Skip to main content
sharethis

รัฐสภากัมพูชาโหวตแต่งตั้ง 'ฮุน มาเนต' ทายาท 'ฮุน เซน' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการ นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจทางสายเลือดคล้ายราชวงศ์ และมาเนตยังน่าจะเป็นหุ่นเชิดสำหรับพ่อตัวเองด้วยหลายสาเหตุ รวมถึงการที่มาเนตถูกเตรียมการให้ทำตัวเหมือนพ่อของเขา และเป็นคนที่ไม่มีเรื่องเล่าการไต่เต้าสู่ความเป็นผู้นำในแบบของตัวเอง ถูกมองว่าแค่อาศัยใบบุญจากพ่อ

 

27 ส.ค. 2566 รัฐสภากัมพูชาได้ลงมติแต่งตั้ง ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของ ฮุน เซน ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นับเป็นการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในแบบที่สื่ออัลจาซีร่าระบุว่า "คล้ายกับการสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือดแบบเกาหลีเหนือในเวอร์ชั่นของเอเชียอาคเนย์"

ฮุน มาเนต นายพลระดับสี่ดาวของกองทัพกัมพูชา ได้รับคะแนนเสียงลงมติเห็นชอบ 123 เสียง จากสภาผู้แทนราษฏรของกัมพูชาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ฮุน มาเนต แถลงหลังการลงมติว่า "วันนี้เป็นวันที่สำคัญมาก นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรกัมพูชา"

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานเกือบ 40 ปี เคยประกาศว่าจะให้ลูกชายคนโตของตัวเองคือ ฮุน มาเนต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เขาประกาศในเรื่องนี้ไว้หลังจากที่พรรคของเขาชนะการเลือกตั้งได้ไม่นาน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่มีขึ้นในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในเรื่องที่มีการกีดกันพรรคฝ่ายค้านที่มีพลังในการคัดง้างกับพรรครัฐบาลให้ต้องถูกตัดสิทธิจากการลงเลือกตั้ง ทำให้พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ชนะแบบลอยลำโดยไม่มีคู่แข่ง โดยครองที่นั่งในสภา 125 ที่นั่ง จากทั้งหมด 130 ที่นั่ง

นอกจาก ฮุน เซน แล้วเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรครายอื่นๆ ก็ยังมีแผนการจะสละตำแหน่งต่างๆ ของตัวเองในรัฐบาล เพื่อให้ลูกหลานของพวกเขาหรือญาติพี่น้องของพวกเขาสืบทอดตำแหน่งต่อไปด้วย

มีการวิเคราะห์จากฝ่ายค้านและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองกัมพูชาระบุว่า ถึงแม้ ฮุน มาเนต จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ ฮุน เซน ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางอำนาจและศูนย์กลางทางการเมืองในกัมพูชา ทั้งในความหมายตรงไปตรงมาและในเชิงสัญญะ

หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านพลัดถิ่น สม รังสี บอกว่าการที่ ฮุน มาเนต เข้ารับตำแหน่งไม่ได้เป็นหมุดหมายถึง "การเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ ต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองของกัมพูชา" สม รังสี บอกว่าในความเป็นจริงแล้ว "ฮุน เซน จะยังคงเป็นผู้เชิดหุ่น" อยู่เบื้องหลังต่อไป

ฮุน เซน ซึ่งในตอนนี้อายุ 71 ปี ประกาศว่าเขาจะยังไม่ถอนตัวออกห่างจากการเป็นผู้ควบคุมอำนาจ โดยอ้างว่าเขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาต่อไป และจะยังคงอยู่ในตำแหน่งอื่นๆ ต่อไปอย่างน้อยอีก 10 ปี

ในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่นานนักหลังจากที่ ฮุน เซน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็ให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงรัฐบาลชุดต่อไปที่นำโดยลูกชายของเขา แต่ก็ย้ำเตือนว่าเขาอาจจะกลับมาอีกถ้าหากจำเป็น โดยอ้างว่า "ผมไม่อยากให้ประเทศอยู่ในภาวะโกลาหล"

แต่ต่อมาในวันที่ 22 ส.ค. ฮุน เซน ก็กล่าวย้ำว่าเขาจะไม่หนีหน้าไปจากสาธารณชน และขอให้ประชาชน "อยู่ในความสงบ" บอกว่าเขาจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภาต่อในช่วงต้นปีหน้า (2567)

นอกจากนี้ ฮุน เซน ยังได้วิพากษ์วิจารณ์นักวิเคราะห์ที่บอกว่าเขาถ่ายโอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับลูกชายของเขาแต่ไม่ได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับ ฮุน มาเนต อย่างแท้จริง ซึ่ง ฮุน เซน วิจารณ์ว่า "นี่เป็นการวิเคราะห์ที่โง่มาก"

