Skip to main content
sharethis

‘ชัยธวัช’ นิยามรัฐบาลเศรษฐา ‘ส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์’ นโยบายไม่แตะปัญหาที่สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง นโยบายที่เกี่ยวกับกองทัพไม่ต่างอะไรกับแผนของสภากลาโหมยุคประยุทธ์ เกณฑ์ทหารยังมี ไม่จัดการที่ดินและธุรกิจกองทัพ

12 ก.ย.2566 ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายด้านการเมือง โดยสรุปรัฐบาลเศรษฐา 1 ว่าเป็น ‘ส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์’ และสะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจของรัฐบาลชุดนี้

ชัยธวัชกล่าวถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย 7 หัวข้อ แล้วเขามีความเห็นว่า

ประเด็นแรกเรื่องพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทุกรัฐบาลต้องทำอยู่แล้วเพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศ แต่การที่นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้เป็นประเด็นแรก รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณอะไร กำลังบอกว่าปัญหาทางการเมืองที่สำคัญมากขณะนี้ คือสถาบันฯ กำลังถูกคุกคามจนกลายเป็นประเด็นสำคัญและเป็นภารกิจแรกที่นายกฯ กล่าวถึงในนโยบายใช่หรือไม่ นักการเมืองทุกคนรู้ดีว่ารัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมากว่า 10 ปีกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ คือปัญหาการนำสถาบันฯ มาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง

เลขาฯ พรรคก้าวไกลยังชี้ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 อีกว่ากำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับประชาชนย่ำแย่ลง ไม่ต้องพูดถึงมรดกของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหลายฉบับที่หมิ่นเหม่จะกระทบหลักการ ‘ปกเกล้าไม่ปกครอง’ ของสถาบันฯ ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้สถาบันฯ ไม่อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ

“นี่ถ้าผมปิดตาฟังว่าย่อหน้าแรกรัฐบาลจะทำอะไร ผมนึกว่าเป็นคำแถลงของรัฐบาลประยุทธ์ 3” ชัยธวัชกล่าว

ประเด็นต่อมาเรื่องรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลบอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน คือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือ แนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ชัยธวัชตั้งข้อสังเกตว่า สุดท้ายที่เคยบอกว่าในการประชุม ครม.นัดแรก จะมีการพิจารณาให้มีการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. จากการเลือกตั้งนั้น ไม่มีแล้วใช่หรือไม่

เลขาฯ พรรคก้าวไกลยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เขาอ่านแล้วก็มีคำถามว่าตกลงหลักนิติธรรมที่รัฐบาลกำลังจะฟื้นฟูนั้น คืออะไรแน่ เพราะไม่มีการพูดถึงประชาชนเป็นเป้าหมายในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมสักคำเดียว ตกลงหลักนิติธรรมเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การปกครองอย่างนั้นหรือ ไม่มีการพูดเรื่องความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย

ประเด็นการกระจายอำนาจ ที่เขาไม่เห็นความชัดเจนว่าจะมีมาตรการในการเพิ่มอำนาจ เพิ่มงบประมาณ เพิ่มบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลย ทั้งที่ในการรัฐประหาร 2 ครั้งได้ทำให้สถานการณ์กระจายอำนาจถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ เกิดการดึงอำนาจจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางขนานใหญ่

ชัยธวัชเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอะไรกันแน่ในเรื่องความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ การร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาชน และเรื่องความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ที่เหมือนเอาหลายเรื่องมาผสมรวมกัน

เลขาฯ พรรคก้าวไกลกล่าวถึงเน้นถึงเรื่องการพัฒนากองทัพ ที่นายกฯ แถลงว่ารัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพโดย

1.จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ

2.ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์

3.ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูงและกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ

4.ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และ

5.นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ทั้งนี้ชัยธวัชมองว่านโยบายเกี่ยวกับกองทัพสำคัญมากเพราะสถานการณ์ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องรัฐประหารยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยที่กองทัพกลายเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของระบอบอำนาจนิยมไทย ดังนั้นถ้าไม่แก้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารการปฏิรูปการเมืองที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้ไม่มีหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยและจะไม่เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

