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือ “เราจะอยู่กับโลกความเป็นจริงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยอุดมคติแบบไหน” ต่างหาก ไม่ใช่ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างการยอมรับโลกความเป็นจริงกับการอยู่ในโลกของความฝันถึงอุดมคติสูงส่งที่ไม่มีอยู่จริง 

พูดให้ชัดขึ้น โลกความเป็นจริงที่เราเห็นกันอยู่นี้ ก็คือโลกที่กำหนดให้เราฝันถึงความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์บนความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์เหนือหลักเสรีภาพ เสมอภาค และเป็นโลกความเป็นจริงที่เต็มไปด้วย “ความอยุติธรรม” ต่อฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย โลกความเป็นจริงเช่นนี้จึงเป็นโลกตาม “อุดมคติ” ของฝ่ายอำนาจนิยมที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยและปัจจุบันที่ยังไม่เคยมีความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ได้จริง 

ประเด็นที่สอง การเรียกร้องเสรีภาพไม่ใช่การเรียกร้องอุดมคติสูงส่งเกินกว่าจะเป็นไปได้จริงขนาดนั้น แต่เป็นการเรียกร้องสิ่งธรรมดาสามัญ หรือสิ่งที่มีกันอยู่ทั่วไปในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ พูดอีกอย่างคือ กระแสเรียกร้องเสรีภาพ เสมอภาค ก็คือกระแสเรียกร้องที่สอดคล้องกับ “สามัญสำนึก” (common sense) ของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ที่พ้นจากความเป็นไพร่ เป็นทาส หรือเป็นข้ารับใช้ชนชั้นปกครองแบบ “ยุคก่อนสมัยใหม่” แล้ว 

เสรีภาพที่เรียกร้องกันอยู่ในบ้านเราก็คือ “เสรีภาพพื้นฐานต่างๆ” ในหลักสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพแห่งมโนธรรมสำนึกหรือเสรีภาพทางความคิดเห็น (freedom of conscience) อันเป็นเสรีภาพที่สะท้อน “ความมีอยู่จริง” (existence) ของตัวตนที่มี “ความเป็นมนุษย์” (human being) ของเรา การแสดงออกซึ่งมโนธรรมสำนึกตัดสินผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตนเอง และการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แท้จริงของตนเองได้อย่างเสรี คือสิ่งสะท้อนถึงความมี “ตัวตน” ของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ 

ต่างจากไพร่ ทาส หรือข้ารับใช้ชนชั้นปกครองยุคก่อนสมัยใหม่ที่ไม่มีเสรีภาพแห่งมโนธรรมหรือเสรีภาพทางความคิดเห็น พวกเขาต้องคอยแต่เชื่อฟังชนชั้นปกครอง ศาสนจักร และนักบวชที่ผูกขาดอำนาจในการตัดสินถูกผิดทางศีลธรรมและทางสังคมการเมือง การไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็นทำให้แม้แต่ชีวิตก็ไม่ใช่ของตนเอง เพราะชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในอำนาจของ “เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน” ที่เป็น “เจ้าชีวิต” ของพวกเขาด้วย ดังนั้น พวกเขาจึง “ไร้ตัวตน” เป็นเพียง “ละอองของฝุ่นของพระบาท” ในราชภาษาเท่านั้น 

