Skip to main content
sharethis

'เก็บตก' 'กัณวีร์' เลขาธิการพรรคเป็นธรรม วิจารณ์นโยบายเวทีโลก 'ครม.เศรษฐา 1' ต้องกล้านอกกรอบ เปลี่ยนการกระบวนทัศน์การทูตไทยแบบเดิม เน้นการค้าอย่างเดียวไม่พอ ต้องแสวงหาบทบาทนำในเวทีสากล 
 

13 ก.ย. 2566 ยูทูบ "TP Channel" ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (12 ก.ย.) ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม อภิปรายนโยบายการแถลงของคณะรัฐมนตรี 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย นโยบายจุดยืนทางการทูต สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ และข้อวิจารณ์เรื่องการปฏิรูประบบส่วนงานความมั่นคงทั้งระบบ

จุดยืนทางการทูตไทย เน้นการค้าอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นผู้นำด้วย

กัณวีร์ กล่าวถึงถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีต่อนโยบายการต่างประเทศ เบื้องต้น เลขาฯ พรรคเป็นธรรมมองว่าส่วนตัวเขาไม่ตกใจ แต่กังวลใจมากกว่า เนื่องจากเป็นจุดยืนทางการทูตตั้งแต่สมัยสงครามเย็นจนมาถึงปัจจุบันเนื่องจากสะท้อนจุดยืนการให้ความสำคัญกับมหาอำนาจ และการค้าการลงทุนเท่านั้น

เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะว่ามุ่งเน้นเรื่องการค้าและเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ แต่มันไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำเวทีโลก

"หลักใจความสำคัญในการสร้างนโยบายด้านนี้ คือการแสวงหาการเป็นผู้นำในเวทีสากล มิใช่มองว่าอะไรเกิดขึ้นในเวทีการเมืองในระหว่างประเทศข้างนอก แล้วกลับมามองว่าจะเอาประเทศไทยไปไว้ ณ จุดใดในเวทีระหว่างประเทศนั้นๆ พูดง่ายๆ นโยบายทางด้านการทูตมิใช่แค่การเติมคำในช่องว่างโดยวิ่งตามชาวบ้านเขา" กัณวีร์ กล่าว

นโยบายของรัฐบาลชุดนี้เน้นการออกไปพบปะผู้นำประเทศต่างๆ ไปชักชวนให้มาค้าขายสินค้าและบริการของกันและกัน สร้างเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หรือ FTA การมีพาสสปอร์ตเล่มเดียวไปได้ทุกที่ การอนุมัติการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ว่าการต่างประเทศมากกว่าการค้าการลงทุน หากไทยอยากเป็นผู้นำในเวทีโลก เราต้องกระโดดจากพื้นที่ปลอดภัย (‘comfort zone’) หรือก็คือการทูตแบบไทยๆ ที่ยึดติดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เพราะต่อให้เราเป็นผู้นำการค้าการลงทุนมากเท่าใด เราก็ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ในเวทีโลก 

กัณวีร์ มองว่า ไทยในฐานะประเทศระดับกลาง ต้องคิดออกนอกกรอบการทูตแบบเดิมๆ ต้องสร้างความเป็นผู้นำในเวทีโลกว่าเขาต้องการประเด็นอะไร ซึ่งไม่ต้องใช้การลงทุน หรือถ้าใช้ก็ใช้ให้น้อยที่สุด นั่นคือการใช้กระบวนการสร้างสรรค์ (Soft Approach) หรือการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือการทำงานด้านมนุษยธรรม 

เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ยกกรณีของการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมา หลังการทำรัฐประหารปี 2564 ซึ่งกัณวีร์ สะท้อนว่า เขาไม่เห็นถ้อยแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขสถานการณ์และปัญหาลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นรากเหง้าปัญหาในเมียนมา ทั้งที่ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดำเนินการเรื่องนี้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการลี้ภัย และการพลัดถิ่นภายใน 

ข้อมูลจากการอภิปรายของกัณวีร์ ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันหลังทำรัฐประหารเมียนมาปี’64 มีชาวเมียนมาพลัดถิ่นเข้ามายังเขตแดนไทย พื้นที่พักพิงชั่วคราว จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 5 แห่ง รวมประมาณ 1 หมื่นกว่าคน นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ที่อยู่ในประเทศไทยมา 43 ปีแล้ว จำนวนกว่า 91,000 คน และในอนาคตยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

