Skip to main content
sharethis

ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จี้คอร์ส 'หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย' ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ช่องคอนเนคชั่น ส่อไม่เป็นกลาง ถามดูงานจริงหรือ

 

24 ส.ค.2566 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องสุริยัน สภาผู้แทนราษฎร สัปปายะสภาสถาน ระหว่างการอภิปรายรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2565 ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส. จ.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในรายละเอียดของรายงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า หลักสูตรการอบรมโดยวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญที่ชื่อว่า "หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย" หรือนธป. ที่ปัจจุบันเปิดมาได้ 11 รุ่นแล้ว นั้นถือหลักสูตรที่เปิดขึ้นมาโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยไปยังทุกองค์กรในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องว่า “สร้างความรู้คู่คอนเน็คชั่น” ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่สำหรับองค์กรที่ควรวางตัวเป็นกลางแต่สร้างหลักสูตรสร้างคอนเนคชั่น ขึ้นมา 

ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่ ส.ส.รังสิมันต์ โรมได้อภิปรายไว้เมื่อปี 2562 ว่ามีการให้ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจมาร่วมรุ่นเรียนกันกับศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นรุ่นแรกทำให้เกิดข้อกังขาว่า เมื่อมีหลักสูตรดังกล่าวจะส่งผลต่อการเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

สไลด์ประกอบคำอภิปราย

รุ่นหลังๆ มาตนพบว่าไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมานั่งเรียนแล้ว เข้าใจว่ามีการปรับปรุง น่าจะเบาใจได้มากขึ้น แต่เนื่องจากตนเป็นคนที่ชอบค้นหาอะไรที่น่าสนใจและเมื่อได้อ่านรายงานฉบับนี้ ที่เกี่ยวกับ นธป. รุ่นที่ 10 ซึ่งมีคนดังมาร่วมเรียนกันเป็นจำนวนมาก ถือเป็นหลักสูตรที่เชิดหน้าชูตา ปรากฏว่ามีรายงานเกี่ยวกับหลักสูตรนี้เพียงแค่หน้าเดียว จึงไปสืบหาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการรายงานที่น่าสนใจ คือการไปศึกษาดูงานจำนวน 2 ครั้ง โดยได้ยกตัวอย่างการศึกษาดูงานที่ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 1-8 กรกฎาคม 2565 ซึ่งพบว่าใน ขอบเขตการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) มีการกำหนดการของการดูงาน ในหลายวันและหลายช่วงเวลามีช่องว่างขาดหายไป ซึ่งตนก็เข้าใจว่าการดูงานตามหลักสูตรกำหนดไว้ว่าใช้เวลาแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น แต่มีการวางกำหนดการถึง 7 วัน ตนจึงได้หารายละเอียดเพิ่มเติมแล้วพบว่าในช่วงบ่ายมรการการรับประทานอาหารกลางวัน แล้วก็รับประทานอาหารเย็นเลย ไม่มีปรากฏว่าถึงรายละเอียดกิจกรรมอย่างอื่นในกำหนดการในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดว่าหายไปแล้วไปทำอะไร หายไปที่ไหน และได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำผู้เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าวไปเที่ยวกันหรือไม่

เมื่อเทียบข้อมูลกับหลักสูตรในรุ่นอื่นๆ ที่จะต้องไปดูงานในยุโรปเหมือนกันพบว่า นธป.รุ่น 11 ซึ่งมีบุคคลชื่อดังหลายท่าน เช่น ว่าที่ ผบตร. หรือนายแพทย์ที่เห็นเป็นประจำในช่วงโควิด ได้ไปดูงานที่ประเทศเบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์ก โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจตั้งแต่กำหนดการในการเช็คอินขึ้นเครื่องบิน ที่เคาน์เตอร์ A ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการเช็คอินเฉพาะชั้น 1 และชั้นธุรกิจ ด้วยงบดูงาน 2 ล้านกว่าบาท ค่าตั๋วเครื่องบินตกหัวละไม่เกิน 60,000 บาท มีความน่าสงสัยเนื่องจากราคาชั้นธุรกิจและชั้น 1 ราคาเป็นแสน นอกจากนี้ กำหนดการของ นธป. 11 ก็มีช่องว่าง เช่นทานอาหารเที่ยงแล้วก็ทานอาหารเย็นเลย ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าไปที่ไหนกัน และยิ่งไปกว่านั้น ตนก็ได้พบข้อมูลต่อว่าผู้ที่ร่วมเดินทางด้วย มีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชี้แจงในวันนี้ และยังมีรุ่นพี่ นธป. เดินทางไปด้วยนั่นคือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่โดนตั้งข้อสงสัยจากเป็นผู้เรียนหลักสูตรดังกล่าว กลายมาเป็นผู้ร่วมทัวร์ ซึ่งตอนแรกตนก็ดีใจว่าท่านไม่ได้เข้าเรียนด้วยจะได้ทำหน้าที่เป็นกลางอย่างแท้จริง  แต่ท่านกลายเป็นผู้นำทริปไปเอง อยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 วัน ด้วยงบหลวงที่ยุโรป และทราบว่าจะมีการบินไปศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ 

ชุติพงศ์ ได้ฝากคำถามผ่านประธานรัฐสภาฯ ไปยังผู้ชี้แจงว่า งบที่ใช้ไปศึกษาดูงานในหลักสูตรดังกล่าวเป็นงบหลวงทั้งหมดหรือไม่ มีงบอื่นหรือไม่ ได้ใช้งบรับรองหรือไม่ จากส่วนใด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้งบมาจัดหลักสูตรแบบนี้แล้ว ประชาชนจะหาความเป็นกลางและความโปร่งใสได้อย่างไร

นอกเหนือจากการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ชุติพงศ์ยังได้อภิปรายเกี่ยวข้องกับรายงานประจำปีของสำนักงานการตรวจการแผ่นดิน (สตง.) โดยได้กล่าวชื่นชม สตง.ต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและการกำกับตรวจสอบงบประมาณต่างๆเพื่อความโปร่งใส และอภิปรายข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำให้รายงานฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นในครั้งถัดไป ได้แก่ ประการที่ 1 เรื่องงบประมาณที่เรียกว่า “งบรับรอง” ที่สังคมให้ความสนใจกันอยู่ว่าเป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายแบบใดได้บ้าง แบบใดไม่ได้บ้าง โดยในรายงานฉบับนี้เขียนถึงงบรับรองไว้อยู่เหมือนกันแต่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้มากนัก คือ งบรับรองสื่อมวลชนในหน้า 184 เป็นงบการรายงานการเงินของหน่วยงานรัฐเรา 25 ล้านบาท โดยตนอยากให้ผู้ชี้แจงส่งมาให้รัฐสภารับทราบเพิ่มเติมว่า มีการใช้งบจากหน่วยงานใดบ้าง ใช้โดยใครบ้าง ใช้อะไรอย่างไรบ้าง 

ประการที่ 2 อยู่ในรายงานหน้า 315 ซึ่ง สตง. เองก็มีงบรับรองและงบพิธีการ ใช้แบบไหนอย่างไร กับใครบ้าง จากการเปรียบเทียบงบประมาณในปี 2564 กับ 2565 ทางสตง. มีงบประมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2 เท่า สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบรัฐบาลควรจะทำให้เกิดความโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานกับทางสังคมด้วยและตนได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากทางสตง. เพื่อให้สังคมทราบถึงรายละเอียดเนื่องจากเห็นเพียงแค่ตัวเลขแต่ไม่ได้รู้ถึงรายการต่างๆ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ สตง. และสังคมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net