จึงเป็นเรื่อง “ย้อนแย้ง” อย่างยิ่งที่นโยบายการศึกษาของรัฐบาลยุคศตวรรษที่ 21 เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อปลูกฝังให้พลเมืองในยุคสมัยใหม่ซาบซึ้งในบุญคุณของชนชั้นปกครองที่ยังมีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้แบบยุคก่อนสมัยใหม่ ซึ่งเท่ากับชวนให้ซาบซึ้งในความเป็นข้ารับใช้ชนชั้นปกครองของตนเองด้วย (ดังกระแส “ขอเป็นข้าพระบาททุกชาติไป” เป็นต้น) โดยเฉพาะการปลูกฝังความซาบซึ้งเช่นนี้คือ “ความคิดพื้นฐาน” ที่ใช้ตัดสินประชาชนในยุคปัจจุบันว่า “คนดี” คือผู้ที่จงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง ผู้ไม่จงรักภักดีก็คือ “คนไม่ดี” เกณฑ์ตัดสินเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับเสรีภาพแห่งมโนธรรมธรรมหรือเสรีภาพทางความคิดเห็นโดยตรง สิ่งที่ขัดแย้งหรือละเมิดเสรีภาพดังกล่าว ย่อมขัดแย้งหรือละเมิดต่อความมีอยู่จริงของตัวตนของเรา หรือขัดแย้งกับ “ความเป็นมนุษย์” ของเราโดยตรง

การเรียกร้องเสรีภาพแห่งมโนธรรมหรือเสรีภาพทางความคิดเห็น จึงเป็นการยืนยันความมีอยู่จริงของตัวตน “ความเป็นมนุษย์” ของเรา คือความเป็นมนุษย์ที่มีมโนธรรมสำนึกและความคิดเห็นเป็นของตนเอง มีอิสรภาพในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (autonomy) ในการทำตามมโนธรรมสำนึกและความคิดเห็นของตน ตราบที่ยังเคารพสิทธิเสรีภาพแบบเดียวกันของคนอื่น หรือไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น 

ดังนั้น เสรีภาพทางความคิดเห็นจึงเชื่อมโยงกับเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) และเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) เพราะเมื่อเรามีมโนธรรมสำนึกและความคิดเห็นเป็นของตนเอง ก็ย่อมต้องการเสรีภาพที่จะพูด เขียน และแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ตามมโนธรรมสำนึก ความรู้สึก และความคิดเห็นต่างๆ ของตนเอง ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัว และในเรื่องวิถีชีวิตสาธารณะทางสังคมและการเมืองในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ให้ความยินยอมแก่รัฐบาลในการใช้อำนาจรัฐแทนตน และในฐานะผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐบาล และ “ประมุขของรัฐ” ให้มีอำนาจจำกัดตามกฎหมาย หรือไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

ประเด็นที่สาม เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด และการแสดงออกดังกล่าว นอกจากจะเป็นเสรีภาพอันเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีตัวตนอยู่จริง (ไม่ใช่เป็นแค่ “ฝุ่น”) ของเราทุกคนดังกล่าวแล้ว ยังเป็น “หลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้” ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่อีกด้วย เพราะเราจะพูดถึงการกระจายประโยชน์ส่วนรวมอย่างเป็นธรรม พูดถึงการบัญญัติกฎหมายที่ยุติธรรมแก่พลเมืองทุกคน พูดถึงการกระจายโอกาส รายได้ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พูดถึงการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม พูดถึงความสุจริตของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ (เป็นต้น) อย่างมีเหตุมีผลไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด และการแสดงออกอย่างแท้จริง 

สิ่งที่เราต้องสูญเสียไปเพราะการไม่มีเสรีภาพนั้นมากเกินคณานับ ไม่เพียงแต่สูญเสียความเป็นมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของมโนธรรมและความคิดเห็นของตนเอง กลายเป็นคนสอพลอผู้มีอำนาจเหนือหัวตนไปตามสถานการณ์และเงื่อนไขของตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ต่างๆ เท่านั้น โอกาสการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและก้าวหน้าด้านต่างๆ ก็สูญเสียไปด้วย เพราะถูกบังคับให้สยบอยู่ใต้อำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น 

