Skip to main content
sharethis

ย้อนอ่าน 'ชาติพันธุ์ปลดแอก' จัดค่ายรัฐธรรมนูญ หวังสะท้อนปัญหาชายขอบ-ชาติพันธุ์ ผู้เข้าร่วมชี้ ‘รัฐธรรมนูญ’ ไม่เคยรู้สึกและสัมผัสได้ แต่กำหนดชีวิตและสิทธิฯ พบปัญหาร่วมจากต่างพื้นที่ รัฐรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจยัดเยียดโครงการเข้าชุมชน

ห่างจากตัวอำเภอแม่สะเรียงออกไปประมาณ 98 กิโลเมตร ติดกับเขตแดนรัฐกระเหรี่ยงมีแม่น้ำสาละวินกั้นเขตแดน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยความทุลักทุเลระหว่างการเดินทางตามถนนลูกรังที่ผุพังตลอดแนวภูเขาคดโค้ง สัญญาณโทรศัพท์มือถือก็ค่อยๆ ลดลง จนไร้การเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต

ที่นี่ไม่มีไฟฟ้ามีเพียงไฟส่องสว่างจากโซล่าเซลล์ที่ไม่ได้มีความเสถียรมากนัก ริมแม่น้ำสาละวินมีท่าเรือเล็ก ๆ เพื่อใช้สัญจรระหว่างชุมชน มีบ้านไม้ยกสูงหลังเล็กหลังน้อยที่มุงผนังด้วยไม้ไผ่สานและมุงหลังคาด้วยใบตองตึงมุง แต่ละหลังคาเรือนตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก ประกอบเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่แฝงตัวอยู่ในหุบเขาบริเวณชายแดนไทย-รัฐกะเหรี่ยง ที่นี่เรียกว่า ชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

หลังจากจอดรถ พ่อหลวงประจำชุมชนท่าตาฝั่งและคนอื่นๆ ต่างเข้ามาต้อนรับทักทายผู้เข้าร่วมค่ายรัฐธรรมนูญ “ชาติพันธุ์ปลดแอก” Free Indigenous People ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2566 ในพื้นที่แห่งนี้ ก่อนจะช่วยกันขนสัมภาระขึ้นไปเก็บบนอาคารไม้สองชั้นที่คนในชุมชนได้มีการจัดเตรียมให้เป็นที่พักแรมระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม ขณะกำลังนำกระเป๋าภาระไปเก็บให้เข้าที่เข้าทาง ก็มีผู้เข้าร่วมจากชุมชนอื่น ๆ ทยอยเดินทางมาถึง บ้างก็กำลังนั่งพักเหนื่อยหลังจากการเดินทางด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง

หวังสะท้อนปัญหาชายขอบ-ชาติพันธุ์

ที่นี่มี “ชยานันต์ ปัญญาคง” สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก บอกเล่าว่า การลงชุมชนในครั้งนี้เพื่อระดมความคิดเห็นจากเยาวชนและชาวบ้านในเรื่องของชาติพันธุ์และรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน แต่กลับเป็นเรื่องค่อนข้างยากในการเข้าถึงโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เพราะรัฐไทยปลูกฝังทัศนะคติค่านิยมที่เน้นวัฒนธรรมเดี่ยวจากส่วนกลาง ไม่ยอมรับความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมเพราะต่างจากคุณค่าหรือนิยามที่รัฐสร้างไว้ พวกเขาจึงถูกมองเป็นอื่นและถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด

“การมารวมตัวกันในครั้งนี้เพราะเรามองเห็นถึงความสำคัญของความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมและสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่ถูกรัฐผลักให้เป็นคนชายขอบ เราจึงอยากให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้ร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่ของเขาเองและออกแบบความต้องการโดยคนที่ในชุมชนจริง ๆ เพื่อให้พวกเขามีโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นในอนาคต” ชยานันต์บอกเล่าพร้อมเหลือบมองไปที่แม่น้ำสาละวิน