นักลงทุนจากตะวันตกในกัมพูชาผู้ที่พูดโดยปิดชื่อของตัวเองบอกว่า "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก" นับตั้งแต่ที่ ฮุน เซน ประกาศลงจากตำแหน่ง โดยมองว่า ฮุน เซน จะยังคงเป็นศูนย์กลางทางอำนาจต่อไป ต้องรอให้ ฮุน เซน ไม่ได้ปรากฏอยู่ในการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอีกต่อไปเท่านั้นถึงจะกลายเป็นบททดสอบอย่างแท้จริงสำหรับ ฮุน มาเนต และสำหรับเสถียรภาพของกัมพูชา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การที่ ฮุน เซน สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตัวเองในที่สุดถึงแม้ว่าจะครองอำนาจมาเกือบ 40 ปี ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนที่เป็นเผด็จการตัวบุคคลก็ไม่สามารถอยู่ยงเหนือกาลเวลาได้

นักวิเคราะห์อย่าง โจชัว เคอร์แลนต์ซิค นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียอาคเนย์ขององค์กรคลังสมองนิวยอร์ก "สภาเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" กล่าวว่าการที่ฮุน เซน มอบอำนาจต่อให้กับลูกชายของตัวเอง "เทียบเท่ากับการสิบทอดต่ออำนาจในครอบครัวแบบเกาหลีเหนือ"

เคอร์แลนต์ซิค ประเมินไว้ว่ากัมพูชาจะยังคงมีการกดขี่ปราบปรามต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการต่อต้านเกิดขึ้นในช่วง "การเปลี่ยนผ่านอำนาจที่เสี่ยงต่อความเปราะบาง" และมองว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายทั่วกัมพูชาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยจากการที่ ฮุน มาเนต จะทำการอุปถัมภ์ให้เส้นสายทางการเมืองเพื่อควบรวมอำนาจของตัวเองให้แน่นหนา

มีนักวิเคราะห์รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาบอกว่า ในหมู่พรรครัฐบาลกัมพูชามีการแสดงความไม่พอใจและไม่สบายใจกันเงียบๆ ในที่ลับ ต่อเรื่องที่ ฮุน มาเนต ได้รับการยกตำแหน่งระดับผู้นำให้ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีผลงานทางการเมืองอะไรเลยก็ตาม กลายเป็นว่าผู้อาวุโสในพรรคจะต้องมาคอยรับคำสั่งและคำชี้แนะจากคนที่อ่อนวัยกว่า

 

"การสืบทอดทางสายเลือดคล้ายระบบราชวงศ์"

ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของ ฮุน เซน เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการที่พ่อของเขาทำการบดขยี้การวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านต่างๆ เช่นการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อีกทั้งยังมีการสั่งปิดสื่อต่างๆ และคอยกำกับโซเชียลมีเดียเพื่อให้ผู้ใช้งานในประเทศหลายล้านคนเซนเซอร์ตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ ฮุน เซน ที่เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์นิดหน่อยก็ไม่ได้

ฮุน เซน ยังได้ทำการกู้ยืมเงินจากจีนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างทางหลวง, สะพาน และเขื่อน รวมถึงทำการก่อสร้างในกรุงพนมเปญจนเต็มไปด้วยตึกระฟ้าหรูๆ เปลี่ยนแปลงให้สีหนุวิลล์ที่เป็นเมืองชายฝั่งทะเลให้กลายเป็นแหล่งรวมบ่อนคาสิโนจากจีนและกลายเป็นพื้นที่ๆ เต็มไปด้วยอาชญากรรม

ถึงแม้จะมีเบื้องหลังเหตุการณ์ในแบบดังกล่าว แต่ก็มีบางคนที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงมาสู่รุ่นใหม่ของพรรครัฐบาลกัมพูชาอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกด้วย

กองบรรณาธิการของสื่อวอชิงตันโพสต์ระบุไว้ในบทความแสดงความคิดเห็นของพวกเขาว่า "การสืบทอดอำนาจทางสายเลือดแบบราชวงศ์นั้น แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ถึงกระนั้นก็ตามการยกตำแหน่งให้ ฮุน มาเนต ก็ดูเหมือนจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวกัมพูชารู้สึกมีความหวังที่จะมีอนาคตที่เปิดกว้างมากกว่าและมีการกดขี่ปราบปรามน้อยกว่า"

ฮุน มาเนต เป็นคนที่เคยศึกษาต่อในประเทศสหรัฐฯ ที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ และที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ทำให้เขาดูเหมือนจะมีต้นทุนทางสังคมกับเหล่าบรรณาธิการสื่อในสหรัฐฯ อยู่บ้าง โดยที่สื่อเหล่านี้ระบุว่า ฮุน มาเนต และลูกหลานของกลุ่มผู้นำพรรครายอื่นๆ ที่กำลังจะเกษียณอายุ อาจจะกลายมาเป็นผู้คืนความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกได้ เทียบกับ ฮุน เซน ที่มีโวหารแบบต่อต้านอเมริกันและต่อต้านตะวันตก