“สังคมไทยเคยพลาดโอกาสสำคัญในการปฏิรูปกองทัพมาแล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เพราะตอนนั้นเราต่างคิดว่าเมื่อทหารที่ทำรัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากรมกองแล้ว กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองไปเองโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม แต่มาถึงวันนี้ เราทราบกันดีว่าความคิดนั้นผิด”

ชัยธวัชยังเห็นว่าแม้การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกฯ อาจหมายถึงว่ากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ ‘พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ’ แต่กลายเป็นว่าการส่งพลเรือนมานั่งเป็น รมว.กลาโหมครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง ไม่แตะกองทัพ นโยบายการทหาร นโยบายความมั่นคง จะคงอยู่ในมือของกองทัพ รวมถึงเครือข่ายของคณะรัฐประหารต่อไป

เขาอธิบายโดยยกนโยบายของพรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงและยื่นต่อ กกต.เรื่องการ ‘ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ’ โดยการปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหารและแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ

แต่ปรากฏว่า นโยบายดังกล่าวของแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกลับเปลี่ยนจาก ‘ปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงฯ’เป็น ‘ร่วมกันพัฒนากองทัพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน’ และมีส่วนที่หายไปอย่างการ ‘เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร’ อีกทั้งไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่า ‘รัฐประหาร’ สักคำ ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557

“ทั้งๆ ที่การรัฐประหารเป็นปัญหาสำคัญมากของการเมืองไทย และพี่น้องประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาเลือกตั้ง ก็คาดหวังว่าเมื่อเรามีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก หรือคำว่า ‘รัฐประหาร’ มันแสลงใจมากจนพูดถึงไม่ได้ หรือนายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลชุดนี้ เกรงใจพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยหรือ”

นอกจากนั้นเรื่องการเกณฑ์ทหารก็คลุมเครือไม่ชัดเจน เพราะพรรคเพื่อไทยเคยมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ แต่สุทิน คลังแสงที่เป็น รมว.กลาโหมคนใหม่กลับบอกว่าจะค่อย ๆ ลดสัดส่วนการบังคับเกณฑ์ทหาร แล้วเพิ่มสัดส่วนคนที่สมัครใจมาเป็นทหารเกณฑ์ พอมาถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลบอกว่า จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ และปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารฯ

“ตกลงท่านนายกฯ รัฐบาล และ รมว.กลาโหม จะเอายังไง จะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วใช่หรือไม่ ที่รัฐบาลแถลงนโยบายว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ หมายความว่ายังไงกันแน่ ตกลงจะเปลี่ยนรูปแบบการบรรจุกำลังพลทหารเป็นแบบสมัครใจไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารอีกต่อไปแล้ว หรือยังคงมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ เพียงแค่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์เท่านั้น” ชัยธวัชย้ำคำถาม

ชัยธวัชกล่าวต่อว่าการเลิก กับ ลด การเกณฑ์ทหาร ต่างกันมาก แล้วถ้านโยบายรัฐบาลคือ ลด การเกณฑ์ทหารเท่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะต่อให้ไม่มีรัฐบาลใหม่ทุกวันนี้กองทัพก็ดำเนินการอยู่แล้ว สภากลาโหมที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมเมื่อ31 พ.ค.2566 ก็ได้ประกาศแผนปฏิรูปกองทัพซึ่งมีเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำในที่ประชุมสภากลาโหมครั้งนั้นว่า “นี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป”

“นายกฯ เศรษฐา กับ รมว.สุทิน ได้ยินไหมว่ากองทัพมีแผนปฏิรูปของตัวเองอยู่แล้ว คนอื่นไม่เกี่ยว

แบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้ รมว.สุทิน ไปนั่งทำหน้าที่เป็นแค่โฆษกกองทัพอย่างนั้นหรือ”

เลขาฯ พรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่ารมว.กลาโหมอาจบอกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในที่สุด แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ทันทีเพราะกลัวจะไม่มีคนมาสมัครเป็นพลทหารพอกับจำนวนกำลังพลที่ต้องการ ทำให้มีคำถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้น รมว.กลาโหมมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดภายในกี่ปี

