Skip to main content
sharethis

บันทึกถ่ายทอดสนการสนทนากับ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)กับการเดินสายยืน “ค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ไปยัง กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงเหตุผลที่คัดค้านระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ประมวลปฏิกิริยาของแต่ละหน่วยงานที่หลังรับข้อเรียกร้อง ความคาดหวังของเครือข่ายต่อรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะประเด็นสวัสดิการผู้สูงอายุและอื่นๆ 

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน 53 องค์กร 1,468 รายชื่อ "ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" วันที่ 17 สิงหาคม 2566

ในห้วงยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาล 'ประยุทธ์' ยังคงรักษาการในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 โดยเพิ่มคุณสมบัติการเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพ  ทั้งที่ทศวรรษกว่านับตั้งแต่ป๊ 2552 สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถูกปรับจากระบบสงเคราะห์คนยากไร้อนาถามาเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า ขอเพียงให้ประชาชนมีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการหรือบำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน

จนเมื่อเข้าสู่การรัฐประหาร 2557 การบริหารประเทศภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กลับลิดรอนสิทธิสวัสดิการของประชาชน ลดทอนด้อยค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจน แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้าอันเป็นการเคารพสิทธิเสมอกันของประชาชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ในฐานะพลเมือง ทรัพยากรบุคคลของประเทศ

ในนามของพลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เราจะร่วมกันปกป้องสวัสดิการประชาชน และร่วมกันคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้

 1. กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว

 2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติต้องออกมาปกป้องหลักเกณฑ์การจ่ายสิทธิของผู้สูงอายุทุกตน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566

 3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี

 4. กระทรวงการคลัง ต้องมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง โดยการตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้ในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น

 5. รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น สวัสดิการต้องเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าและบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net