Skip to main content
sharethis

‘ราชทัณฑ์’ แยกขัง ‘ทักษิณ’ โซนพิเศษ แดนพยาบาล แดน 7 สถานพยาบาลในเรือนจำ  โดยแยกคุมขังเพียงคนเดียว เหตุมีโรคประจำตัว-กลุ่มเปราะบาง โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด 24 ชม. คาดหากยื่นขออภัยโทษ ต้องใช้เวลา 1-2 เดือน

 

22 ส.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก 'The Reporters' รายงานวันนี้ (22 ส.ค.) สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ สิทธิ สุชีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งโต๊ะแถลงหลังส่งตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 

อายุตม์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย 3 ประการ ประการแรกดูเรื่องความปลอดภัยของนายทักษิณเป็นหลัก ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร น้ำดื่ม และการเข้าเยี่ยม ประการที่ 2 เนื่องจากนายทักษิณมีครอบครัว เพื่อน รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ  ทางเรือนจำเป็นต้องจัดสถานที่ให้เพียงต่อการเยี่ยม คงต้องอะลุ่มอล่วย ประการที่ 3 นายทักษิณเป็นผู้สูงอายุ อายุ 74 ปี เรือนจำจึงต้องดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บป่วย โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนายทักษิณ มีการทำประวัติ และตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แยกคุมขังไว้ที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำกรุงเทพมหานคร แยกขังเดี่ยว โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง   

สิทธิ กล่าวต่อว่า ทักษิณ เป็นกลุ่มเปราะบาง (กลุ่ม 608) อายุเกิน 60 ปี โดยผลการตรวจเบื้องต้นมีโรคประจำตัวที่ต้องเฝ้าระวังและรักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์เฉพาะทาง สำหรับมาตรการเยี่ยม เบื้องต้นตามมาตรการกักตัวจะต้องกักตัว 10 วัน โดย 5 วันแรกจะอยู่ในห้อง มีแต่ทนายความตามกฎหมายเท่านั้นที่จะพบได้ ส่วน 5 วันหลังจะเป็นการผ่อนปรน อนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน 'LINE'

สำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษ เบื้องต้นทางนายทักษิณและครอบครัวยังไม่ได้ยื่นเอกสาร แต่สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ ซึ่งเรือนจำพิจารณาส่งไปยังกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อลงนาม ซึ่งกรณีนี้จะเป็นการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายบุคคล โดยทั่วไปจะใช้กระบวนการไม่เกิน 1-2 เดือน หลังจากเรื่องออกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งความช้าจะอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมเอกสาร เนื่องจากมีเอกสารหลายอย่าง และต้องคัดคำพิพากษาของศาลมาประกอบด้วย 

นัสที ในฐานะผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทักษิณ จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนอื่น ทั้งอาหาร การทำกิจกรรมสิทธิในการพบทนาย ระเบียบการเยี่ยมญาติ ย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ทั้งนี้อาหารมื้อแรกนายทักษิณดื่มเพียงน้ำเปล่าและเบเกอรี่ ส่วนมื้อเย็นจะรับประทานข้าวต้ม และผัก เช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่น

นายแพทย์วัฒน์ชัย ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า ทักษิณ ต้องเฝ้าระวังโรคหัวใจและภาวะหัวใจขาดเลือด ทั้งยังมีปัญหาทางปอดจากโรคโควิด-19 ความดันโลหิตสูง ภาวะเสื่อมตามอายุ เช่น กระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ มีการกดทับเส้นประสาท ทำให้มีการปวดเรื้อรัง การเดิน ทรงตัวผิดปกติ นับเป็นกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด หากเจ็บป่วยสามารถเข้ารักษาได้ทันท่วงที

สำหรับการการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล จะมีระเบียบแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ 1.รีเฟอร์ อิน ต้องนำตัวผู้ต้องหาเข้าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลเครือข่ายราชทัณฑ์ 2. รีเฟอร์ เอ้าท์ ส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 3. รีเฟอร์ แอด จะส่งตัวผู้ต้องขังไปยังโรงพยาบาลในเครือกระทรวงสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลของรัฐ  โดยกรณีของทักษิณ อยู่ระหว่างการประเมินอาการป่วย เบื้องต้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงยังไม่มีการส่งต่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net