“คนรุ่นใหม่ของประเทศ ยังต้องสูญเสียช่วงวัยที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นการทำงาน หรือช่วงเริ่มต้นดูแลครอบครัว จะถูกบังคับเกณฑ์ไปเหมือนไพร่ในยุคสมัยใหม่อีกนานเท่าไร เยาวชนที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารแต่ไม่มีโอกาสจะเรียน รด. จะมีทางออกอย่างไร รมว.กลาโหมจะสั่งห้ามไม่ให้ใช้ทหารเกณฑ์ในภารกิจที่ไม่เกี่ยวกับการทหารหรือของกองทัพอีกหรือไม่ ยังจะมีพลทหารถูกใช้ไปซักผ้า ถูบ้าน ขับรถ หรือเป็นทหารรับใช้ส่วนตัวของใครอีกหรือไม่ ท่าน รมว.กลาโหมจะจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทหารเกณฑ์เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาอีก ปัญหาทหารผีจะมีอีกไหม และจะยุติการเรียกรับส่วยในการจับใบดำใบแดงของกองทัพอย่างไร”

ชัยธวัชมองว่าการกำหนดนโยบายนี้ควรเริ่มด้วยคำถามว่าจำนวนกำลังพลทหารที่ประเทศไทยต้องการคือเท่าไรกันแน่ เพราะปัจจุบันกองทัพเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 90,000 นาย รุ่นหนึ่งฝึก 2 ปี เท่ากับว่ากองทัพมีพลทหารประจำการในแต่ละปีรวมทั้งสิ้นประมาณ 180,000-200,000 นาย ในจำนวนนี้มีผู้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ปีละประมาณ 35,000 นาย รวมแล้วเรามีพลทหารประจำการที่สมัครใจในแต่ละปีประมาณ 70,000 นาย

เลขาฯ พรรคก้าวไกลตั้งคำถามต่อมาว่า ทำไมถึงต้องการกำลังพลทหารประจำการถึงปีละ 180,000-200,000 นาย ไปเตรียมกำลังรบภาคพื้นดินขนานใหญ่กับใคร ในขณะที่ปัจจุบันโจทย์ทางการทหารเปลี่ยนไปแล้วกองทัพขนาดใหญ่มีกำลังพลจำนวนมากถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภัยคุกคามและสงครามแบบเดิมนั้นไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงสมัยใหม่แล้ว

ชัยธวัชชี้ว่าตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา กองทัพของหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ปฏิรูปลดขนาดกองทัพให้เล็กลงหลายเท่าแต่มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้นหลายเท่า แนวโน้มหลักของกองทัพในศตวรรษที่ 21 จึงเปลี่ยนจากกองทัพทหารเกณฑ์แบบเก่าที่มีขนาดใหญ่ไปเป็นกองทัพแบบทหารมืออาชีพที่สมัครเข้ามาและมีขนาดเล็กลงหลายเท่า แต่กองทัพไทยหลังยุคสงครามเย็น แทบไม่ได้แตกต่างจากกองทัพไทยยุคสงครามเย็นเลย

“ฝากไปยังท่านนายกฯ และ รมว. กลาโหม ว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เน้นว่ายกเลิก ไม่ใช่ลด

จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากๆ ประการหนึ่งในการปฏิรูปกองทัพ เพราะเมื่อกำลังพลทหารลดลง จำนวนผู้หมวด ผู้การ ไปจนถึงนายพล ก็จะถูกบีบให้ลดลงไปด้วย การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารจึงนำไปสู่การปฏิรูปกำลังพลทั้งระบบ ทั้งในแง่ลดขนาด การสร้างทหารอาชีพ และยกเครื่องให้กองทัพทันสมัยสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21”

นอกจากนั้นชับธวัชยังตั้งคำถามต่อเรื่องการลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูงจะปรับลดอย่างไร และมีความแตกต่างจากแผนการปฏิรูปของสภากลาโหมที่มีอยู่แล้วอย่างไร และที่สำคัญจากนโยบายข้อนี้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่ทบทวนการมีอยู่ของ กอ.รมน. ใช่หรือไม่