“นายกรัฐมนตรีต้องออกจาก ‘comfort zone’ ทางด้านการทูตไทยที่แน่นิ่ง หรือที่เรียกว่าการดำเนินการแบบ status quo หรือการคงสถานะทางการทูตแบบปิดหูปิดตา นี่ยังไม่รวมประเด็นการอุ้มหาย แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่ไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบัน ที่ไทยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องจากมองเรื่องสิทธิมนุษยชน และงานด้านมนุษยธรรม จากมุมมองความมั่นคงเพียงอย่างเดียว 

“ถ้าเราไม่อยากเป็นแค่ลูกไล่ในเวทีโลก เปลี่ยนเถอะกรอบกระบวนทัศน์ทางการทูต ต้องกล้าคิด กล้าทำ และคิดนอกกรอบให้ได้ เพราะว่าเราไม่ต้องลงทุนใดๆ เลย เพียงแค่เราจำเป็นต้องมีใจที่เป็นมนุษย์มากกว่าหัวใจทางด้านการค้าเพียงอย่างเดียว” กัณวีร์ กล่าวทิ้งท้ายต่อประเด็นนี้

แถลงนโยบายไม่ระบุเรื่องสันติภาพปาตานี แต่มองแง่ดีตั้งเป้าหมายสร้างหลักนิติธรรม

กัณวีร์ กล่าวต่อถึงข้อวิจารณ์นโยบายที่สอง คือนโยบายการสร้างสันติภาพปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำแถลงของนายกฯ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับปาตานี หรือการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เขารู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพบคำว่า “สันติภาพ” เพียง 2 คำเท่านั้นในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี และไม่มีการเจาะจงเรื่องสันติภาพชายแดนใต้เลย 

"ยังไม่มีถ้อยคำที่เจาะจงเรื่องการสร้างสันติภาพปาตานี จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้แต่คำเดียว” กัณวีร์ กล่าว และระบุว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญ ต่อการจุดประกายความหวังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ และมีความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐ ขณะเดียวกัน ภาคประชาคมระหว่างประเทศจะได้เชื่อถือต่อรัฐบาลไทย จะดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่  

อย่าไงก็ดี เรื่องที่ดีเรื่องหนึ่ง การแถลงของนายกรัฐมนตรี มีการแถลงถึงหลักนิติธรรมถึง 5 ครั้ง เพราะหลักนิติธรรม เป็นองค์ประกอบพื้นฐานต่อการสร้างสันติภาพในปาตานี การเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งบนพื้นฐานหลักนิติธรรม  

การที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะมีการสนับสนุนการเข้าถึงรัฐ และประชาชน กับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ได้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้ความยุติธรรมที่เข้มแข็ง จึงเป็นแนวนโยบายที่ดีในทางทฤษฎี และควรทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่แท้จริงด้วย 

กัณวีร์ ยังมีข้อกังขาเรื่องการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งขออนุญาตเสนอ คำว่า “นิติธรรม” มีองค์ประกอบคือ ประชาชนทุกกลุ่ม และทุกชนชาติ จะต้องมีความรับผิดชอบอย่างเสมอเหมือนกัน ต่อกฎหมายเดียวกัน และปัจจัยสำคัญที่สุดคือ กฎหมายภายใต้หลักนิติธรรมจะต้องมุ่งคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และหนุนเสริมความเป็นประชาธิปไตยของสังคม ข้อนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นตัวบ่งชี้ถึงประเทศประชาธิปไตย และประเทศเผด็จการ

กัณวีร์ ระบุต่อว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยู่กับภาวะผิดปกติของการบังคับใช้กฎหมายมากว่า 20 ปี ประชาชนต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะในพื้นที่ วิธีการกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้อาจเป็นผลดีต่อปฏิบัติการทหาร แต่สร้างผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อเงื่อนไขความยุติธรรม เป็นเงื่อนไขบ่มเพาะและหล่อเลี้ยงความรุนแรงในพื้นที่ ทั้งที่เป็นมิติที่สำคัญกว่าด้านการทหาร เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น และความไว้วางใจต่อรัฐ เพื่อนำไปสู่การยุติสถานการณ์ความรุนแรง