แคทริน ทราวุยยอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองกัมพูชาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า มุมมองเช่นนี้เป็นเสมือนการที่ผู้คนมอง ฮุน มาเนต เป็น "ผืนผ้าใบเปล่าๆ" ที่พวกเขาจะฝากความหวังและความคาดหวังอะไรของตัวเองเอาไว้ก็ได้ ซึ่งมาเนตสามารถหาประโยชน์จากตรงนี้ได้ แต่มันก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับเขาด้วย

สำหรับประชาชนกัมพูชาที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออัลจาซีราต่างก็บอกว่าเขายังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะระบุได้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับ ฮุน มาเนต ส่วนหนึ่งเพราะมาเนตไม่ค่อยปรากฏตัวในโทรทัศน์มากเท่าพ่อของเขาด้วย

คัลยาน ไค อดีตสมาชิกพรรค CPP ชาวออสเตรเลีย-กัมพูชา ที่เคยทำงานร่วมกับ ฮุน มาเนต เมื่อปี 2557-2560 กล่าวว่าการเตรียมพร้อมให้ ฮุน มาเนต มารับตำแหน่งแทนพ่อของเขานั้นเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ไคทำงานให้กับมาเนต

ไคบอกว่าเธอสังเกตเห็นมาเนตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เคยเป็นคนเปิดกว้างรับฟังข้อเสนอของคนอื่น กลายเป็นคนที่ "เปิดรับน้อยลง" ต่อผู้คนรอบตัวเขา นอกจากนี้มาเนตยังเริ่มเลียนแบบท่าทางการปราศรัยและการพูดในแบบของพ่อตัวเองด้วย

ไคกล่าวว่าพวกเขาค่อยๆ ประกอบสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับ ฮุน มาเนต จนมันฝังอยู่ในตัวเขา และเมื่อผู้คนที่คาดหวังในตัวมาเนตสามารถควบคุมเขาได้แล้ว ผู้คนเหล่านี้ก็จะไม่อยากสูญเสียอำนาจไป

มาเนตต้องเผขิญกับอุปสรรคมากไปกว่าแค่การพิสูจน์ตัวเองต่อพรรครัฐบาลและต่อประชาชนกัมพูชา เพราะในตอนนี้กัมพูชามีปัญหาเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน มาเนตก็ต้องพยายามทำตัวให้ดูน่าเชื่อถือและรักษาความจงรักภักดีต่อพรรครัฐบาลกับกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม ซึ่งเป็นแค่หนึ่งในอุปสรรคเฉพาะหน้าที่มาเนตจะต้องเผชิญ

นอกจากนี้ในแง่ของการเป็นผู้นำคนใหม่แล้ว มาเนตยังขาดเรื่องราวการไต่เต้าสู่อำนาจของตัวเองด้วย

ฮุน เซน ผู้นำคนก่อนหน้านี้มีเรื่องราวที่เขามีการศึกษาน้อย และต่อมาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของทหารเขมรแดง ก่อนที่จะแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับเวียดนามแล้วก็หันมาช่วยโค่นล้มผู้นำเขมรแดงที่เคยเป็นเจ้านายของเขามาก่อนอย่าง พล พต ต่อมา ฮุน เซน ก็กลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุดในโลกภายใต้รัฐบาลที่ได้รับการจัดตั้งโดยเวียดนาม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ ฮุน เซน ดิ้นรนขวนขวายเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ โดยการกำจัดศัตรู ในขณะเดียวกันก็ได้รับเงินช่วยเหลือและเงินกู้ยืมหลายพันล้านจากชาติตะวันตก และในตอนนี้ก็หันมารับเงินจากจีนเพื่อใช้ในการสร้างชาติกัมพูชา

ทราวุยยอง บอกว่า ฮุน มาเนต ไม่สามารถอ้างใช้เรื่องเล่าในแบบของพ่อตัวเองที่สร้างตัวมาตั้งแต่ยังอยู่ในตำแหน่งเล็กๆ รวมถึง ฮุน เซน ยังสร้างคำอธิบายตัวเองว่าเขาเคยเสี่ยงภัยครั้งใหญ่ และกลายมาเป็นผู้ปกป้องสันติภาพในกัมพูชาในแบบของตนเองได้

ทราวุยยอง มองว่าการที่มาเนตไม่มีเรื่องเล่าแบบนี้จะสร้างข้อจำกัดให้ตัวเขาได้ในระยะยาว และมันก็จะมีเรื่องให้พูดถึงอยู่เสมอว่าเขา "ได้รับการคุ้มกะลาหัวจากพ่อของตัวเอง"

 

 

เรียบเรียงจาก

Cambodia parliament elects Hun Sen’s son, Hun Manet, as new PM, Aljazeera, 22-08-2023

https://www.aljazeera.com/news/2023/8/22/cambodian-parliamentarians-elect-hun-sens-son-hun-manet-as-new-pm

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net