‘รัฐธรรมนูญ’ ไม่เคยรู้สึกและสัมผัสได้ แต่กำหนดชีวิตและสิทธิฯ

ถัดไปอีกมุมหนึ่งของอาคารมี “ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน” เยาวชนบ้านท่าตาฝั่ง ริมแม่น้ำสาละวินอดีตเด็กไร้สัญชาติชาวกะเหรี่ยง บอกเล่าว่าตั้งแต่เราเกิดและเติบโตมาในหมู่บ้านแห่งนี้ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นเรื่องที่เราเองไม่เคยนึกถึงและไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถแตะต้องได้ถือเป็นภาพที่ไกลเกินไปมาก เราไม่เคยรู้สึกและสัมผัสได้ถึงการมีอยู่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

“ที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการมีที่อยู่อาศัย สิทธิในการจัดสรรทรัพยากร ต้นไม้ ป่าไม้ แม่น้ำ สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เราต้องอยู่กับความเหลื่อมล้ำและปัญหาของเราไม่เคยถูกแก้ไขเพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวกำหนดชีวิต เรากลับไม่ได้เขียนมันเอง” เธอเล่า

เธออธิบายต่อว่า เยาวชนที่นี่มีความยากลำบากในการเข้าถึงระบบการศึกษา แม้ว่าเราจะมีโรงเรียนแต่งบประมาณก็ไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนขาดแคลนทั้งค่าอุปกรณ์การเรียน แม้มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนสลับกันใช้สอยเพื่อค้นคว้าในการหาความรู้เพิ่มเติมแต่เราก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังไร้สัญญาณอินเตอร์เน็ต ส่วนค่าอาหารกลางวันบางครั้งต้องขอระดมทุนจากคนในหมู่บ้านเพื่อนำมาจัดสรรให้เพียงพอต่อเด็กนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะในช่วงสอบวัดผล O-Net เด็กนักเรียนจะต้องตื่นเช้าต้องสูญเสียสมาธิจากการเดินทางตามถนนที่ผุพังหลายชั่วโมงเข้าไปสอบในตัวเมือง หากมองถึงเรื่องของสาธารณะสุขคนในชุมชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะต้องเสียเงินเหมารถ เหมาเรือ เสียเวลาทั้งวันในเดินทางไกลเพื่อเข้าไปรักษาในตัวอำเภอ นี่คือสิ่งที่คนในพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

“เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าหากกฎหมายที่กำหนดชีวิตของเราถูกเขียนโดยคนรากหญ้าและคนในชุมชนเองจริง ๆ เรามีความเชื่อและมั่นใจว่า เราจะสามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เข้าถึงระบบการศึกษา ไฟฟ้า น้ำประปา สาธารณสุข สามารถจัดการทรัพยากรที่เรามีในชุมชน และปัญหาที่ต่างๆ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมก็คงจะถูกแก้ไข เพื่อให้ตอบโจทย์กับคนทุกคน ตอบโจทย์กับคนที่อาศัยในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตาม” ลาหมึทอกล่าวย้ำถึงความสำคัญรัฐธรรมนูญที่ควรมีเพื่อไว้ตอบสนองคนทุกคนอย่างเท่าเทียม

ล้อมวงสะท้อนปัญหาร่วมต่างพื้นที่ รัฐรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจยัดเยียดโครงการเข้าชุมชน

ขณะที่ตะวันกำลังลาลับท้องฟ้าแสงไฟจากโซล่าเซลล์ก็ส่องสว่างขึ้น แม้ไฟที่อาจจะไม่เพียงพอแต่ก็ทำให้มองเห็นหน้าคร่าตาของผู้เข้าร่วมค่ายที่กำลังต้องวงล้อม เพื่อสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและแนะนำตัวกัน หลายคนก็เดินทางมาไกลจากชุมชนกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บ้างก็มาจากชุมชนบ้านแม่ปอคี จังหวัดตาก รวมไปถึงเยาวชนที่มาจากตัวเมืองเชียงใหม่ 