"การที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้แถลงนโยบายการสร้างสันติภาพในปาตานี อาจมีนัยยะที่ว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา หรืออีกหนึ่งนัยยะก็คือท่านนายกรัฐมนตรีจะยังคงแนวทางของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ปาตานี ตามแนวทางที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ตั้งสมการการแก้ไขที่ผิดพลาด เงิน 5 แสนกว่าล้านบาท เงินภาษีพี่น้องประชาชนที่ลงไป เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผมหวังว่าการแก้ไขปัญหานี้จะถูกยกให้เป็นวาระให้แห่งชาติ เพราะว่าเรามี สส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 12 คน ใน 13 เขต และเรายังมีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

"สันติภาพที่ยั่งยืน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยปลายกระบอกปืน และในขณะเดียวกัน สันติภาพที่แท้จริง ก็ไม่สามารถเกิดจากการโยนเงินมูลค่าอันมหาศาลลงไปในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

"ผมขอฝากอันนี้ไว้ครับ ทุกท่านที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไข ในการนำพาสันติภาพกลับคืนมา คำว่า นิติธรรมๆ และนิติธรรม" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าว 

ปรับกลไกด้านความมั่นคง ยังไม่พอ เสนอปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคงทั้งระบบ

กัณวีร์ เสนอนโยบายสุดท้ายเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย มองว่าการแถลงนโยบายของนายกฯ มีความหละหลวม และไม่ชัดเจนเพียงพอ โดยเห็นเพียงนโยบาย “การปรับโครงสร้างกลไกด้านความมั่นคง” เท่านั้น ขอเน้นว่าเราเห็นแค่นั้น แต่ยังไม่เห็นแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนสำหรับกรอบการดำเนินงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงขอเสนอทีละข้อ โดยเริ่มที่การปรับโครงสร้างความมั่นคง 

เลขาธิการ พรรคเป็นธรรม ระบุต่อว่า รัฐบาลควรใช้คำว่า “ปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคงทั้งระบบ” (ประกอบด้วย หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานด้านการบริหารจัดการ และกำกับปฏิบัติงานความมั่นคง และหน่วยงานด้านยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย)

กัณวีร์ เสนอว่า รัฐบาลควรจะใช้คำว่า “รัฐบาลจะปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคงทั้งระบบให้มีความทันสมัย มีความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ด้วยการดำเนินการบนหลักนิติธรรม ด้วยสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามความมั่นคง ทั้งรูปแบบเดิม และรูปแบบใหม่ ได้อย่างยืดหยุ่นต่อความจำเป็นด้านความมั่นคง ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และกลุ่มคน สามารถสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยให้กับกลุ่มทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ภายใต้การกำกับของประชาชน และหลักการประชาธิปไตย”

เสนอกองทัพต้องโปร่งใส ฝ่ายนิติบัญญัติต้องตรวจสอบได้

กัณวีร์ เสนอให้กองทัพต้องเพิ่มการเปิดเผยให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องสามารถตรวจสอบได้ เพราะว่าการใช้งบประมาณลับที่ผ่านมาหลายเรื่องๆ เต็มไปด้วยข้อกังขาที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐ และเป็นสิ่งที่ลดทอนความชอบธรรมของรัฐในการดำเนินนโยบายความมั่นคง

ท้ายสุด กัณวีร์ วิจารณ์การแถลงนโยบายของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า แม้ว่าจะมีข้อดีเรื่องการตั้งเป้าหมาย คือการมีความมั่นคงภายใน และภายนอก ที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก แต่ไม่มีการลงรายละเอียดเรื่องของการดำเนินการของส่วนงานระบบราชการ 

"ขอประชาชนชาวไทยก็ได้แต่หวัง รัฐบาลที่มีคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องยอมรับคำวิจารณ์จากสังคม และสาธารณะให้ได้ เนื่องจากนโยบายต่างๆ ที่ได้แถลงมาโดยส่วนมาก อาจเป็นนโยบายที่ไม่ตรงปก ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะว่ารัฐบาลเองก็ไม่ใช่รัฐบาลที่ตรงปกอยู่แล้ว ซึ่งนากยรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีปกแข็งหรือปกอ่อน นโยบายจะตรงกับปกที่เอาคลุมหรือไม่" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ทิ้งท้ายการอภิปราย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net