“ผมอยากบอกรัฐบาลว่าปัญหาของ กอ.รมน. ไม่ใช่เรื่องกำลังพล แต่หน่วยงานนี้ถูกฟื้นคืนชีพหลังการรัฐประหารปี 49 กลายเป็นองค์กรรัฐซ้อนรัฐ ทำให้เรามีรัฐทหารมาควบคุมซ้อนทับอยู่เหนือรัฐราชการของพลเรือนอีกชั้นหนึ่ง ยังไม่นับงบลับมหาศาลที่ตรวจสอบไม่ได้”

ชัยธวัชกล่าวว่าเขาไม่เห็นความชัดเจนในนโยบายการนำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน ว่าจะมีการเอาที่ดินราชพัสดุคืนจากกองทัพ ในกรณีที่ไม่ได้นำไปใช้ในกิจการทางการทหารใช่หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีหมายความว่ารัฐบาลจะสนับสนุนธุรกิจของกองทัพที่ไม่ควรเป็นภารกิจของทหารต่อไปใช่หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีเรื่องเงินนอกนอกงบประมาณที่กองทัพแทบไม่เปิดเผย ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีรายงานว่ามีเท่าไร เอาไปทำอะไร

เลขาฯ พรรคก้าวไกลเห็นว่านายกฯ ในฐานะควบ รมว.คลัง ควรต้องตอบว่าจะเอาอย่างไรกับที่ดินราชพัสดุของกองทัพที่ผิดระเบียบ และเอาอย่างไรกับเงินนอกนอกงบประมาณของกองทัพด้วย

ชัยธวัชยังถามอีกว่าที่รัฐบาลบอกว่าจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างนั้น จะมีการปรับโครงสร้างและอำนาจของสภากลาโหมด้วยหรือไม่เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้กองทัพถูกควบคุมโดยพลเรือนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏในคำแถลงของรัฐบาล เช่น ไอโอของกองทัพ ซึ่งทำให้กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับพลเรือนนั้น จะยกเลิกหรือไม่

“เมื่อฟังการแถลงนโยบายกองทัพของรัฐบาลแล้ว ผมอยากจะสรุปสั้นๆ ว่านี่ไม่ใช่นโยบายการพัฒนากองทัพร่วมกัน ไม่แม้แต่การปฏิรูปกองทัพ แต่นี่คือนโยบายเขตทหารห้ามเข้า หมายความว่าการปฏิรูปกองทัพโดยรัฐบาลพลเรือนจะไม่เกิดขึ้น นอกจากสิ่งที่กองทัพออกแบบเองและอนุญาตให้ทำ”

ชัยธวัชกล่าวว่า ที่คำแถลงนโยบายด้านการเมือง ประกอบกับด้านอื่นๆ ของรัฐบาลเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่ใช่เพราะนโยบายที่พูดตอนหาเสียงเป็นแค่คำโฆษณาหรือเทคนิคการหาเสียง และไม่ใช่เพราะเป็นรัฐบาลผสม แต่มันสะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริง ของรัฐบาลเศรษฐาฯ 1

“ผมเห็นว่า เราไม่ได้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างที่ท่านนายกฯ แถลงไว้ แต่เรากำลังเข้าสู่รัฐบาลที่ไม่มีเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็แย่กว่านั้น คือการแถลงนโยบายในครั้งนี้ มันชวนให้คิดได้ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว รัฐบาลเศรษฐา 1 ได้กลายเป็น ส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์ เพื่อพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่าน เหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับระบบการเมืองแบบเดิม โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแบบเก่า และวัฒนธรรมแบบจารีตต่อไป”

“นี่คือนโยบายของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความสยบยอม หรือไม่ก็สมยอมกัน เป็นการสามัคคีปรองดองระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง ชั้นนำทางเศรษฐกิจ และชนชั้นนำจารีต เพื่อรักษาระบบเดิมเอาไว้ นั่นคือ ระบบที่อำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชน ทหารมีอำนาจเหนือสังคม รัฐราชการรวมศูนย์ กฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ความมั่นคงอยู่เหนือพลเมือง ทุนใหญ่มีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจ” ชัยธวัชกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net