เยาวชนที่มารวมตัวกันที่นี่ต่างก็มีประเด็นปัญหาในพื้นที่ของตนเองเช่นเดียวกันกับ “พรชิตา ฟ้าประทานไพร” กลุ่มกะเบอดินดินแดนมหัศจรรย์  อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เธอบอกเล่าว่า พื้นที่ชุมชนกะเบอะดินนอกจากจะต้องต่อสู้เพื่อคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินแล้ว คนในชุมชนต้องเผชิญกับโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท โดยโครงการผันน้ำยวมจะมีการขุดอุโมงค์ผันน้ำไปยังเขื่อนภูมิพล โดยผ่านชุมชนที่อยู่บริเวณรอยต่อของ 3 อำเภอ ตั้งแต่พื้นที่อำเภอสบเมย มายังอำเภออมก๋อย ไปจนถึงอำเภอฮอด โดยพื้นที่ชุมชนกะเบอะดินก็จะเป็นชุมชนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่นี้ด้วย

เธออธิบายความกังวลใจของคนในชุมชนว่า หากเริ่มดำเนินการโครงการต่อจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนในพื้นที่ ชุมชนอาจจะต้องสูญเสียทรัพยากรมากมายเพื่อแลกกับโครงการผันน้ำ เช่น พื้นที่ทำกิน ลำห้วย ป่าไม้  นอกจากนี้ระหว่างที่เขาดำเนินการจะต้องขนดินที่มากมายมหาศาลออกจากในพื้นที่ โดยไม่รู้เลยว่าจะนำดินจากการขุดเพื่อสร้างอุโมงค์ไปกองไว้ที่ไหน และชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่รู้ความเป็นมาของโครงการนี้เลย ไม่รู้เลยว่าพวกเขาจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง ? จะต้องเผชิญกับผลกระทบอะไรบ้าง ? ซึ่งกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่มีความโปร่งใส ทำให้เราไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

“ขณะนี้ขบวนการทำ EIA ผ่านไปได้อย่างไม่มีความโปร่งใส โดยที่รัฐก็ไม่สนใจไยดีต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เราในฐานะเยาวชนที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ที่จะต้องได้รับผลกระทบระยะยาว ในอนาคตวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวกระเหรี่ยงที่กินอยู่อาศัย ผืนดิน ต้นน้ำ ป่าไม้ ลำธาร ทรัพยากรเหล่านี้ที่มีความสำคัญกับคนทุกคนอาจจะต้องสูญเสียไปอย่างไม่มีวันกลับ คนหนุ่มสาวอาจจะต้องหันหลังให้กับบ้านเกิด เพื่อเข้าไปทำงานขายแรงงานแลกเศษเงินในโรงงานอุตสาหกรรม เราจึงจำเป็นต้องออกมาต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการที่เข้ามาในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมเพื่อรักษาทรัพยากรของเราไว้” เยาวชนชาวกระเหรี่ยงกล่าวพร้อมส่งสายตาที่จริงจัง 

เธอเล่าต่อว่า โครงการต่างๆ ที่รัฐพยายามยัดเยียดเข้ามาในชุมชนโดยที่ไม่ถามความต้องการของคนในพื้นที่ ไม่ยอมรับฟังเสียงของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนชาติพันธุ์ ทั้งยังผลักให้คนตัวเล็กตัวน้อยกลายเป็นคนชายขอบที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเรารวมศูนย์อำนาจในการตัดสินต่าง ๆ ไว้ที่รัฐส่วนกลางที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่กลับมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เราไม่มีสามารถตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรของเราเองได้ 

“เราจึงต้องการมีส่วนร่วมในการออกแบบโดยเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อบัญญัติให้คนในชุมชนมีอำนาจสูงสุดในการจัดการทรัพยากรในชุมชนโดยคนในชุมชนเอง เพื่อให้เราสามารถปกป้องผืนดิน ผืนป่า ผืนน้ำ จากกลุ่มทุนที่พยามยามเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และถลุงเอาทรัพยากรไปฟันกำไร” เยาวชนชาวกระเหรี่ยงบอกเล่าถึงความหวังในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่

เยาวชนที่ดั้นด้นเดินทางมารวมตัวกันในหุบเขาแห่งนี้ ต่างต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่รู้ว่าเลยว่าแก้ไขหรือไม่จุดมุ่งหมายเดียวกันที่พวกเขาหวังคือการได้กำหนดชีวิตของพวกเขาเองและถูกบัญญัติ ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net