แน่นอนว่าเมื่อไม่มีเสรีภาพ “ภราดรภาพ” ก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะปัญหาขัดแย้งเกือบ 20 ปี ที่มีคนตาย (ทั้งสองฝ่าย) คนถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ติดคุก ลี้ภัยการเมือง เลือกตั้งได้ ส.ส. อันดับ 1 แล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ได้รัฐบาลผสมกับขั้วอำนาจเก่าที่ทำรัฐประหาร และการขังคุกคดีการเมือง/112 ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน พร้อมๆ กับการตั้งคำถามถึงอภิสิทธิ์ของนักโทษแบบทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งความไม่เชื่อมั่นเรื่อง "การร่างรัฐธรรมนูญใหม่" เป็นต้น แกนกลางของปัญหาพวกนั้นคือ "ปัญหาการไม่มีเสรีภาพ" ทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และการอภิปรายสาธารณะทางการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา

ดังนั้น การเรียกร้องภราดรภาพบนการไม่มีเสรีภาพจึงเป็น “อุดมคติ” มากเลย เพราะยากมากที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายที่ใช้กฎหมายความมั่นคง 112 ไล่ล่า กับฝ่ายที่ติดคุก ต้องคดี หนีไปลี้ภัยการเมือง และถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ให้มี "ภราดรภาพ" ต่อกันได้ 

พูดอีกอย่างคือ จะให้ฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อมีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะทางการเมือง กับฝ่ายที่ไล่ล่ามีภราดรภาพต่อกันได้อย่างไร?

ยิ่งถ้าพูดถึง "ภราดรภาพในทางปฏิบัติ" จริงๆ ก็คือการมองคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพเป็นพี่เป็นน้องกับเรา (ฝ่ายไล่ล่าพวกเขาไม่มองอยู่แล้ว) และการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เมื่อเขาเหล่านั้นถูกคุกคาม ข่มขู่ ต้องคดี ติดคุก ลี้ภัยการเมือง ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า การช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้ก็ยากและยังมีน้อยมาก ซึ่งก็คือ "ไม่มีภราดรภาพ" หรือมีน้อยมากในเรื่องเหล่านี้นั่นเอง 

แถมยังมีพวกโจมตีว่า คนที่แสดงความเห็นสนับสนุนการต่อสู้ เรียกร้องให้ปกป้องสิทธิต่างๆ ของคนที่ออกมาสู้ บริจาคเงินช่วยเหลือในการต่อสู้คดีและอื่นๆ คือ “พวกที่เชียร์ให้ลูกคนอื่นติดคุก” สนับสนุนคนอื่นไปสู้แทนตัวเอง ใช้เขาเหล่านั้นเป็นเครื่องมือสนองอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ฯลฯ 

ดังนั้น ปัญหาที่ว่ามา (เป็นต้น) จึงทำให้การเรียกร้องภราดรภาพเป็น "อุดมคติ" มาก ขณะที่การเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่เป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ กลับถูกทำให้เข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่อง "อุดมคติสูงส่ง" ไม่มองความเป็นจริง กระทั่งกลายเป็นว่าพวกที่สู้เพื่อเสรีภาพเป็นพวกที่ไม่รู้จัก “มูฟออน” เป็นตัวสร้างปัญหาวุ่นวายต่างๆ นานา 

ถ้าจะพูดให้สมจริง เราต้องร่วมกันเรียกร้องต่อสู้ให้มีเสรีภาพพร้อมกับให้คำนึงถึงภราดรภาพระหว่างคนเห็นต่าง และในระหว่างทางที่มีคนที่ลุกขึ้นสู้โดนคดี ติดคุก ลี้ภัยและอื่นๆ สังคมจะวิธีการหรือกระบวนการแสดงภราดรภาพในทางปฏิบัติอย่างไรบ้างต่อพวกเขาเหล่านั้น?

หากผมเข้าใจไม่ผิด นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ หรือนักวิชาการด้านปรัชญาที่พูดเรื่องปัญหาสังคมการเมืองสมัยใหม่ เขาวิพากษ์ถอดรื้ออำนาจรัฐ ศาสนา อำนาจทุนผูกขาดและอื่นๆ ที่ครอบงำกดทับเสรีภาพของประชาชน มากกว่าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความคิด และการกระทำของประชาชนฝ่ายที่ต่อสู้กับอำนาจเหล่านั้น
 

ที่มาภาพ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_708034

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net